ความฝันใหม่ของทีซีซี: “โฮเรก้า สแควร์” ล่าปลาตัวใหญ่ในบลูโอเชียน - Forbes Thailand

ความฝันใหม่ของทีซีซี: “โฮเรก้า สแควร์” ล่าปลาตัวใหญ่ในบลูโอเชียน

หนึ่งในรายได้หลักของเศรษฐกิจไทยมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 17% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยธุรกิจเกี่ยวเนื่องครึ่งหนึ่งในการท่องเที่ยวคือกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารซึ่งมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากโอกาสทางธุรกิจนี้ทำให้ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ เลือกจับจุดที่จะสามารถสร้างตลาดได้ โดยมุมที่ทีซีซีฯ มองเห็นคือ ธุรกิจโฮเรก้า (HoReCa: Hotel Restaurant and Café) ต้นน้ำของโรงแรม ร้านอาหาร และคาเฟ่ทั่วไทยและยังมองไกลไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียนที่ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มขยายตัว

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ กล่าวเปิดตัวโฮเรก้า สแควร์

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ในเครือทีซีซี แอสเซ็ทส์ เปิดเผยว่า มูลค่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมและที่พักของไทยเมื่อปี 2559 มีประมาณ 5.8 แสนล้านบาท และจากธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มประมาณ 4.48 แสนล้านบาท รวมเป็นมูลค่ารายได้ถึง 1.028 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากจำนวนโรงแรม ร้านอาหาร และร้านกาแฟที่เปิดตัวใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงกิจการเดิมที่ต้องมีการรีโนเวต จัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ใหม่ทุกๆ 5 ปี

ดังนั้นบริษัทจึงเกิดแนวคิดที่จะตั้ง โฮเรก้า สแควร์ (HORECA SQUARE) เป็นศูนย์ค้าส่งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโฮเรก้าทั้งหมด อาทิ เครื่องนอน ชุดยูนิฟอร์ม เครื่องครัว เครื่องชงกาแฟ อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ เน้นจับตลาดแบบ B2B สำหรับลูกค้าที่ต้องการสั่งสินค้าล็อตใหญ่ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทั้งเจ้าของธุรกิจทั่วประเทศไทยไปจนถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สามารถมาเลือกชมสินค้าในศูนย์เดียว

“เราเป็นศูนย์ค้าส่งที่เน้นลูกค้าระดับกลาง ถ้าเป็นโรงแรมก็ระดับ 2-4 ดาว เพราะโรงแรมระดับ 5 ดาวเรารู้ว่าเขามีฝ่ายจัดซื้อ มีคู่ค้าพันธมิตรอยู่แล้ว แต่ลูกค้าระดับกลาง เจ้าของคือคนที่จัดซื้อทุกอย่างเองและอาจไม่รู้จักซัพพลายเออร์มากนัก มองว่าเป็นการจับตลาดนิช มาร์เก็ต แต่เป็นตลาดขนาดเล็กที่มีปลาตัวใหญ่ ซึ่งถ้าเราสามารถจับตลาดนี้ได้ก่อน คนอื่นก็จะหาทางเข้ามาแข่งขันยาก” พงษ์ศักดิ์กล่าว

ด้าน ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด เปิดเผยว่า แผนระยะยาวของเอเชีย โฮเรก้า จะมีทั้งหมด 3 ส่วนธุรกิจ เริ่มต้นด้วย ส่วนแรกคือ โฮเรก้า สแควร์ พื้นที่ 1.2 หมื่นตร.ม. บนชั้น 3-5 ของตึกซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ (อาคารไซเบอร์เวิลด์เดิม) บนถนนรัชดาภิเษก ศูนย์นี้จะรวบรวมร้านค้าที่ได้รับคัดเลือกในกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ ว่ามีคุณภาพ เชื่อถือได้ มาเปิดสาขาภายในศูนย์ฯ มีห้องเรียน-สัมมนาฝึกทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับธุรกิจโฮเรก้าที่บริษัทจะเชิญวิทยากรหมุนเวียนกันมาให้ความรู้ รวมไปถึงมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาการเริ่มต้นธุรกิจโฮเรก้า คำนวณงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ส่วนที่สองที่เอเชีย โฮเรก้าจะทำคือ การจัดงานแสดงสินค้าและบริการ B2B สำหรับกลุ่มธุรกิจโฮเรก้า ทุกๆ 2 ปี โดยจัดครั้งแรกไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

ส่วนที่สาม เป็นส่วนสำคัญที่สุด คือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่จะเปิดตัวได้ภายในปี 2561 ตั้งเป้าเริ่มต้นคัดเลือกร้านค้าเข้ามาบริการในแพลตฟอร์ม market place ของเอเชีย โฮเรก้า ปีแรกราว 200 ร้านค้า และระยะยาวจะเพิ่มให้มากกว่า 1 พันร้านค้า

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด และ ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด 

ลัดดากล่าวว่า น้ำหนักของธุรกิจจะเน้นที่อีคอมเมิร์ซเป็นหลักราว 60% รองลงมาคือการบริหารศูนย์ โฮเรก้า สแควร์ 30% และการจัดงานแสดงสินค้า 10%

“เราอยากให้เอเชีย โฮเรก้าถูกจดจำในฐานะกูรูด้านโฮเรก้า เป็นศูนย์ให้องค์ความรู้ และมีสินค้าครอบคลุมครบถ้วน เพื่อเป็นฮับของโฮเรก้าในอาเซียนภายใน 3-5 ปี” ลัดดากล่าว

พงษ์ศักดิ์ ปิดท้ายว่า บริษัทได้ลงทุนรีโนเวตตึกซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ไป 350 ล้านบาท และตกแต่งส่วนโฮเรก้า สแควร์อีก 200 ล้านบาท ปัจจุบันมีร้านค้าเปิดขายแล้ว 14 ร้าน อัตราการเช่า 85% ของพื้นที่ แผนการช่วง 2 ปีแรกยังเป็นการปลุกปั้นคอนเซปท์ของศูนย์โฮเรก้าให้ติดตลาดก่อน ทำให้คิดอัตราค่าเช่าเพียง 600-700 บาท/ตร.ม. หรือคิดเป็นเปอร์เซนต์จากยอดขายจริงของแต่ละร้านเพื่อส่งเสริมให้ผู้เช่าเติบโตไปด้วยกัน ตั้งเป้าภายในปี 2565 จึงจะสามารถรับรายได้คุ้มต้นทุนโดยอาจปรับค่าเช่าพื้นที่เพิ่มเป็น 1 พันบาท/ตร.ม.

สำหรับการจะเป็นแหล่งขององค์ความรู้ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดสำหรับเอเชีย โฮเรก้า เพราะธุรกิจในมือตระกูลสิริวัฒนภักดีล้วนมีครบถ้วนในกลุ่มของโฮเรก้า อาทิ โออิชิกรุ๊ป ร้านเคเอฟซี โรงแรมหลายแห่ง ที่พร้อมจะเปิดประตูหลังบ้านให้เข้าชมการทำงาน

และอาจจะเป็นประตูบานสำคัญให้เหล่าซัพพลายเออร์เข้าถึงลูกค้ารายใหญ่คือเครือไทยเบฟเวอเรจก็เป็นได้!

 

ตัวอย่างร้านค้าภายในโฮเรก้า สแควร์

  • คลีนเนติค เทคโนโลยีการทำความสะอาด
  • โมดาส ฮอสปิทอลลิตี้ อุปกรณ์ด้านการบริการ
  • เคลมอง ดีไซน์ ผู้ผลิตชุดยูนิฟอร์ม
  • โฮมแมท ผู้ผลิตที่นอนและเครื่องนอน