กรมศุลฯ จับมือ ไอบีเอ็ม ดึงบล็อกเชนพัฒนาระบบนำเข้าสินค้าทางเรือ เตรียมนำร่องแหลมฉบัง - Forbes Thailand

กรมศุลฯ จับมือ ไอบีเอ็ม ดึงบล็อกเชนพัฒนาระบบนำเข้าสินค้าทางเรือ เตรียมนำร่องแหลมฉบัง

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Aug 2019 | 06:00 PM
READ 11661

กรมศุลกากร ร่วมมือกับ ไอบีเอ็ม นำเทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศ ชี้ติดตามสินค้าได้แบบเรียลไทม์ อีก 3 เดือนนำร่องท่าเรือแหลมฉบัง

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เอ.พี.มอลเลอร์-เมอส์ก บริษัทเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกรมศุลกากร ในการนำแพลตฟอร์มเทรดเลนส์ (TradeLens) ที่พัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในหน่วยงานไทย เพื่อพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของไทย

ที่ผ่านมาในการส่งออกสินค้า ผู้ส่งออกต้องไปติดต่อที่ท่าเรือ จากนั้นท่าเรือจะต้องไปดูว่าสินค้าประเภทนี้ต้องใช้คอนเทนเนอร์ไหน มีการติดตามว่าวันนี้ไปจอดที่ท่าใด เมื่อขึ้นท่ามาแล้วก็มีบางคอนเทนเนอร์ที่สินค้าจะต้องถูกเคลื่อนย้าย เพราะฉะนั้นการเปิดคอนเทนเนอร์เพื่อเอาของออกจะต้องใช้เอกสารและผ่านขั้นตอนมากมายของเจ้าหน้าที่ จากนั้นเมื่อสินค้าขึ้นบก ก็มีประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าไปถึงผู้รับอย่างปลอดภัย"

ปฐมา กล่าวว่า ข้อมูลจากเมอส์กระบุว่าในการขนส่งสินค้าแต่ละครั้งต้องใช้เอกสารมากกว่า 200 ชิ้น และมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกว่า 300 คน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ไอบีเอ็มร่วมมือกับเมอส์กในการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้พัฒนาเทรดเลนส์ ซึ่งจะช่วยติดตามสินค้าได้ ลดงานเอกสาร ลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และช่วยเสริมให้ระบบขนส่งครบวงจร มีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

เราพัฒนาจนสามารถเริ่มให้บริการเทรดเลนส์ได้ตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเรือระดับท็อป 10 ของโลกมาใช้บริการของเรา ทั้งนี้ ข้อมูลจากรัฐบาลในประเทศที่เข้ามาร่วมมือเซ็นสัญญากับเราต่างระบุว่า เทรดเลนส์เข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ และทำให้ค่าเฉลี่ยจีดีพีทั้งโลกเพิ่มขึ้น 5% เนื่องจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการต่างๆ ลดลง นอกจากนี้ยังทำให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าในการขนส่งเพิ่มขึ้น 15%”

ปฐมา ระบุว่า แพลตฟอร์มเทรดเลนส์ทำให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานราชการอันดับที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รองจากสิงคโปร์) และเป็นอันดับที่สามในเอเชียแปซิฟิกที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้กรมศุลกากรมีเครื่องมือในการติดตามแบบอัตโนมัติและแม่นยำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ศุลกากร กรมศุลกากร กล่าวว่า แพลตฟอร์มเทรดเลนส์จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ Near Real-time ระหว่างสมาชิก ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสามารถทราบข้อมูลการส่งสินค้าเกือบในทันทีที่ตู้สินค้าออกจากท่าเรือต้นทาง

“80% ของการขนส่งสินค้าถูกส่งมาทางทะเล ซึ่งกรมศุลกากรจะได้รับเอกสารบัญชีราคาสินค้าและใบสั่งซื้อก่อนสินค้ามาถึงเร็วที่สุด 48 ชั่วโมง (ซึ่งเป็นการยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์) แต่ว่าในละวันมีตู้สินค้าเข้ามาที่ศุลกากรนับหมื่นตู้ การวิเคราะห์และประเมินผลสินค้าเหล่านี้ภายใน 48 ชม. ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อนำแพลตฟอร์มนี้มาใช้จะทำให้เราสามารถทราบข้อมูลได้ก่อนล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจปล่อยล่วงหน้าได้

ชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ศุลกากร กรมศุลกากร

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมศุลกากรผลักดันให้พิธีการนำเข้าสินค้าเป็น paperless มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าสินค้าไม่ต้องเดินทางไปที่กรมศุลกากร และสามารถชำระภาษีผ่านระบบ e-payment ได้ และหากในอนาคตนำเทรดเลนส์มาใช้ก็จะทำให้สินค้าที่ได้รับ green line (หมายถึงสินค้าผ่านเข้าไปได้เลย) ไม่ต้องรอตรวจ และผู้นำเข้าสามารถรับสินค้าได้เลย

เมื่อเราได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง หากสินค้าไม่เป็นของต้องห้าม ก็จะทำให้สินค้าถูกปล่อยไปได้เลย ผู้นำเข้าไม่ต้องพบเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำให้เกิดความโปร่งใส ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ คาดว่าอนาคตเราอาจทำการตรวจปล่อยสินค้านำเข้าเพียงแค่ 10% เท่านั้น

ชูชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การที่ได้รับเอกสารก่อนจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาตรงกับของที่เข้ามาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้กรมศุลกากรสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

โดยกรมศุลกากรจะเริ่มนำร่องใช้แพลตฟอร์มนี้ที่ท่าเรือแหลมฉบังในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากร หลังจากนั้นจะประเมินผลเพื่อพิจารณาการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในท่าเรือกรุงเทพต่อไป

  อ่านเพิ่มเติม   รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine