ลาล่ามูฟ ประเทศไทย เผยมูลค่ารวมปี'61 โต 1.2 พันล้านบาท
ลาล่ามูฟ ประเทศไทย เผยมูลค่าการทำธุรกรรมรวมปี 2561 โต 123% เป็นมูลค่า 1.2 พันล้านบาท ตั้งเป้าปี 2562 มูลค่าธุรกรรมรวมราว 2.4 พันล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก พัฒนา API, เน้นการตลาดรถยนต์ขนส่ง และ จับมือพันธมิตรธุรกิจ
ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย ย้อนถึงความสำเร็จตลอด 4 ปีของลาล่ามูฟในประเทศไทย ที่มีอัตราการเติบโตด้วยมูลค่าการทำธุรกรรม ใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดปี 2561 มีการเติบโต 123% จากมูลค่าการทำธุรกรรมรวม 1.2 พันล้านบาท
“ในปี 2561 ถ้านับรวมระยะทางการให้บริการแล้วนั้นเป็นระยะทางถึง 60 ล้านกิโลเมตร หรือการเดินทางไปยังดาวอังคารเลยทีเดียว ซึ่งการเติบโตดังกล่าวล้อกับพฤติกรรมการการสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามที่ EDTA เคยประกาศข้อมูลสถิติที่ว่า การซื้อสินค้าผ่านอ่านเข้ามาติด 1 ใน 5 พฤติกรรมของคนไทย” ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าว
ในธุรกิจส่งสินค้าแบบ On-Demand Delivery ลาล่ามูฟเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะคนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านการสั่งสินค้าโดย Line Man ซึ่งเราเป็นผู้ทำระบบในการจัดส่งผ่านการเชื่อมต่อ API กับ แอพพลิเคชั่น Line Man ในการสั่งอาหาร นอกจากนี้เรายังเชื่อมต่อ API กับพันธมิตรธุรกิจอีกหลายรายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยผู้ประกอบการจะรู้จักเราดี
“ลาล่ามูฟเองตั้งเป้าเป็น Logistic Provider เป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าผ่านเทคโนโลยีที่เรามี ปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจขนส่งแบบ On-Demand โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรากินสัดส่วนที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผู้ให้บริการอาทิ GrabExpress, Skootar, Deliveree เป็นต้น”
ชานนท์กล่าวเสริมด้วยว่าปัจจุบันเรามีพนักงานขับรถราว 8 หมื่นคัน 95 เปอร์เซ็นต์คือผู้ส่งที่ขับมอเตอร์ไซต์ซึ่งราว 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับประกอบอาชีพส่งเอกสารเป็นหลักอยู่แล้ว และสัดส่วนที่เหลือเป็นพนักงานขับรถที่เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่
จากจำนวนพนักงานขับราว 8 หมื่นรายบวกกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรามีทำให้เรามีข้อมูลการส่งสินค้าที่อยากจะแชร์ อาทิ ค้นหาพนักงานส่งสินค้าได้เร็วที่สุดภายใน 6 วินาที ถึงผู้ส่งเร็วสุด 18 นาที ถึงมือผู้รับเร็วที่สุด 20 นาที และรวมระยะเวลาในการให้บริการทั้งหมดเร็วที่สุด 38 นาที เป็นต้น
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2562 ชานนท์ ตั้งเป้าหมายหลักไว้ 3 ด้านสำคัญคือการพัฒนา API ร่วมกับผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อการสั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์ที่ผู้ประกอบการเหล่านั้น โดยเชื่อกันว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนในการจัดการลดลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ส่วนที่สองคือการทำการตลาดในเรื่องการบริการขนส่งผ่านรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ที่รวมเตรียมเข้าพร้อมอาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา อยุธยา ซึ่งอัตราการบริการยิ่งส่งไกลราคายิ่งถูกลง ซึ่งเรามุ่งไปกลุ่มธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วนที่สามคือการสร้างพันธมิตรธุรกิจร่วมกับแบรนด์ชั้นนำ อาทิ กลุ่มไมเนอร์ อย่าง coffee Club, การสั่งสินค้าผ่านคะแนนสะสม Samsung Galaxy Gift และล่าสุดการร่วมมือกับ IKEA ที่บางนาในการให้ความสะดวกสบายในการขนส่ง ไม่ต้องรอการจัดส่ง ในราคาใกล้เคียงกัน
สำหรับภาพรวมของลาล่ามูฟในเอเชียนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ชานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเราดำเนินธุรกิจอยู่ใน 10 เมืองหลักใน 8 ประเทศเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอีกกว่า 100 เมืองในประเทศจีน ซึ่งหากไม่นับรวมกับประเทศจีนแล้วนั้น ลาล่ามูฟประเทศไทยถือเป็นเป็นอันดับทางด้านรายได้และการขนส่ง และเป็นอันดับหนึ่งได้ราว 2 ปีแล้ว โดยประเทศต่อไปที่ลาลามูฟจะเข้าไปดำเนินการคือประเทศอินเดีย