CREATIVE VENTURES ฉีดทุน 50 ล้านเหรียญ เปลี่ยนโลกด้วย Deep Tech
พันธมิตรนักลงทุนจับมือรอบใหม่ใส่เม็ดเงินเสริมประสบการณ์ขับเคลื่อน deep tech Start-ups ถึงฝั่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวหน้า
ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัท ครีเอทีฟเวนจอร์ จำกัด (Creative Ventures) ซึ่งเป็นธุรกิจกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capitalist) ที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา เผยว่าหลังจากที่บริษัทได้เปิดตัวกองทุนร่วมลงทุนกองที่สอง มูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 1,650 ล้านบาทและได้ออกมาระดมเงินทุนจากนักธุรกิจในไทยและสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์หรือทิศทางของโลก โดยขณะนี้บริษัทได้รับเงินลงทุนจากนักธุรกิจและนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์ได้เพียงพอต่อการเริ่มต้นลงทุนแล้ว แม้กองทุนนี้ จะมีเป้าหมายที่จะปิดการระดมทุนในเดือนมีนาคม ปี 2562 โดยขณะนี้ยังคงมีนักลงทุนทั้งไทยและนักลงทุนสิงคโปร์สนใจเข้ามาพูดคุยเพื่อร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปลงทุน ในบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นทิศทางหรือเทรนด์ของโลกเพื่อช่วยให้มนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก โดยมุ่งเน้นใน 3กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม, ปัญหาเกษตรกรรมและอาหารจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน, และการใช้เทคโนโลยีสุขภาพที่ช่วยดูแลประชากรผู้สูงอายุ
โดยที่ผ่านมาบริษัทได้จัด Innovation Tour พากลุ่มนักลงทุนที่สนใจเดินทางไปศึกษาข้อมูลและพบปะพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการลงทุนของกองทุนที่ซิลิคอน วัลเลย์ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกามาแล้วด้วยเช่นกัน
“เราเชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจที่มีการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่มีความจำเป็นหรือความต้องการในการแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนการลดต้นทุนและสร้างประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ จะให้ผลตอบแทนทางการเงินที่เหนือกว่าในระยะยาว”
ด้าน เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ หุ้นส่วนดำเนินการ บริษัท ครีเอทีฟเวนจอร์ จำกัด กล่าวต่อว่านักลงทุนที่เข้าร่วมลงทุนกับกองทุนกองที่สองนี้ประกอบไปด้วยนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์และประสบความสำเร็จในธุรกิจ โดยมีทั้งการลงทุนผ่านบริษัทและในนามส่วนตัว เช่น อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ “ต็อบ เถ้าแก่น้อย” ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร กองทุนสิงห์เวนเจอร์, พิรชัย เบญจรงคกุล Investment Director บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซน ไทย เอเยนต์ซีส์ และผู้ก่อตั้งกองทุนร่วมทุนวิชั่นนิตี้เวนเจอร์, กองทุน Moonshot Ventures, ชานนท์ เรืองกฤตยา CEO อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงเพื่อใช้งานเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) และการคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว
ภูริต ภิรมย์ภักดี เปิดเผยว่า ทีมงานของสิงห์เวนเจอร์ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชม การทำงานของบริษัทครีเอทีฟ เวนเจอร์ และบริษัทสตาร์ทอัพ ในซิลิคอน วัลเลย์ ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีต่างๆ ที่ซาน ฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับทางทีมครีเอทีฟเวนเจอร์และทำให้เห็นถึงการทำงานของครีเอทีฟ เวนเจอร์ ที่เข้าใจ เข้าถึงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสตาร์ทอัพของที่นั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนและนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ กำลังต้องการพันธมิตรที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงานที่มากพอ เพื่อเข้ามาช่วยเสริมสร้างในส่วนนี้ให้ดียิ่งขึ้น เราเลือกลงทุนกับครีเอทีฟเวนเจอร์เพราะมองเห็นถึงคุณสมบัติเหล่านี้ และเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันจะทำให้สิงห์เวนเจอร์ได้เข้าถึงสตาร์ทอัพดีพเทคในสหรัฐฯได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ “ต็อบเถ้าแก่น้อย” กล่าวว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯเช่นเดียวกัน และได้เห็นการทำงานของ “แชมป์ ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย” และทีมงาน ทำให้เชื่อมั่นว่าทางทีมจะสามารถนำเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปบริหารจัดการและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดเด่นสำคัญของบริษัทครีเอทีฟเวนเจอร์ คือการมีทีมงานประจำอยู่ทั้งที่เมืองไทยและสิงคโปร์ ทำให้การติดต่อพูดคุยเรื่องของแผนการดำเนินการและสอบถามข้อมูลต่างๆ ทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดปัญหาช่องว่างเรื่องเวลาและสถานที่ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไปได้มาก
พิรชัย เบญจรงคกุล Investment Director บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง กล่าวว่า “เราเลือกการลงทุนใน ครีเอทีฟ เวนเจอร์ เพราะเห็นศักยภาพที่จะพาเราไปพบกับสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากภูมิภาคนี้ ซึ่ง Deep Technology จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตแบบ Exponential และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง”
ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย หุ้นส่วนผู้จัดการของครีเอทีฟเวนเจอร์ได้กล่าวปิดท้ายว่า มั่นใจว่าการลงทุนในกองทุนที่สองนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนและประสบความสำเร็จเหมือนกองทุนแรกของบริษัทมีวงเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้เข้าลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆมากกว่า 10 บริษัท เช่น Dishcraft สตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ปฏิบัติงานในห้องครัวที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในธุรกิจบริการด้านโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังได้เข้าลงทุนใน ALICE Technologies ซึ่งเป็นการสร้างระบบ AI ซอฟต์แวร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการการก่อสร้างในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตึกสูง ที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาในการก่อสร้าง ทำให้ประหยัดทั้งในส่วนของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยที่ผ่านมา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้แล้ว
ทั้งนี้ Creative Ventures มีแผนที่จะขยายบริษัท จากเดิมที่มีทีมงานประจำอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์และกรุงเทพ ก็จะทำการเปิดออฟฟิศที่อิสราเอลที่เป็นพื้นที่ที่มีบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีศักยภาพมากแก่การลงทุน รวมทั้งสิงคโปร์และไต้หวันเนื่องจากมีบริษัทและนักลงทุนที่ผ่านมาได้มีความสนใจใน Creative Ventures จำนวนมากอยู่ที่นั่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนการดำเนินการเดิมที่จะทำให้ Creative Ventures เป็นกองทุนระดับโลกต่อไป