พื้นที่การทำงานในออฟฟิศกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อกลุ่มบริษัททั้งไทยและต่างชาติเริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการใช้พื้นที่การทำงานร่วมกับธุรกิจอื่นๆ หรือ co-working space เพื่อเสริมอีโคซิสเต็มการทำงานให้แข็งแกร่งและเร่งอัตราเติบโตทางธุรกิจด้วยเครือข่ายภายใน
Turochas T Fuad กรรมการผู้จัดการ WeWork Southest Asia ผู้ดูแล WeWork ในภูมิภาคเอเชียใต้และรวมถึงประเทศไทย ซึ่ง WeWork ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐฯ กำลังขยายกิจการด้าน co-working space ไปทั่วโลก ได้ตอบคำถามต่างๆ ผ่านอีเมลถึงมุมมองของ “พื้นที่การทำงานร่วมกัน” แบบ WeWork จากโจทย์ใหม่ของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานที่เริ่มเปลี่ยนไป บริษัทขนาดใหญ่พยายามมองหาช่องทางเพื่อดึงความคิดสร้างสรรค์และประสิทธิภาพการทำงานจากพนักงานให้กับองค์กร รวมถึงการเก็บรักษาพนักงานชั้นเยี่ยมเอาไว้ ขณะที่บริษัทขนาดกลางและย่อมต้องการเครือข่ายธุรกิจคุณภาพโดยมีจุดมุ่งหมายการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน โจทย์ใหม่ดังกล่าวเป็นทิศทางธุรกิจที่ WeWork กำลังดำเนินการและเป็นจุดแข็ง ตามที่ Turochas T Fuad อธิบายว่าสิ่งใดคือ “การให้มากกว่าบริการด้านพื้นที่” ท่ามกลางการแข่งขันจากผู้ให้บริการ co-working space จำนวนมากในไทยและทั่วโลก “WeWork เพิ่มความแข็งแกร่งของสมาชิกด้วยการช่วยเชื่อมต่อถึงกันและกันภายในกลุ่มของสมาชิก ทั้งที่เป็นชุมชนระดับประเทศและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยที่ต้องการขยายตัวในประเทศและบริษัทระดับภูมิภาคช่วยให้พวกเขาสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ” ผู้บริหาร กล่าว การเสริมความแข็งแกร่งในแนวคิดของ WeWork คือการแลกเปลี่ยนด้านความคิด ความรู้ และทรัพยากร จากผู้นำที่สามารถช่วยเหลือให้บริษัทในระดับประเทศเติบโต ผ่านแนวคิดระดับสากลและแนวทางปฏิบัติ ขณะที่บริษัทระดับภูมิภาคก็สามารถเข้าใจตลาดในประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี “เรามีวิธีการออกแบบพื้นที่ซึ่งให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การทำงานและการผ่อนคลาย เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่ทันสมัย ขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนได้” หนึ่งในหัวใจสำคัญของธุรกิจ co-working space ที่จะทำให้ WeWork เป็นผู้นำในการแข่งขันนั้น Turochas กล่าวอธิบายไว้ว่า “การออกแบบภายใน” ซึ่งการออกแบบภายในที่เอื้อให้คนทำงานในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งพื้นที่ทำงานต้องผสมผสานการออกแบบและฟังก์ชันเข้าไว้ด้วยกัน “อาคารของเราเสริมสร้างศักยภาพทางกายภาพและดิจิทัล เราสามารถนำคนมารวมกันภายในพื้นที่ของเราได้และสามารถสร้างสรรค์พื้นที่ในรูปแบบที่เขาต้องการ เราใช้ชุมชน การออกแบบและเทคโนโลยีของเราเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เรียกว่าผสมผสานนวัตกรรมและการวิจัย” หนึ่งในนวัตกรรมที่ WeWork กำลังพัฒนาคือ WeWork Labs แพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมที่สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นของสตาร์ทอัพและองค์กรในระยะเริ่มต้นที่ต้องการพลิกโฉมในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงาน WeWork ที่อาคาร Asia Center สำหรับในประเทศไทยเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นพันธมิตรกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนและมหาวิทยาลัยมหิดลผ่านโครงการศูนย์บ่มเพาะและเร่งอัตราการเติบโตที่ชื่อว่า SPACE-F ซึ่งจะเป็นโครงการ WeWork Labs โครงการแรกของเราในประเทศไทยและเป็นโครงการ WeWork Food Labs แห่งแรกของเราในโลก “เราเชื่อว่านี่เป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร โดยทางเราจะสนับสนุนเรื่องการให้คำแนะนำและที่ปรึกษาผ่านทีมงานที่เป็นสมาชิกจากภูมิภาคและทั่วโลก รวมทั้งต่อยอดประสบการณ์ระดับนานาชาติของเราในการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ อย่างล่าสุด เราได้เปิดตัว WeWork Food Labs ในสหรัฐอเมริกา อีกแห่งเพื่อสร้างชุมชนแห่งนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดด้านอาหาร” Turochas T Fuad อธิบายทิ้งท้ายด้วยว่า “เราตั้งเป้าให้บริการนวัตกรรมสำหรับการเริ่มต้นในระยะแรกแก่สตาร์ทอัพ ผู้เร่งอัตราการเติบโตของธุรกิจ (accelerators) ผู้บ่มเพาะธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น (incubators) และกองทุนร่วมลงทุน (VCs) รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่เพื่อช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต”ไม่พลาดบทความทางธุรกิจ ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine