รังฮาร์ดแวร์ : Shenzhen สวรรค์สตาร์ทอัพนักประดิษฐ์ - Forbes Thailand

รังฮาร์ดแวร์ : Shenzhen สวรรค์สตาร์ทอัพนักประดิษฐ์

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Apr 2018 | 02:12 PM
READ 22006

สำหรับบรรดาสตาร์ทอัพในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Shenzhen การวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่กินเวลา 1 เดือน กลับใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

เรื่องน่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับ Shenzhen ไม่ใช่การที่เมืองนี้ก้าวมาจากหมู่บ้านในชนบทขนาด 30,000 คนสู่การเป็นมหานครประชากร 20 ล้านคนในเวลา 30 ปี ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นเป็นเรื่องไม่ธรรมดา แต่ไม่ สิ่งน่าทึ่งที่สุดของ Shenzhen คือเบื้องหลังการเติบโตอันมิอาจวัดได้ เมืองแห่งนี้คือจุดกำเนิดผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ของโลกเกือบทั้งหมด การบรรยายว่าตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ HuaQiangBei ทางใต้ของเมือง Shenzhen ของจีน เป็นเสมือนเมืองอันเฟื่องฟูสำหรับธุรกิจอุปกรณ์คอมพิวเตอร์นั้น เป็นคำกล่าวที่ลดทอนความจริงอย่างมาก เมื่อตระเวนผ่านแผงอันคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งมีกองไมโครชิป บอร์ดวงจร หลอดไฟ LED และตัวชาร์จไร้สายวางเรียงเป็นแถว ขณะที่โดรนกำลังบินและโฮเวอร์บอร์ดโฉบเฉี่ยวไปมา คุณคิดว่าตัวเองได้เห็นทั้งหมดแล้ว แต่คุณสะกิดอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น หรืออยู่ที่จุดปลายสุดสำหรับกรณีนี้  

ศูนย์รวมทีมนักประดิษฐ์

ถัดขึ้นไป 8 ชั้นเหนือสวรรค์ของเหล่านักสร้างอันคึกคักคือ HAX โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านฮาร์ดแวร์ ในชั่วขณะที่คุณก้าวเข้าไปในลิฟต์ นำไปสู่ทางเข้า HAX ซึ่งตกแต่งสไตล์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เสียงพูดคุยเบื้องหลังจะเปลี่ยนจากภาษาจีนกลางเป็นอังกฤษหลากหลายสำเนียง พื้นที่เปิดโล่งทั่วชั้นแผ่กว้างออกไป 42,000 ตารางฟุต ก่อสร้างขึ้นเพื่อการสร้างสรรค์ ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์สำหรับทำงานร่วมกันทั่วไป เช่น มุมโทรศัพท์สำหรับพูดคุยส่วนตัว ห้องประชุมพร้อมกระดานไวท์บอร์ด โต๊ะปิงปองในห้องครัว และห้องครึ่งวงกลมสำหรับนำเสนองาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกทั้งชั้นสำหรับห้องจัดเตรียมงานต้นแบบ ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องมือทดสอบเชิงอุตสาหกรรม หน่วยการผลิต มีแม้กระทั่งห้องแล็บชีวภาพสำหรับการวิจัยเชิงการแพทย์และเกษตรกรรม
Keenan Pinto หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีที่ Nordetect บริษัทวิเคราะห์ด้านชีวเคมีจากเดนมาร์ก กำลังสาธิตเครื่องวินิจฉัยแบบพกพาสำหรับบริษัททางการเกษตรเพื่อใช้ทดสอบตัวอย่างดิน
“บริษัทจำนวนมากมาหาเราเพราะ Shenzhen บริษัทฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่รู้ว่าพวกเขาต้องมาที่ Shenzhen เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการสู่บริษัทเต็มรูปแบบ” Duncan Turner กรรมการผู้จัดการของ HAX กล่าว โดยเขาเป็นผู้นำโครงการนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น แพลตฟอร์มสนับสนุนเงินทุนตั้งตัวที่ขับเคลื่อนด้วยการคอยให้คำแนะนำดูแลนี้ ทำงานร่วมกับทีมงาน 150 ทีม ซึ่งสร้าง ของเจ๋งๆ ในด้านเทคโนโลยีผู้บริโภค บริการสุขภาพ IoT สำหรับองค์กร หรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการผลิต” ทีมสตาร์ทอัพมาจากทั่วทุกมุมโลก โดยกว่าครึ่งมาจากอเมริกาเหนือ 1 ใน 4 มาจากจีน และที่เหลือมาจากยุโรป “คุณสร้างตัวต้นแบบที่ใดก็ได้ แต่มันใช้เวลานาน 90% ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีต้นกำเนิดใน Shenzhen” Turner ผู้ใช้เวลาหลายปีไปๆ มาๆ ระหว่าง London และเมือง Xiamen ก่อนมาดูแล HAX เสริม สตาร์ทอัพ Pushme จากสหราชอาณาจักรนำเสนอแท่นชาร์จไฟเร่งด่วนแบบต่อแล้วพร้อมใช้ทันทีในร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหาร สำหรับจักรยานไฟฟ้า ในฐานะอดีตหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่บริษัท IDEO Shanghai Turner รู้จากประสบการณ์ตรงว่า คุณสามารถเอาส่วนประกอบของบริษัท Western มาใช้ได้ แต่คุณจะพบว่าเมื่อคุณผลิต ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นคุณต้องออกแบบและประดิษฐ์ใหม่” สมาชิก 30 คนที่โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฮาร์ดแวร์นี้มีตั้งแต่วิศวกรหุ่นยนต์ ไฟฟ้าและเครื่องกล ไปจนถึงกราฟิกดีไซเนอร์ และนักออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ทั้งหมดต่างพร้อมทำงานตามความต้องการของแต่ละคน  

HAX สุดยอดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ

HAX เป็น 1 ใน 6 โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ดำเนินการโดย SOSV (โครงการอื่นๆ อยู่ใน Shanghai, Taipei, San Francisco, Cork, Ireland และ New York) บริษัทร่วมลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง Princeton รัฐ New Jersey การก้าวเข้าสู่โครงการอันเป็นที่ต้องการนี้ มาพร้อมกับเงินทุนตั้งต้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกเปลี่ยนกับหุ้น 10% ในสตาร์ทอัพ ทีมที่แสดงออกถึงศักยภาพจะมีโอกาสได้รับการลงทุนตามมาจากกองทุนช่วยเร่งขนาดการเติบโต
unspun ผู้ผลิตเสื้อผ้าจากสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลสามมิติจากการสแกนร่างกาย สร้างสรรค์กางเกงยีนส์แบบตัดตามสั่ง โดยKevin Martin ผู้ร่วมก่อตั้งอยู่ทางซ้าย
“เราใช้โครงการนี้ตรวจสอบสตาร์ทอัพก่อนเข้าไปลงทุน (due diligence)” Turner ผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญของ SOSV ซึ่งรับผิดชอบการจัดการเงินทุนด้วยเช่นกัน กล่าว เขามักประเมินจากความสัมพันธ์ในการทำงานที่มีร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ มันดีกว่าการตรวจสอบใดๆ ก็ตามที่คุณจะทำในฐานะนักลงทุนทั่วไปซึ่งเข้ามาในช่วง series A” จนถึงวันนี้ SOSV ลงทุนในสตาร์ทอัพเกือบ 700 แห่งแล้ว แม้จะมีการขยายหลักสูตรที่คล้ายคลึงกันเพื่อให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำ Pearl (Pearl River Delta) อย่างล้นหลาม เช่น AIRmaker, Shenzhen Valley Ventures, Seeed Studio, Brinc, Techcode, Highway1, Blueprint เป็นต้น แต่ HAX ถือเป็นแห่งแรกที่ยกระดับสถานะของตัวเองใน Shenzhen เพื่อสร้างฮาร์ดแวร์ ในปี 2012 องค์กรเอกชนต่างๆ ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขึ้นมาอีกเช่นกัน จากความตั้งใจในการก้าวนำเทคโนโลยี พลิกโลก” ต่างๆ  

อนาคตของ Shenzhen ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมโลก

Andreas Schotter อาจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจ Ivey Business School in London เมือง Ontario ใน Canada คาดการณ์ว่า ทั่วจีนนั้นมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพราว 3,000 แห่งกำลังดำเนินการอยู่ และจำนวนดังกล่าวคาดว่าจะทะลุ 5,000 แห่งภายในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล “นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากยังมีเงินทุนอิสระมากมายจากคลื่นการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงแรก ซึ่งยังหาพื้นที่งอกเงย” Schotter กล่าว เขามองว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนเป็นพิเศษในนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่ของจีนอย่างพลังงานหรือความปลอดภัยเรื่องน้ำและอาหาร
Wazer จาก New York พัฒนาเครื่องตัด waterjet แบบตั้งโต๊ะราคา 6,000 เหรียญ ที่สามารถตัดผ่านวัตถุใดๆ ก็ได้ตามคำกล่าวของ Matt Nowicki ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO)
แม้แหล่งเงินแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีมีอยู่ทั่วแผ่นดินใหญ่ แต่สถานะของ Shenzhen มั่นคงแข็งแกร่ง ในปี 1980 เมื่อทางเมืองได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน มหานครแห่งนี้เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีในบ้านเกิดที่โดดเด่นมากมาย เช่น Tencent, Huawei, ZTE, Coolpad, DJI และ BYD ในปี 2016 จีดีพีของ Shenzhen อยู่ที่กว่า 3 แสนล้านเหรียญ ผลผลิตทางเศรษฐกิจของเมืองสูสีกับมณฑลขนาดกลางชั้นนำ และแซงหน้าหลายประเทศ เช่น โปรตุเกสและกรีซ ส่งผลให้ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับชาติพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลียและเยอรมนี Turner ยังคงคิดว่า Shenzhen คือสถานที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ทั้งแง่ความเร็วในการออกสู่ตลาดและประสิทธิภาพการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน ความจริงอย่างหนึ่งซึ่งได้รับการทดสอบและพิสูจน์แล้วที่เขายืนยันอย่างแข็งขันคือ หนึ่งสัปดาห์ใน Shenzhen เป็นเหมือนหนึ่งเดือนในที่อื่น “ทีมงานมาที่นี่ 3 เดือน แล้วพวกเขาทำงานวิจัยและพัฒนาที่ปกติจะใช้เวลาราว 1 ปีเสร็จ”   เรื่อง: Pamela Ambler เรียบเรียง: ชูแอตต์
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine