เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งได้เริ่มชะลอตัวแล้วจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บุคคลร่ำรวยที่สุดจากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2020 มีทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลดลงถึงร้อยละ 18 เหลือเพียง 1.32 แสนล้านเหรียญ
ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังทรุดหนักโดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบจากเดือนเมษายน 2019 เป็นผลให้ มหาเศรษฐีไทย 38 คนในทำเนียบมีทรัพย์สินสุทธิลดลง ในจำนวนนี้มี 6 คนที่ความมั่งคั่งลดลงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง แม้ว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะลดลง 2.2 พันล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านเหรียญ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านเหรียญได้สำเร็จ
เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่าง Red Bull ร่วมกับตระกูลของเขา มาในอันดับที่ 2 เขาเป็นหนึ่งในแปดผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมจะย่ำแย่ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปีก่อน เป็น 2.02 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้
เจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ขยับขึ้นมาในอันดับที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 1.62 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา
ตระกูลจิราธิวัฒน์ หล่นจากอันดับ 2 มาอยู่ในอันดับ 4 ในปีนี้ ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งไปอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญ พวกเขาเพิ่งนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและนักช็อปที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ต่ำกว่าราคาไอพีโอถึงร้อยละ 27 โดยตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าการซื้อขาย
ผู้ที่มีทรัพย์สินลดฮวบอีกคนคือ Aloke Lohia (อันดับ 26) มหาเศรษฐีชาวอินเดียโดยกำเนิด เจ้าพ่อธุรกิจปิโตรเคมีผู้ที่ง่วนอยู่กับการเข้าซื้อกิจการมากมาย ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 2.52 พันล้านเหรียญในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.09 พันล้านเหรียญ เมื่อราคาหุ้นบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส ของเขาดิ่งลงถึงร้อยละ 57 ในช่วง 11 เดือนผ่านมา
แม้ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะประสบภาวะตกต่ำครั้งรุนแรง มหาเศรษฐีจากวงการพลังงานของไทย 3 ใน 4 คนกลับมีทรัพย์สินงอกเงย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาพุ่งความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการหันไปหาเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น
ในจำนวนนี้มี สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ที่ทำเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.8 พันล้านเหรียญ พุ่งขึ้น 1.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเขาเปิดโรงพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ตลอดจนเข้าดำเนินการโครงการใหม่ๆ อาทิ ท่าเรือ และถนน
Harald Link (อันดับที่ 12 ทรัพย์สิน 2.3 พันล้านเหรียญ) หัวเรือใหญ่รุ่นที่สามของ บี.กริม มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่ บี.กริม เพาเวอร์เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกร้อยละ 40 และกำไรของบริษัทกระโดดขึ้นร้อยละ 34 ในปีที่ผ่านมา ภาคพลังงานที่คึกคักได้พามหาเศรษฐี 2 คนเข้าสู่ทำเนียบเป็นครั้งแรกในปีนี้ อีกหนึ่งได้แก่ วิระชัย ทรงเมตตา (อันดับ 40 ทรัพย์สิน 585 ล้านเหรียญ) ผู้ที่เข้าทำเนียบครั้งแรกหลังจากบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ผู้ผลิตพลังไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ (อันดับ 38 ทรัพย์สิน 610 ล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้งเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ที่เป็นบริษัทมหาชน กลับเข้าสู่ทำเนียบหลังจากห่างหายไปสามปี อันเป็นผลจากการที่บริษัทเปิดโรงพยาบาลใหม่อีกสองแห่ง ช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัทให้ทะยานขึ้น
ปีนี้ Forbes กำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบที่ 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 565 ล้านเหรียญ ในปี 2019
รายชื่อตระกูลและอภิมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทย
อันดับ 1:พี่น้องเจียรวนนท์ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: เครือเจริญโภคภัณฑ์
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.73 หมื่นล้านเหรียญ / 8.92 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 2:
เฉลิม อยู่วิทยา (ขึ้นจากอันดับ 3)
แหล่งที่มา: กระทิงแดง
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.02 หมื่นล้านเหรียญ / 6.6 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 3:
เจริญ สิริวัฒนภักดี (ขึ้นจากอันดับ 4)
แหล่งที่มา: ไทยเบฟเวอเรจ
มูลค่าทรัพย์สิน: 1.05 หมื่นล้านเหรียญ / 3.43 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 4:
ตระกูลจิราธิวัฒน์ (ลงจากอันดับ 2)
แหล่งที่มา: กลุ่มเซ็นทรัล
มูลค่าทรัพย์สิน: 9.5 พันล้านเหรียญ / 3.1 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 5:
สารัชถ์ รัตนาวะดี (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.8 พันล้านเหรียญ / 2.22 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 6:
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: คิง เพาเวอร์
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.8 พันล้านเหรียญ / 1.24 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 7:
ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (ขึ้นจากอันดับ 24)
แหล่งที่มา: ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย)
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.1 พันล้านเหรียญ / 1.01 แสนล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 8:
ตระกูลโอสถานุเคราะห์ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: โอสถสภา
มูลค่าทรัพย์สิน: 3 พันล้านเหรียญ / 9.8 หมื่นล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินคงที่)
อันดับ 9:
วานิช ไชยวรรณ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: ไทยประกันชีวิต
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.8 พันล้านเหรียญ / 9.15 หมื่นล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 10:
ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ (ขึ้นจากอันดับ 13)
แหล่งที่มา: เมืองไทย แคปปิตอล
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.65 พันล้านเหรียญ / 8.66 หมื่นล้านบาท (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
*การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง อันดับนี้ต่างจากอันดับอภิมหาเศรษฐีตรงที่มีการรวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนเป็นการคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 มีนาคม ทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
**การคำนวณทรัพย์สินจากเหรียญสหรัฐฯ มาเป็นสกุลเงินไทย ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 32.663 บาทต่อเหรียญ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563
- คลิกอ่านการจัดอันดับปี 2019 การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2562