Forbes 30 Under 30 การจัดอันดับสุดยอดหนุ่มสาววัยไม่เกิน 30 ปีผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการต่างๆ และนี่คือ 5 กิจการจากฝีมือคนรุ่นใหม่ที่สร้างสิ่งใหม่ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์
ในการต่อสู้กับการขาดแคลนที่พักใน Los Angeles ศิษย์เก่าจาก Cooper Union ออกแบบ ขออนุญาตและสร้างบ้านสำเร็จรูปไว้ที่สวนหลังบ้านพื้นที่ถึง 1,200 ตารางฟุต พวกเขาระดมทุนได้ 1.6 ล้านเหรียญจาก General Catalyst, Khosla Ventures และอื่นๆ
พวกเขาก่อตั้งบริษัทในปี 2014 และมีจุดเด่นในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาการก่อสร้างบ้าน ที่แต่เดิมจะต้องมีขั้นตอนการออกแบบยาวนาน และมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา ฯลฯ
แต่ Cover ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละพื้นที่ การคำนวณทิศทางแสงทำให้ระบบออกแบบหน้าต่างในจุดที่เหมาะสมได้ทันที การออกแบบจึงรวดเร็วและสามารถให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการปรับแต่งได้มากกว่า รวมถึงการก่อสร้างแบบบ้านสำเร็จรูป ทำให้ลดความยุ่งยากในการก่อสร้าง
มาใช้ชีวิตเหมือนในการ์ตูน Jetsons ด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะโอริกามิของศิษย์เก่า MI ผู้นี้ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 6 ล้านเหรียญจาก Khosla Ventures
เฟอร์นิเจอร์หุ่นยนต์นี้แปลงร่างจากเตียงไปเป็นตู้ ไปเป็นโต๊ะและเปลี่ยนกลับมาได้ การใช้งานที่หลากหลายทำให้ห้องกว้างขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็มีขนาดที่พักอาศัยเล็กลงเรื่อยๆ
เฟอร์นิเจอร์ของ Ori มีการดีไซน์และติดตั้งระบบที่ให้ผู้ใช้เพียงกดปุ่ม เฟอร์นิเจอร์ทั้งชิ้นจะสามารถยืดหดจนเปลี่ยนจากเตียงนอน เป็นตู้เสื้อผ้า หรือเป็นที่นั่งทำงานได้ในพริบตา
จะชอบปาร์ตี้หรือชอบตื่นเช้าก็หาที่อยู่เหมาะๆ ได้ด้วยแอพพลิเคชั่นของ Yadav ซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 17 ล้านเหรียญเพื่อช่วยผู้คนที่มีอุปนิสัยทุกรูปแบบในการหาเพื่อนร่วมบ้านแบบเดียวกัน
Roomi เน้นการแก้ปัญหาในหลายจุดของการเช่าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาที่บังคับเป็นรายปีซึ่งไม่สอดคล้องกับคนยุคปัจจุบันที่อาจจะมีสัญญาการทำงานระยะสั้นหรือเพียงแค่เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงคัดกรองให้รูมเมทผู้ต้องการเช่าได้พูดคุยกับเจ้าของห้องตัวจริงโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า และจุดขายสำคัญคือการที่เจ้าของห้องสามารถคัดเลือกหาผู้เช่าที่เข้ากันได้ในเชิงไลฟ์สไตล์
ปัจจุบัน Roomi มีบริการเต็มรูปแบบแล้วใน 5 เมืองของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ New York, Los Angeles, Bay Area ใน San Francisco, Boston และ Chicago และยังเปิดแอพพลิเคชั่นต้นแบบในอีก 16 เมือง ซึ่งรวมถึงในประเทศอังกฤษและแคนาดาอีกด้วย
บริษัทในมหานคร New York ซึ่งก่อตั้งโดยบุตรชายของผู้อพยพชาวเปรู รับออกแบบ จัดหาเงินทุน และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามสั่งสำหรับเจ้าของบ้านโดยรายได้เมื่อปี 2017 อยู่ที่กว่า 3 ล้านเหรียญ
ทั้งนี้ New York เป็นฐานตลาดที่สำคัญสำหรับธุรกิจโซลาร์เซลล์ เนื่องจากมีการออกกฎหมายให้แรงจูงใจสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในบ้านเรือน เช่น ลดภาษีรายได้บุคคลให้ในอัตรา 25% ของราคาค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งทำให้ YSG จับจุดนี้มาเป็นจุดขายโดยให้บริการครบวงจรในการขออนุญาตติดตั้งและเดินเรื่องเพื่อขอคืนภาษี
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine