Land Rover และการกลับมาอีกครั้งของการเดินทางจากยุโรปถึงเอเชีย - Forbes Thailand

Land Rover และการกลับมาอีกครั้งของการเดินทางจากยุโรปถึงเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Mar 2020 | 10:00 AM
READ 6744

การเดินทางโดยใช้เส้นทางบกจากยุโรปถึงเอเชียครั้งประวัติศาสตร์ฟื้นคืนชีพรถ Land Rover และเหล่าคณะอีกครั้ง

รถ Land Rover Series I รุ่นปี 1955 คันเก่าจอดกลางแสงแดดที่แผดจ้าจากดวงอาทิตย์ยามเช้าของสิงคโปร์ ตัวถังสีน้ำเงินสีถลอกและซีดจาง แต่คำว่า “Oxford & Cambridge Far Eastern Expedition” ยังเด่นชัดอยู่ข้างประตูรถ ซึ่งจอดอยู่ใกล้เส้นออกสตาร์ทข้างอาคาร Pit Building สำหรับการแข่งรถ F1 ที่สิงคโปร์

รถคันนี้มีชื่อเล่นว่าแม่สาวใหญ่” (old girl) เป็น 1 ใน 2 คันดั้งเดิมที่เคยวิ่งจาก London ถึงสิงคโปร์ในการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ First Overland (เส้นทางบกครั้งแรก) เมื่อปี 1955-56 การเดินทางครั้งนั้นมีชื่อทางการว่า Oxford and Cambridge Far Eastern Expedition เป็นการเดินทางโดยใช้เส้นทางบกระยะทางยาวที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยุคนั้น

การเดินทางครั้งนั้นกินเวลาประมาณ 6 เดือน โดยใช้เวลาไม่น้อยไปกับการเดินทางผ่านภูมิประเทศที่ขรุขระ วิ่งบนถนนตะปุ่มตะป่ำ แล่นฝ่าไอร้อนบนเส้นทางข้ามทะเลทรายในอิรัก หรือบุกป่าทึบในไทย มันเป็นการเดินทางที่ถูกจารึกไว้ชั่วนิรันดร์ทั้งในงานเขียนและในรายการโทรทัศน์ของ BBC (ชมคลิปรายการได้ใน YouTube)

คนที่ยืนข้างแม่สาวใหญ่คือ Patrick Murphy วัย 88 ปี และ Nigel Newbery วัย 86 ปี ซึ่งเป็น 2 ใน 3 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จากสมาชิกคณะดั้งเดิมทั้งหมด 6 คนที่ขับรถ 2 คันไปบนเส้นทางบกสายดังกล่าว (ส่วนรถคันที่ 2 ตามหาไม่พบ)

ทั้งสองคนเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันออกเดินทางของคณะ Last Overland (เส้นทางบกครั้งสุดท้าย) การเดินทางนี้จะขับย้อนรอยเส้นทางเดิม 16,000 กิโลเมตร จากสิงคโปร์ถึง London แต่มีเรื่องเศร้าคือ Tim Slessor วัย 87 ปี สมาชิกคนที่ 3 และคนสุดท้ายในคณะดั้งเดิม ซึ่งไปสิงคโปร์เพื่อจะร่วมเดินทางไปด้วย เกิดป่วยมากเกินกว่าจะเข้าร่วมเดินทางได้ในช่วงไม่นานก่อนปล่อยรถ

หนึ่งในคณะผู้จัดและผู้ร่วมเดินทางคือ นักสร้างภาพยนตร์ที่อาศัยอยู่ในเมียนมา ชื่อ Alex Bescoby ซึ่งเขาเป็นผู้ถ่ายทำสารคดีระหว่างการเดินทางครั้งนี้ด้วย ศิษย์เก่า Cambridge ชาวอังกฤษวัย 31 ปีคนนี้กล่าวว่า เป้าหมายคือ การเดินทางให้ถึง London ภายใน 100 วัน ซึ่งเป็นเวลาประมาณครึ่งหนึ่งของการเดินทาง First Overland

การเดินทางครั้งแรก First Overland

คณะเดิมเขาเรื่อยเปื่อยมาก” Bescoby กล่าวพวกเขาใช้เวลาเต็มที่ตอนเดินทางผ่านสถานที่อย่างซีเรียและอิรัก แวะเล่นสกีน้ำที่เลบานอน และชมทิวทัศน์ที่เนปาล

ถึงกระนั้น Slessor ก็เล่าว่า การเดินทางครั้งนั้นมีอะไรมากกว่าการเที่ยวสนุกผมจำได้ว่ามีหลายครั้งที่แวะแป๊บเดียวก็ต้องรีบไปต่อ” Slessor เล่าเมื่อให้สัมภาษณ์กับ Forbes Asia ที่สิงคโปร์ก่อนเขาจะล้มป่วย รถทั้งสองคันพาพวกเขาหลบเลี่ยงอุปสรรคอย่างกลุ่มกองโจรในเมียนมา ข้ามสะพานเสี่ยงตาย และข้ามแม่น้ำมาได้

ภาพจากสารคดีของ BBC แสดงให้เห็นสะพานแขวนแคบๆ ในชนบทของอินเดียที่เกือบขาดเพราะน้ำหนักรถคันหนึ่งขณะกำลังขับข้ามไป Slessor เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้นชื่อ First Overland: London-Singapore by Land Rover (เส้นทางบกครั้งแรกจาก London ถึงสิงคโปร์ด้วย Land Rover) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1957

หลายปีให้หลัง มีคนติดต่อ Slessor มาหลายครั้งว่า พบเห็นรถ 1 ใน 2 คันที่ฟาร์มบนเกาะ Ascension และ St. Helena อันห่างไกลกลางมหาสมุทรแอตแลนติกมีหลายคนโทรมาหาผมและแนะนำว่าให้เราไปเอารถกลับมา แต่ผมคิดแค่โชคดีแล้วกันนะ!’ จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อหนุ่ม Yorkshire ที่เพี้ยนจนน่าทึ่งคนนั้นก็เอาจริงจนได้

หนุ่ม Yorkshire คนนั้นคือ Adam Bennett ซึ่งไปพบรถคันนี้ในสภาพทรุดโทรมและถูกใช้แทนเล้าไก่ เขาส่งรถกลับมาที่เกาะอังกฤษ เมื่อปี 2017 และตั้งใจจะซ่อมให้มันคืนชีพอีกครั้ง

Tim Slessor

Bennett อยากให้รถวิ่งได้ แต่ก็อยากเก็บตัวถังที่กรำแดดฝนจนมีสนิมเขียวขึ้นไว้เหมือนเดิม เขาจึงมาปรึกษากับ Slessor เพื่อจะบูรณะรถโดยคงสภาพเดิมไว้มากที่สุด และหลังจาก Bescoby ได้ยินเรื่องการบูรณะรถคันนี้ เขาก็ติดต่อ Slessor เพื่อปรึกษาเรื่องความเป็นไปได้ที่จะใช้รถปี 1955 ซึ่งฟื้นคืนชีพมาใหม่คันนี้ขับย้อนรอยเส้นทาง First Overland

Slessor ตะครุบโอกาสย้อนความทรงจำการผจญภัยวัยหนุ่มทันที เขากับ Bescoby ใช้เวลา 18 เดือนต่อมาเพื่อวางแผนการเดินทางครั้งใหม่ และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดเส้นทางเช่นเดียวกับเมื่อปี 1955

ยุคนั้นสงครามเย็นกำลังตึงเครียด เราไม่มีทางได้รับอนุญาตให้วิ่งผ่านสหภาพโซเวียตกับจีนแน่นอน เส้นทางที่เป็นไปได้มากกว่าจึงเป็นการขับผ่านตะวันออกกลาง ซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน” Slessor เล่า

เรื่องตลกก็คือ เส้นทางที่เราเคยวิ่ง (เมื่อปี 1955) ทุกวันนี้เข้าไปไม่ได้แล้ว แต่เส้นทางที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้อย่างรัสเซียกับจีนน่ะ... เอ่อ ผมก็ไม่กล้าพูดว่าเขาจะเต็มใจต้อนรับเราเสียทีเดียว แต่ก็ขับผ่านได้แล้ว

คณะ Last Overland ประกอบด้วยแม่สาวใหญ่และรถ Land Rover ใหม่อีก 2 คัน คณะนี้จะขับผ่านกว่า 20 ประเทศเพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ Royal Automobile Club ใน London โดยคาดว่าจะถึงจุดหมายภายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ตอนนี้คณะเดินทางผ่านมาเลเซียและไทยไปแล้วอย่างปลอดภัย ฝ่าลมมรสุมในเมียนมา และขณะที่ Forbes Asia ตีพิมพ์เรื่องนี้ (เดือนตุลาคมที่ผ่านมา) พวกเขาก็คงอยู่ที่ใดที่หนึ่งในเนปาล

คณะ Last Overland แวะพักผ่อนช่วงสั้นๆ ที่เมือง Bagan ในเมียนมา

เมื่อ Slessor ล้มป่วย Nat George หลานชายวัย 21 ปีของเขาตกลงเข้าร่วมการเดินทางนี้แทนโดยไม่ต้องคิดนาน Bescoby เล่าว่าจุดหักมุมที่น่ารักคือหลานชายของ Tim อาสาจะเดินทางและถือคบเพลิงแทนคุณตา” George ถือเป็นตัวแทนที่เหมาะสม เพราะเขาอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณตาเมื่อปี 1955

"แม่สาวใหญ่" แล่นผ่าน National Gallery ของสิงคโปร์

และถึงแม้ Slessor จะร่วมเดินทางไปด้วยไม่ได้ เขาก็ดีใจที่หลานชายได้มีโอกาสไปแทน เขาแนะนำ George ว่าปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมทางแล้วก็เดินทางให้สนุก และอย่าไปทำอะไรงี่เง่า แต่มันก็บอกยากนะว่าเรื่องไหนคือเรื่องงี่เง่า

แม้การเดินทางดั้งเดิมจะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ Slessor กล่าวว่าที่จริงมันก็ค่อนข้างตรงไปตรงมาซึ่ง George พูดติดตลกว่าขอให้ทริปนี้ก็เหมือนกันเถอะ

    เรื่อง: Christian Barker เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกอ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine