หมอยาแห่งเมืองปราจีนบุรี ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ปลุกปั้น “อภัยภูเบศร” เขย่าวงการแพทย์ไทย ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างตำรับยาจากสมุนไพรหลายพันชนิด พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ผู้นำด้านการแพทย์แผนไทยในอาเซียน
ภาพของเภสัชกรหญิงในชุดทะมัดทะแมงกำลังลงพื้นที่ป่าเพื่อศึกษาเรื่องสมุนไพรกับหมอชาวบ้านกลายเป็นภาพคุ้นตาของชาวปราจีนบุรีตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และเลือกเริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งหัวหน้างานผลิตยาทั่วไปและยาปราศจากเชื้อที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเมื่อปี 2526 ท่ามกลางผลิตภัณฑ์แพทย์แผนไทยจำนวนมากที่วางขายในร้านประสานสุขโอสถ ฟิวเจอร์มาร์ท บนถนน พระราม 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่ของอภัยภูเบศร ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกร 9 หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังคงระลึกถึงวันแรกที่เริ่มต้นเส้นทางว่า “เรามีความสุขที่ได้เรียนรู้ เรามองเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์พืชพรรณของหมอยาพื้นบ้าน ตอนนั้นความรู้สึกเหมือนออกจากกะลา และเริ่มมีความคิดว่า ทำไมประเทศไทยต้องนำเข้ายาแผนปัจจุบันจำนวนเงิน 130,000-160,000 ล้านบาทในแต่ละปี ทำไมโรคง่ายๆ เราไม่ทำยาของเราขึ้นมาเอง” ความคิดดังกล่าวสร้างแรงบันดาลใจให้กับ ดร.สุภาภรณ์ เธอจึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับหมอชาวบ้านตั้งแต่ปีแรกของการทำงาน กระทั่งทุกวันนี้ในวัย 54 ปี เธอยังคงแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเดินทางเลาะเลียบตามแนวตะเข็บชายแดน เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในป่า และแสวงหาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรเพิ่มเติมจากหมอยาในเครือข่ายทั่วประเทศราว 12 คน “สมัยเราจบใหม่ บางทีไม่มีเงินทอง หมอยาเหล่านี้ก็หาข้าวให้ทาน เราได้พบหมอยาทั้งตัวจริงและไม่จริง ถ้าเจอหมอที่ใช่ เราจะเล่าให้เขาฟังว่ากำลังทำอะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ต้องการรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ มีตำราหลายเล่มที่หมอยาเก็บไว้ไม่ให้คนในหมู่บ้านดู แต่กลับนำมาให้เราดู เพราะเขามองเราเหมือนศิษย์”ดร.สุภาภรณ์ บอกเล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจในอดีต ความสำเร็จแรกที่ทำให้ ดร.สุภาภรณ์ มีกำลังใจศึกษาและพัฒนาสมุนไพรอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นในปี 2529 เมื่อความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยด้านสมุนไพรกลายเป็นยาตำรับแรก “กลีเซอรีนเสลดพังพอนตัวเมีย” สำหรับรักษาโรคเริมในปากเด็ก โดยถูกนำมาใช้ภายในโรงพยาบาลแทนยาต่างประเทศ และยังเป็นครั้งแรกของการผลิตสมุนไพรด้วยกรรมวิธีแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ก่อนที่อภัยภูเบศรจะผลิตสมุนไพรอื่นๆ ตามมา ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอภัยภูเบศรเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อยาสมุนไพรไทยที่ถูกใช้ภายในโรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อทดแทนยาต่างประเทศราคาแพง สามารถผงาดขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ยาแพทย์แผนไทยที่มีการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ จากการสนับสนุนอย่างดีจาก นายแพทย์เปรม ชินวัฒนานนท์ ที่เป็นแรงหนุนสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มตัวในฐานะนิติบุคคลในปี 2545 เพื่อวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อภัยภูเบศรอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิ ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของอภัยภูเบศร แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ ด้านงานการบริการของอภัยภูเบศร ประกอบด้วย ร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ งานบริการนวดไทยอภัยภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชน ศูนย์สารสนเทศสมุนไพร (Call Center) สิ่งปฎิบัติที่สำคัญอีกสิ่งที่เกิดควบคู่กับการเติบโตของ อภัยถูเบศร คือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) อภัยภูเบศร นับเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ชัดเจนในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างกำไร การมุ่งสร้างสรรค์สังคม และการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม กระทั่งได้รับการยอมรับในระดับสากลโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป “หลายคนมองว่า เรามีชื่อเสียงขนาดนี้น่าจะขายได้เป็นพันล้านแล้ว แต่เราพอใจแค่นี้ เพียงมีเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามพื้นฐานที่มีอยู่ เรามองอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาล ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยสามารถใช้ได้ ดังนั้น ทุกคนเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เรามีปรัชญาพื้นฐานว่า ต้องทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีประโยชน์จริง และทำเพื่อชุมชน เราไม่ทำผลิตภัณฑ์ตามกระแสถ้าไม่มั่นใจ” ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในวันนี้ของอภัยภูเบศรอยู่ในระดับประมาณ 300 กว่าล้านบาท ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวเลขที่สวยหรูเมื่อเทียบกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการเดินทางมาได้ไกลกว่าสมุนไพรไทยหลายแบรนด์ในตลาด หากแต่ Social Enterprise ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ทางสังคมและประเทศมากกว่าตัวเลขรายได้ ก้าวต่อไปของอภัยภูเบศร คือการปั้น อภัยภูเบศรเวชนครให้เป็นผู้นำด้านการแพทย์แผนไทย (การแพทย์ดั้งเดิม) ในอาเซียน รวมไปถึงโครงการยักษ์ใหญ่ “อภัยภูเบศรเวชนคร เฮลท์คอมเพล็กซ์ เขาใหญ่” บนพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ ประกอบด้วย สวนสมุนไพร ASEAN ที่รวบรวมพันธุ์สมุนไพรอย่างน้อย 2,000 ชนิดคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "มนต์ใบไม้ “อภัยภูเบศร” พลิกตำรายาแพทย์แผนไทย" ได้ที่ Fobes Thailandฉบับ AUGUEST 2015