ตลาดส่งออกเวียดนาม กำลังเป็นที่น่าจับตามองมากกว่าที่เคย ด้วยจำนวนประชากรที่เข้าใกล้ 100 ล้านคน และเป็นประเทศแห่งผู้คนวัยหนุ่มสาวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนจีดีพีประเทศเติบโตถึง 7% สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าหรือเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามจึงต้องติดตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงจัดงานสัมมนา
“ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจเวียดนาม” เพื่อช่วยเตรียมความรู้ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ
เริ่มด้วยหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมาแล้ว 7 ปี
จริยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
เครือเซ็นทรัล บรรยายถึงข้อมูลเบื้องต้นของเวียดนามที่ทำให้ตลาดนี้มีความน่าสนใจว่า เวียดนามมีประชากรสูงถึง 97 ล้านคนและเติบโตต่อเนื่องทุกปี และ 55-60% ในจำนวนนั้นเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวในตลาดแรงงาน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพีโตถึง 7% ในปีที่ผ่านมา
จริยากล่าวว่า ปัจจุบันค่าเฉลี่ยจีดีพีต่อหัวของคนเวียดนามเติบโตขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้
ประชากรเวียดนามที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ผู้บริโภคจึงมีกำลังซื้อก้าวกระโดดขึ้น
การเติบโตที่รวดเร็วยังมาพร้อมกับนโยบายรัฐ โดยรัฐเน้นให้ทุกจังหวัดของเวียดนามทำแผนเพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งคาดว่าเวียดนามจะมีปริมาณชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 40% ของประเทศในอนาคต สำหรับตลาดเวียดนามปัจจุบันนี้มีหลายเมืองที่นับเป็นหัวเมืองโดยมีประชากรมากกว่า 3 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เซ็นทรัลมองภาพผู้บริโภคเวียดนามแยกตามภาค โดยพบว่าแต่ละภาคนั้นผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ภาคเหนือ ผู้บริโภคมี loyalty กับแบรนด์สูง แบรนด์ที่เข้าตลาดก่อนและทำได้ดี สามารถครองใจผู้บริโภคได้ จะมีโอกาสติดตลาดระยะยาว
- ภาคใต้ ตรงข้ามกับภาคเหนือ ผู้บริโภคชอบทดลองสิ่งใหม่ หากมีโปรโมชัน ใช้พรีเซ็นเตอร์ที่น่าสนใจ คนเวียดนามใต้ยินดีทดลองและหากมีปัจจัยที่ดีกว่าก็พร้อมเปลี่ยนแบรนด์ ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถเข้าไปชิงตลาดได้
- ภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรน้อยที่สุด คนเวียดนามกลางมีแนวโน้มคล้อยตามการโฆษณาสูง
“อย่างไรก็ตาม หายากมากที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะเป็นที่หนึ่งในตลาดทั้งประเทศ ส่วนใหญ่แล้วจะครองตลาดที่หนึ่งได้ในภาคนั้นๆ มากกว่า” จริยากล่าว
4 เทรนด์หลักตอบโจทย์คนเวียดนาม
จริยากล่าวต่อว่า ตลาดใหญ่ที่สุดของเวียดนามขณะนี้คือกลุ่มคนหนุ่มสาว Young Generation วัยรุ่นจนถึงครอบครัวใหม่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีเทรนด์ความต้องการที่น่าสนใจดังนี้
1.ความสะดวก หนุ่มสาวเวียดนามชอบความสะดวก รวดเร็ว ทำให้ขณะนี้ GrabFood ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารออนไลน์รายใหญ่กำลังเติบโตสูงมาก
2.ใส่ใจสุขอนามัย เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศเวียดนามมีปัญหาด้านสุขอนามัยบ่อยครั้ง ทำให้หนุ่มสาวใส่ใจเรื่องความสะอาดของสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก รวมถึงกระแสรักสุขภาพก็กำลังเกิดขึ้น ผู้บริโภคมีแนวโน้มสนใจมากขึ้นหากผลิตภัณฑ์นั้นๆ เกี่ยวข้องกับอาหารสุขภาพ เช่น ถั่ว สมุนไพร หรือเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์
3.เข้าถึงอินเทอร์เน็ต คนเวียดนามเกือบ 100% มีโทรศัพท์มือถือ และ 67% ในจำนวนนี้ใช้สมาร์ทโฟน คนเวียดนาม 70% ของประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ที่สำคัญคือ 96% ของประชากรมีบัญชี Facebook การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียจึงควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
4.คลื่นวัฒนธรรมต่างชาติ มุมมองของคนเวียดนามต่อสินค้าต่างชาตินั้นมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่พรีเมียมกว่า ซึ่งสินค้าที่พวกเขาให้ความสำคัญกับคุณภาพ ได้แก่
ขนม ผลิตภัณฑ์นม และสินค้าที่เกี่ยวกับความงาม อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ได้รับการยอมรับมากคือแบรนด์เกาหลีใต้ โดยเฉพาะสินค้าความงาม 50% นั้นนำเข้าจากเกาหลี
ซีพีแนะเทรนด์ร้านอาหารนอกบ้าน
ด้านอีกหนึ่งเครือธุรกิจไทยขนาดใหญ่ที่จับ ตลาดส่งออกเวียดนาม และมีการลงทุนมานาน 25 ปี ครบลูปตั้งแต่อาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ จนถึงอาหารแปรรูป อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์
วิชาญ ชำนาญยา ผู้แทนจาก
ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จึงขอจับจุดโฟกัสที่เรื่อง “การบริโภคอาหาร” ของคนเวียดนาม
วิชาญกล่าวว่า
คนเวียดนามมีกำลังซื้อมากขึ้นและชื่นชอบการรับประทานอาหารนอกบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มคนเมือง รวมถึงยังรับประทานอาหารถึง 7 มื้อต่อวัน นอกจากมื้อเช้า เที่ยง เย็นแล้ว พวกเขายังทานขนมมื้อสาย บ่าย และมื้อดึกกันอีกด้วย ทำให้เวียดนามมีร้านอาหารจำนวนมาก และมีกลุ่มร้านอาหารประเภทที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวเวียดนามซึ่งเป็นกำลังซื้อหลัก ได้แก่
กลุ่มร้านอาหารข้างทาง เป็นกลุ่มที่คนเวียดนามรับประทานมากที่สุด 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่คือ 81% รับประทานในวันธรรมดา เป็นร้านแบบดั้งเดิม เช่น ร้านเฝอ ร้านข้าวแกง ร้านกาแฟ ในสไตล์สตรีทฟู้ด ซึ่งคนเวียดนามรับประทานได้ทุกมื้ออาหาร
กลุ่มร้านสะดวกซื้อ คนเวียดนามมีการรับประทาน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ 65% รับประทานในวันธรรมดา เกิดจากชีวิตเร่งรีบของคนเมืองที่ไม่มีเวลาทำให้เลือกซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อ
กลุ่มร้านอาหารที่มีการตกแต่งสวยงาม กลุ่มนี้มีการรับประทาน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ 65% รับประทานในวันหยุด เป็นเหมือนสถานที่พบปะของหนุ่มสาว ปัจจุบันที่กำลังมาแรงคือร้านชาไข่มุกและร้านกาแฟในสวน
กลุ่มร้านฟู้ดคอร์ท มีการรับประทาน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 83% เกิดขึ้นในวันหยุด ฟู้ดคอร์ทเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ทำให้พ่อแม่จะพาบุตรหลานมารับประทานในวันหยุด
กลุ่มร้านฟาสต์ฟู้ด มีการรับประทาน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 57% เกิดขึ้นในวันหยุด เช่นเดียวกับฟู้ดคอร์ทคือเป็นร้านที่เด็กๆ ชื่นชอบ
ทั้งหมดนี้มีปัจจัยใหม่ที่กำลังมาแรงคือแอพฯ สั่งอาหารออนไลน์ที่ได้รับความนิยม แม้ว่าจะยังน้อยกว่าการรับประทานที่ร้านราว 10 เท่า แต่กำลังเติบโตดี โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารยามบ่าย เช่น ชาไข่มุก ฟาสต์ฟู้ด คนเวียดนามจะนิยมสั่งทางแอพฯ ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้กับนักธุรกิจไทยได้
วิชาญกล่าวปิดท้ายว่า ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารนอกบ้านแบบใด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ร้านมีที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ได้สะดวก สะอาด คุณภาพดี หากต้องการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ร้านควรจะตกแต่งสวยงาม และมีหลายเมนูในร้านเดียวซึ่งคนหนุ่มสาวกำลังนิยม ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการบอกปากต่อปากของผู้บริโภคเวียดนาม