Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หลุดปากเผยความลับออกมาว่า ธนาคารกลางสหรัฐเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะสู้กับเงินเฟ้อคือ การจงใจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้น จึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย
แต่สาเหตุที่แท้จริงของเงินเฟ้อคือ มีการสร้างเงินขึ้นมามากเกินไป เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือต้องสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง Fed ก็ได้ทำเช่นนั้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 จนถึงปลายทศวรรษที่ 90 โดย Alan Greenspan ประธาน Fed ในสมัยนั้นผูกค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เอาไว้กับทองคำแบบหลวมๆ อย่างเปิดเผย ซึ่งมีการเรียกช่วงเวลานั้นว่าเป็นยุคของ “great moderation” แต่น่าเสียดายที่ต่อมา Greenspan หันเหออกจากแนวทางนั้น โดยปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น และหันหลังกลับแบบ 180 องศาด้วยการปล่อยให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่หายนะจากฟองสบู่ในภาคที่อยู่อาศัย และวิกฤตการเงินในปี 2007-2009 ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น Fed ไม่ควรจะไปยุ่งกับมันเลย เพราะราคาของการ “เช่า” เงินควรจะปล่อยให้เป็นไปตามตลาดอย่างเสรีตามแต่เจ้าหนี้กับลูกหนี้จะตกลงกัน- ปัญหาไฟฟ้าดับในฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ -
บริษัทไฟฟ้าหลายแห่งพากันออกมาเตือนว่า ในช่วงฤดูร้อนปีนี้อาจจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับอย่างรุนแรงในหลายส่วนของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งวิกฤตการณ์ด้านพลังงานรอบนี้ไม่ได้เกิดจากการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมาย แต่เกิดจากการออกแบบและดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่รัฐบาลกำหนดให้บริษัทผลิตไฟฟ้าต้องใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะการนำพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้น จึงมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและก๊าซหลายแห่งที่ปิดตัวลงไป ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งถูกเลิกใช้งาน หรืออยู่ในขั้นตอนของการเตรียมเลิกใช้งาน โดยที่ยังหาแหล่งพลังงานที่จะมาทดแทนได้ไม่ทันปัญหามันอยู่ตรงที่เทคโนโลยีของพลังงานทางเลือกมีราคาแพงและแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของเราได้มากพอ ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนบอกว่า พวกเขาต้องต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่เคยได้พิจารณาดูไหมว่าการผลิตพลังงานเพื่อมาทดแทนแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงกับสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าจะต้องมีการทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นอีก 1,000% เพื่อให้ได้แร่ธาตุที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งการขุดที่ดินนับล้านเอเคอร์เพื่อแร่ธาตุเหล่านี้จะก่อให้เกิดต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ในทำนองกลับกันโรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจะมีขนาดเท่ากับบ้านพักอาศัยปกติ 1 หลังเท่านั้น แต่สามารถจ่ายไฟเพื่อเลี้ยงผู้คนได้ถึง 75,000 หลังคาเรือน อย่างที่ Mark Mills ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและคนอื่นๆ เคยบอกเอาไว้ว่า การจะผลิตไฟฟ้าให้ได้จำนวนเท่านั้นโดยอาศัยพลังงานลมเพียงอย่างเดียวจะต้องใช้พื้นที่ 10 ตารางไมล์ กังหันลม 20 ต้น ซึ่งแต่ละต้นมีขนาดเท่ากับอนุสาวรีย์วอชิงตันที่ต้องใช้คอนครีตหนัก 50,000 ตัน แร่เหล็ก 30,000 ตัน และพลาสติกประเภทที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้อีก 900 ตัน เพื่อผลิตใบพัดของกังหัน นอกจากนี้ ในการกักเก็บไฟฟ้าเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องใช้แบตเตอรี่ระดับเดียวกับที่ Tesla ใช้รวม 10,000 ตัน ซึ่งหากนำทุกสิ่งที่ต้องใช้ในโครงการดังกล่าวมาคูณสักสองสามพันเท่า เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ต้นทุนมันแพงแบบที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงแน่นอน หรือหากเราจะหันมาดูทางด้านของต้นทุนกันบ้าง จะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัฐบาลประเทศต่างๆ ทุ่มเงินลงไปถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกเหล่านี้ แต่ปริมาณการใช้พลังงานที่ผลิตจากฟอสซิลทั่วโลกลดลงจาก 86% เหลือ 84% เงินตั้ง 5 ล้านล้านเหรียญเพื่อแลกกับแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ลองคิดดูสิว่าเงิน 5 ล้านล้านเหรียญจะทำอะไรได้มากแค่ไหน ถ้ามันถูกนำไปใช้ต่อสู้กับโรคร้าย ผลิตอาหารเพิ่ม และผลิตน้ำสะอาดในอีกหลายส่วนของโลกที่ยังต้องการน้ำสะอาดเป็นอย่างมากอยู่ อย่างไรก็ตามภายใต้แรงกดดันทางการเมืองที่เข้มข้น บริษัทไฟฟ้าอเมริกันจึงต้องเตรียมเงินทุนมหาศาลไว้สำหรับโครงการพลังงานทางเลือกที่ต้นทุนแสนแพงและจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงกับสิ่งแวดล้อม ความจริงก็คือ ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาดอย่างที่ชาวยุโรปที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทราบดี และพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในด้านของการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในชั้นบรรยากาศ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตรวจสอบแบบไม่ใช้อารมณ์ว่า เราจะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของเราอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร- ความได้เปรียบด้านพลังงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสหรัฐฯ -
เมื่อพูดถึงการผลิตพลังงานในปริมาณมากให้ได้อย่างยั่งยืน สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบข้อใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญกันนักนั่นคือ ในประเทศสหรัฐฯ บุคคลธรรมดาและบริษัทเอกชนมีสิทธิ์ครอบครองแร่ธาตุ ที่อยู่ใต้ดิน ในประเทศอื่นๆ ผู้คนสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่รัฐบาลจะควบคุมแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ทองแดง ทองคำ เงิน ฯลฯ ที่อยู่ใต้ชั้นดินอย่างเข้มงวด ต่อให้คุณค้นพบน้ำมันในสวนหลังบ้านของคุณ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองมัน เพราะมันเป็นของรัฐบาล ประเด็นนี้มีนัยสำคัญซึ่งมักจะถูกมองข้ามไป การที่เอกชนมีสิทธิ์เหนือแร่ธาตุใต้ดินในสหรัฐฯ หมายความว่าบุคคลธรรมดาและบริษัทเอกชนมีแรงจูงใจอย่างมากที่จะสำรวจแหล่งแร่ต่างๆ เพราะพวกเขาสามารถทำกำไรได้จากการค้นพบ พัฒนา และสกัดทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ในสหรัฐฯ มีทั้งบริษัทน้ำมันและก๊าซระดับแนวหน้า และยังมีธุรกิจสำรวจปิโตรเลียมที่มีขนาดใหญ่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งผู้ประกอบการอิสระเหล่านี้มักจะมีความกระตือรือร้นและแคล่วคล่องว่องไวมากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งนี้ในบางพื้นที่ของประเทศซึ่งสภาพทางธรณีวิทยาเอื้ออำนวย เจ้าของที่ดินเอกชนเปิดให้มีการสำรวจทรัพากรที่อยู่ใต้ผืนดินของพวกเขา หรือขายสิทธิ์ในการเช่าให้กับผู้อื่น ซึ่งในกรณีนั้นหากพบน้ำมันเจ้าของก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าภาคหลวงด้วย สิทธิของบุคคลในแง่นี้ทำให้มีการสำรวจเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง สภาพทางธรณีวิทยาในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ไม่ได้แตกต่างไปจากพื้นที่ซึ่งติดกับพรมแดนของเม็กซิโกเลย แต่การสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซในฝั่งสหรัฐฯ มีมากกว่าฝั่งเม็กซิโกหลายเท่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศเม็กซิโกเป็นของรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคนเม็กซิกันคนไหนที่จะกระตือรือร้นขุดหาน้ำมันเหมือนกับทางฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ แนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของอเมริกาในการให้สิทธิ์ครอบครองแร่ธาตุใต้ดินยังส่งผลดีต่อการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการด้วย เพราะในขณะที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ ควบคุมการสกัดและพัฒนาแร่ธาตุใต้ดินอย่างเข้มงวด แต่บริษัทในสหรัฐฯ สามารถทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ ได้ การทดลองได้อย่างเสรีคือสิ่งที่ทำให้นักขุดในสหรัฐฯ สามารถค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการขุดน้ำมันอย่างการขุดแบบแฟรกกิ้ง ซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ พุ่งกระฉูด นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เคยกลัวกันว่าจะหมดไปจากประเทศสหรัฐฯ ก็กลายมาเป็นสิ่งที่มีเหลือเฟือ ทำให้สหรัฐฯ มีความเป็นอิสระในเชิงพลังงาน แต่ปัจจุบันกลับมาตกอยู่ในอันตรายอีกครั้งเพราะนโยบายของรัฐบาล Biden ที่เป็นปฏิปักษ์กับพลังงานฟอสซิล แม้จะเห็นตัวอย่างจากสหรัฐฯ แล้ว แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงใช้การควบคุมแบบเดียวกับรัฐบาลเม็กซิโกในนโยบายแบบบนลงล่าง ยกตัวอย่างเช่น ยังมีก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่รอการค้นพบและพัฒนาอยู่ในอังกฤษ ยุโรป และที่อื่นๆ ในโลก แต่การที่บุคคลธรรมดาไม่ได้มีสิทธิ์ครอบครองแร่ธาตุใต้ดินเหมือนกับชาวอเมริกันคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาในด้านนี้ อ่านเพิ่มเติม:- RAJEEV MENON โฟกัสเอเชีย นำธง “แมริออท อินเตอร์ฯ” เดินหน้าลงทุน
- การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ประจำปี 2022
- 10 อันดับ “มหาเศรษฐีสิงคโปร์” ประจำปี 2022
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine