Boetje Widjojo เล่าถึงการเดินทางของเขากับ Lamborghini รุ่นที่หายากสุดๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตอนเปิดตัวเมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา Lamborghini Miura เป็นยนตรกรรมที่โดดเด่นมีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติโลกรถสปอร์ตในยุคนั้นเลยทีเดียว มันเป็นซูเปอร์คาร์รุ่นแรกที่เป็นรถ 2 ที่นั่ง และวางเครื่องตามขวางอยู่ทางด้านหลัง ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานของรถประเภทสมรรถนะสูงทั่วโลก
ในเวลาต่อมา Yuswo Tirto Widjojo นักสะสมรถคลาสสิกชาวอินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเล่นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า Boetje เป็นเจ้าของรถ Lamborghini Miura S ปี 1971 ซึ่งเป็นหนึ่งในรถ Miura ที่มีอยู่แค่ 2 คันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Widjojo เป็นแฟนพันธุ์แท้แบรนด์วัวกระทิงตัวพ่อ ความหลงใหลในยานยนต์ของ Widjojo เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ชั้นมัธยมต้น โดยเขาชอบรถคลาสสิกมากกว่ารถรุ่นใหม่ๆ
“รถรุ่นใหม่ทุกวันนี้ดูเหมือนๆ กันไปหมด” Widjojo บอก “สมัยก่อน รถยนต์ไม่ได้ถูกออกแบบโดยเครื่องจักร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ออกแบบโดยมนุษย์ โดยศิลปินซึ่งทำให้ผลงานที่ออกมาดีกว่ากันมาก”
ในจำนวนรถ Miura ที่มีอยู่แค่ 2 คันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คันหนึ่งเป็นของนักสะสมชาวสิงคโปร์ซึ่งซื้อ Miura พวงมาลัยซ้ายและนำเข้ามาจากสหรัฐฯ ขณะที่คันของ Widjojo เป็น Miura เพียงคันเดียวที่ส่งตรงจากโรงงาน Lamborghini มาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประวัติของมันก็มีสีสันน่าสนใจไม่ใช่เล่น เจ้าของคนที่ 2 ขาย Miura คันนี้ไปให้กับดีลเลอร์ใน Jakarta ซึ่งต่อมาก็เสียมันไปให้กับบ่อนกาสิโน Copacabana 1 ใน 3 กาสิโนที่เปิดใน Jakarta ในทศวรรษที่ 1970 ก่อนที่อินโดนีเซียจะออกกฎหมายห้ามเล่นการพนัน
กาสิโนพยายามจะขายมันออกไป แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น มันจึงถูกนำไปเก็บเข้ากรุในโกดังตั้งแต่ปี 1978 รถ Miura คันนี้ไม่เคยได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันอีกเลยกระทั่ง Widjojo มาเจอมันเข้าในปี 1990 “ผมตกใจมากที่พบว่ามันคือ Miura” Widjojo บอก
เจ้าของเดิมของ Miura รู้ดีว่ามันเป็นรถที่พิเศษมากๆ และไม่อยากจะขายมัน แต่ Widjojo ก็ตื๊อไม่เลิกเหมือนกัน และในที่สุด เจ้าของก็ยอมตัดใจขายมันในปี 2008 หลังจากที่ป่วยหนักร่อแร่ ซึ่งสาเหตุที่เขายอมขายก็เพราะเป็นห่วงว่า ถ้าเขาตาย ลูกๆ อาจจะตีกันเพื่อแย่งสิทธิครอบครองรถคันนี้
แต่ถึงกระนั้น Widjojo ก็ยังต้องแข่งประมูลกับคู่แข่งอีก 2 คน และเจรจานานถึง 1 ปีกว่าจะได้มันมาเป็นสมบัติส่วนตัว Widjojo ไม่ยอมบอกว่าเขาทุ่มเงินไปเท่าไหร่เพื่อซื้อรถคันนี้ โดยบอกแต่เพียงนัยๆ ว่า “สำหรับรถเก่าคันหนึ่ง ต้องเรียกว่ามันแพงมากเลยทีเดียว”
ตอนที่เขาได้มันมา รถอยู่ในสภาพที่แย่มากและต้องยกเครื่องใหม่หมด เพราะโกดังที่เก็บรถ Miura เคยถูกน้ำท่วม พื้นรถจมอยู่ใต้น้ำ และเครื่องยนต์ก็ถูกน้ำเค็มกร่อนจนเป็นสนิม Widjojo พยายามจะฟื้นฟูสภาพมันที่อู่ในอินโดนีเซีย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจส่งมันไปบูรณะที่ Polo Storico ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพรถของ Lamborghini ที่อิตาลีเมื่อ 2 ปีก่อน
การบูรณะรถ Miura เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะห้องโดยสารตอนกลางและการออกแบบสไตล์โดมทำให้เสารถบอบบางมาก ทำให้อาจจะงอหรือเบี้ยวได้ง่าย อย่างไรก็ตาม รถของ Widjojo บูรณะไม่ยากนักเพราะมันอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โครงแชสซีก็ยังตรงดี ในขณะที่ตัวถังก็ไม่ถูกสนิมกินมากนัก
การฟื้นฟูสภาพอย่างสมบูรณ์แบบ
รถ Miura ของเขาถูกบูรณะจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มที่จากภายในจรดภายนอก สีเขียวสดใสไร้รอยขีดข่วน ทุกตารางนิ้วดูเหมือนใหม่ราวกับเพิ่งออกห้าง รวมถึงล้อแม็ก 15 นิ้ว และยาง Pirelli Cinturato ส่วนภายในก็มีการนำหนังแท้ที่เหมือนของเดิมเปี๊ยบมาตัดแต่งใหม่ ในขณะที่ระบบไฟฟ้าและกระจกไฟฟ้าก็ถูกบูรณะจนได้ตามมาตรฐานของรุ่น Miura S
นอกจากนี้ Widjojo ยังบอกอีกว่าแม้แต่ระบบแอร์ก็ยังใช้ของเดิมที่ติดตั้งโดย Gruppo Bertone ซึ่งเป็นบริษัทที่ตกแต่งภายในห้องโดยสารของรถ Miura ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ารถ Miura ของ Widjojo อยู่ในสภาพสมบูรณ์โดยไม่มีข้อบกพร่องใดๆ มันจึงถูกส่งไปให้เขาทดลองขับบนลูกทดสอบเฉพาะ “มันขับแล้วรู้สึกเหมือนเป็นรถใหม่ป้ายแดงเลยทีเดียว” Widjojo บอก
การบูรณะรถคลาสสิกเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน แต่ Widjojo ก็มองว่ามันเป็นงานอดิเรกที่เขารักที่สุด เขาบอกว่า การบูรณะรถเก่าหลายๆ คันของเขานั้น Miura ใช้งบมากที่สุด แต่มันก็คุ้มค่าเงินทุกรูเปียที่เขาจ่ายออกไป
“ความพึงพอใจที่ได้ให้ชีวิตใหม่กับรถเก่าคันหนึ่ง และทำให้มันอยู่ในสภาพสมบูรณ์ราวกับเพิ่งถอยออกมาจากห้าง เป็นความรู้สึกที่น่าทึ่งมาก” เขาบอก
เรื่อง: Yessar Rosendar เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยาคลิกอ่านฉบับเต็ม “กระทิงเปลี่ยวในตำนาน” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine