เปิดแล้ว! ทรู ดิจิทัล พาร์ค ระบบนิเวศ “สตาร์ทอัพ” ใหญ่ที่สุดในอาเซียน - Forbes Thailand

เปิดแล้ว! ทรู ดิจิทัล พาร์ค ระบบนิเวศ “สตาร์ทอัพ” ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เปิดตัว ทรู ดิจิทัล พาร์ค พื้นที่ระบบเครือข่ายส่งเสริมสตาร์ทอัพ 77,000 ตร.ม. ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นฐานทัพผู้ประกอบการ 5,000 คน ดึง ‘พี่เลี้ยง-นายทุน’ ให้คำปรึกษาการเงิน เทคโนโลยี และการเชื่อมต่อสู่ตลาดระดับภูมิภาค

“เราไม่ได้สร้างแค่ออฟฟิศ แต่เราสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ทอัพเป็นได้จริง” คือคำนิยามของพื้นที่นี้จาก ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ทรู ดิจิทัล พาร์คมีการลงทุน 1,580 ล้านบาทบนพื้นที่ขนาด 77,000 ตร.ม. ในโครงการ mix-used วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ย่านปุณณวิถี พื้นที่นี้ตั้งเป้าเป็นฮับของสตาร์ทอัพในทุกสเตจ ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นคิดไอเดียจนถึงจดทะเบียนเป็นบริษัทและมีการดำเนินธุรกิจแล้ว โดยฐนสรณ์ระบุว่า เป็นพื้นที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพภายใต้หลังคาเดียวที่ใหญ่ที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทรู ดิจิทัล พาร์ค
พื้นที่ Co-Working Space แบบ Hot Desk ในทรู ดิจิทัล พาร์ค
ฐนสรณ์อธิบายถึงระบบนิเวศของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เริ่มจากพื้นที่ทางกายภาพ จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.Co-Working Space สัดส่วน 35% จุคนได้ 500 ที่นั่ง 2.Office Space สัดส่วน 40% พื้นที่ให้เช่าถาวรที่แบ่งเป็นสัดส่วนให้กับบริษัท 3.Innovation Space สัดส่วน 15% พื้นที่แหล่งรวมเทคโนโลยี แล็บวิจัย โชว์เคส ฯลฯ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้สตาร์ทอัพติดต่อเข้าถึงได้สะดวก 4.Event and Business Services Space สัดส่วน 10% พื้นที่จัดประชุม สัมมนา มีตั้งแต่ห้องเวิร์กช็อปความจุ 30 คนจนถึงห้องประชุมขนาดใหญ่ความจุ 400 คน โดยทั้งหมดออกแบบให้เชื่อมต่อเข้าถึงกันได้ทั้งหมดเพื่อให้คนในพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่าย และมีพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องประชุมหลากไซส์ มุมครัวและมุมพักผ่อนที่ใช้ร่วมกัน
ที่นั่งมีหลากหลายรูปแบบในพื้นที่
ขณะที่ระบบนิเวศที่ไม่ใช่กายภาพ ฐนสรณ์กล่าวถึงการรวบรวมเครือข่ายที่ทรู ดิจิทัล พาร์คมีคอนเน็คชัน 5.3 แสนราย ครอบคลุม 5 กลุ่มที่สตาร์ทอัพต้องการ คือ กลุ่มเวนเจอร์แคปิตอล เช่น Gobi Partners, โอเพ่นสเปซ, 500 TukTuk กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Amazon Web Service, Google, Huawei กลุ่มภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น Depa, NIA, BOI กลุ่มภาคการศึกษาและศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ เช่น KMITL, KRIS, True Lab กลุ่มสตาร์ทอัพพันธมิตรและหน่วยสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น MuSpace, Wise AI, Getlinks ที่น่าสนใจคือ ทรู ดิจิทัล พาร์คจะจัดงานอีเวนท์และเวิร์กช็อปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เครือข่ายนี้เชื่อมต่อกับสตาร์ทอัพได้จริง ยกตัวอย่างที่กำลังดำเนินการคือ “VC Clinics” ตลอดทั้งสัปดาห์ ให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าพบเพื่อปรึกษาเวนเจอร์แคปิตอลได้ทุกแง่มุม ทั้งไอเดียการพัฒนาธุรกิจจนถึง pitch ขอเม็ดเงินลงทุน  

โมเดลรายได้ผสมผสาน เช่าพื้นที่ออฟฟิศ-ลงทะเบียนสมาชิกรายเดือน

ในมุมของทรู ดิจิทัล พาร์คเอง ฐนสรณ์อธิบายโมเดลธุรกิจจะผสมผสานจาก 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ค่าสมัครสมาชิกรายเดือน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน (ปัจจุบันมีโปรโมชันลดราคาช่วงเปิดตัว) สามารถเข้าใช้พื้นที่ Co-Working Space และพื้นที่ส่วนกลาง และได้สิทธิเข้าร่วมงานอีเวนท์ต่างๆ ได้ฟรี ส่วนที่สอง คือค่าเช่าพื้นที่ Office Space ซึ่งแบ่งเช่าขนาด 100 ตร.ม.ขึ้นไป ค่าเช่า 1,300-1,500 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ผู้เช่าจะสามารถใช้ส่วนกลางและสิทธิร่วมงานอีเวนท์ฟรีเช่นกัน โดยพื้นที่นี้มีอัตราการเช่าแล้ว 94% ส่วนสุดท้าย คือค่าเช่าพื้นที่เพื่อจัดอีเวนท์และงานประชุมต่างๆ โดยเปิดให้เช่าใช้ได้ทั้งห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่และกลาง รวมถึงจัดมุมออกบูธชั่วคราวได้ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยเช่าให้กับ We Work ธุรกิจ Co-Working Space เช่าพื้นที่อีก 5,000 ตร.ม. ซึ่งกำลังเจรจาเรื่องสิทธิการเข้าใช้เครือข่ายและอีเวนท์ต่างๆ
ฐนสรณ์ ใจดี นำชมทรู ดิจิทัล พาร์ค: พื้นที่บริเวณ Town Hall ส่วนกลาง สามารถใช้จัดเวทีสาธารณะได้
ฐนสรณ์กล่าวว่า ส่วนของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค รวมทั้งสมาชิกรายเดือนและผู้เช่าใน Office Space รองรับสตาร์ทอัพได้อย่างน้อย 3,500-4,000 คนที่เข้ามาใช้งานเป็นประจำ หากรวมกับพื้นที่ของ We Work จะมีผู้ใช้งานประจำประมาณ 5,000 คน และจะมีแขกผู้เกี่ยวข้องหมุนเวียนเข้ามาในพื้นที่อีกมากมาย โดยปัจจุบันหลังจากเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการมาเกือบ 2 เดือน มีผู้เช่า Office Space มาใช้งานแล้ว 2,500 คนต่อวัน และมีการจัดอีเวนท์มาแล้วกว่า 100 งาน ทำให้โดยรวมมีทราฟฟิกผู้ใช้งานพื้นที่ทั้งหมด 8,500 คนต่อวัน หากมีการใช้งานเต็มพื้นที่รองรับ ฐนสรณ์เชื่อว่าธุรกิจนี้จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5-7 ปีหรือเร็วกว่านั้น นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนเฟส 2 เพิ่มในพื้นที่อีก 20,000 ตร.ม.ด้วย  

รองรับสตาร์ทอัพทุกขนาด เปิดพื้นที่ให้เติบโตมั่นคง

ด้าน ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า สำหรับผู้เช่าที่เข้าใช้พื้นที่แล้วมีการผสมผสานที่หลากหลาย แบ่งเป็นผู้ชายร้อยละ 57 และผู้หญิงร้อยละ 43 ด้านกลุ่มอาชีพที่เข้ามาใช้งานแบ่งเป็นกลุ่มคนไอที เช่น วิศวกร เทคนิคเชียน 60% และ 40% เป็นกลุ่มหน่วยงานพัฒนาธุรกิจ การตลาดดิจิทัล บัญชี ฯลฯ ส่วนสตาร์ทอัพหลักๆ ที่ใช้พื้นที่ จะเป็นกลุ่ม FinTech, MarTech, AgriTech, อี-คอมเมิร์ซ และผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่นำไป plug-in กับผู้อื่น เช่น บิ๊กดาต้า, AI “ขนาดบริษัทที่เข้ามามีตั้งแต่ 1 คนจนถึงบริษัทหลักพันคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เน้นแต่สตาร์ทอัพขนาดเล็ก และเรามีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในระบบด้วย” ดร.ธาริตกล่าว
VC Clinics สำหรับสมาชิกพื้นที่สามารถจองเวลาเข้าพบปะกับเวนเจอร์แคปิตอลได้
ในงานเปิดตัวยังมีการเชิญตัวแทนเวนเจอร์แคปิตอลอย่าง ชาริณี แชนนอน กัลยาณมิตร เวนเจอร์พาร์ทเนอร์จาก Gobi Partners และ ณิชาภัทร อาร์ค ตัวแทนประจำประเทศไทย บริษัท โอเพ่นสเปซ เวนเจอร์ จำกัด มาร่วมพูดคุย ซึ่งทั้งสองเห็นตรงกันว่าการเปิดพื้นที่เช่นนี้ทำให้ VC มีโอกาสพบสตาร์ทอัพได้มากขึ้น ได้ให้คำปรึกษาเพื่อที่สตาร์ทอัพจะได้ไม่พลาดในการพัฒนาไอเดีย และให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงเงินทุนจาก VC ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะอยู่รอดได้   Forbes Facts
  • ทรู ดิจิทัล พาร์คได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในฐานะกิจการประเภทดิจิทัล พาร์ค
  • NIA มีการจัดตั้ง Help Desk เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำ “สมาร์ท วีซ่า” ให้กับสตาร์ทอัพจากต่างประเทศในพื้นที่นี้ด้วย
  • อัตราราคาเช่า 1,300-1,500 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือนของทรู ดิจิทัล พาร์ค ปุณณวิถี ตั้งราคาสูสีกับค่าเช่าออฟฟิศย่านกลางเมืองอย่างปาร์คเวนเชอร์ (เพลินจิต) หรือ เกษร ทาวเวอร์ (ราชดำริ) แต่ฐนสรณ์มองว่าที่นี่ได้รับการตอบรับดีเพราะไม่ได้ให้เช่าเฉพาะสถานที่แต่เป็นระบบนิเวศ
(ซ้าย) หอประชุมความจุ 400 คน (ขวา) เทคโนโลยีในพื้นที่: หุ่นเสิร์ฟน้ำเคลื่อนที่อัตโนมัติ
พาร์ทเนอร์: Google Academy แห่งที่ 2 ของโลกต่อจากสาขา UK
พาร์ทเนอร์: Wongnai Co-Cooking Space สถานที่จัดคอร์สเรียนทำอาหาร รองรับได้ 30-40 คน
KMITL Research and Innovation Services (KRIS) จัดโชว์เคสสแกนเนอร์และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ