“Hunt for Yield” (ไล่ล่าหาผลตอบแทน) พฤติกรรมที่นับวันจะรุนแรงและสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจไม่แน่นอน
การกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงหรือในบางประเทศถึงขนาดดอกเบี้ยติดลบเป็นผลจากการต่อสู้อย่างยาวนานของธนาคารกลางสำคัญๆ ทั่วโลก ในความพยายามฉุดเศรษฐกิจขึ้นจากวิกฤติเมื่อ 11 ปี ก่อน จนปัจจุบันที่ยังคงพึ่งเครื่องมือเดิมเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีแววจะถดถอยลงจากผลของสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ สร้างผลข้างเคียงที่อาจกำลังรอซ้ำเติมระบบการเงินโลกในอนาคตอย่างพฤติกรรม “Hunt for Yield” (ไล่ล่าหาผลตอบแทน) ที่นับวันจะรุนแรงและสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เราคุ้นหูกับพฤติกรรม “Search for Yield” (แสวงหาผลตอบแทน) มาก่อน เมื่อดอกเบี้ยต่ำ คนฝากเงินหันมาซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้คุณภาพดีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มากขึ้น ทั้งเงินฝาก พันธบัตร และหุ้นกู้ รวมเรียกว่า “ตราสารหนี้” ที่นักลงทุนเป็นเจ้าหนี้ มีธนาคาร รัฐบาล และบริษัทเอกชน เป็นลูกหนี้ ในภาวะปกติ ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยตามงวด ถึงกำหนดก็คืนเงินต้น ด้วยคุณสมบัตินี้นักลงทุนจำนวนมากจึงนับตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ในตราสารหนี้เองก็แบ่งอันดับความน่าเชื่อถือออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลงทุนได้ (Investment Grade/ IG ตามความหมายที่ว่านักลงทุนสถาบันที่ต้องควบคุมความเสี่ยงภายใต้กฎเกณฑ์บางประการสามารถลงทุนได้) และ กลุ่มผลตอบแทนสูง (High Yield/HY) ยิ่งอันดับความน่าเชื่อถือยิ่งสูงเช่น IG ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ ถึงตรงนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าหุ้น HY ไม่น่าลงทุน เพียงแต่เป็นกลุ่มที่ฐานะการเงินอ่อนแอกว่า IG ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงกว่า ซึ่งหากเลือกดีๆ ในกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่ากลุ่ม IG ไม่มาก ก็น่าสนใจไม่น้อย “Hunt for Yield” เพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อดอกเบี้ยตลาดลดลงต่อเนื่อง นักลงทุนโยกเงินไปหุ้นกู้ HY มากขึ้น โดยเฉพาะได้แรงจูงใจจากผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมา ปี 2009 ถึง 2018 ขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 2.1% หุ้นกู้สกุลเงินท้องถิ่นในตลาดเกิดใหม่ทำได้เฉลี่ยต่อปีที่ 8.2% หุ้นกู้ HY สหรัฐฯ สร้างผลงานโดดเด่นเฉลี่ยถึง 11.1% ต่อปี (ผลตอบแทนรวมดอกเบี้ยและกำไรที่เกิดจากราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เพราะดอกเบี้ยตลาดลดลง) นอกจากนี้ ความต้องการของนักลงทุนยังสนับสนุนให้เอกชนออกหุ้นกู้มากขึ้น มีสถิติที่น่าสนใจคือ 1) หุ้นกู้สหรัฐฯ อันดับความน่าเชื่อถือ BBB (ระดับต่ำสุดของ IG) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 29% ของปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด ณ สิ้นปี 2008 เป็น 49% เมื่อต้นปี 2019 2) 87% ของหุ้นกู้ HY สหรัฐฯ และสินเชื่อ เป็นกลุ่มที่ปลอดหรือมีหลักประกันน้อย 3) ในฝั่งตลาดเกิดใหม่ มูลค่าตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจาก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2008 เป็นมากกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ภายใต้ความกังวลต่อเศรษฐกิจ นักลงทุนกลัวราคาหุ้นตกเลยหันมาที่หุ้นกู้ HY โดยมองข้ามความจริงที่ว่าหุ้นกู้ HY ไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยและราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจแม้ไม่อ่อนไหวมากเท่าหุ้น (มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นมากกว่า IG เพราะความน่าเชื่อถือต่ำกว่า บริษัทผู้ออกมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากกว่าในช่วงเศรษฐกิจขาลง) หากตลาดเกิดแรงเทขาย หุ้นกู้ HY จะกระทบมากกว่าพันธบัตรและ IGเช่นนั้น นักลงทุนควรทำอย่างไร
1) ทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนคืออะไร พันธบัตรหรือหุ้นกู้ อันดับความน่าเชื่อถือที่บ่งบอกคุณภาพลูกหนี้อยู่ระดับไหน สภาพคล่องซื้อขายเป็นอย่างไร ถ้าลงทุนต่างประเทศก็ต้องรู้สกุลเงิน อย่าพิจารณาเพียงอัตราดอกเบี้ย หรือราคาของหุ้นเท่านั้น 2) กำหนดเป้าหมายของการลงทุน ให้ชัดเจน- ลงทุนเพื่อให้มีสภาพคล่อง เน้นลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีระยะสั้น โดยผ่านกองทุนรวมตลาดเงิน
- ลงทุนเพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอ (หลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นกู้) ซื้อกองทุนที่รวมหุ้นกู้หลายๆ ตัว ครบกำหนดใกล้กัน และถือจนครบอายุ เพื่อรับรายได้สม่ำเสมออาจเป็นรายไตรมาสหรือทุกครึ่งปี ไม่ดูราคารายวัน พอครบกำหนดก็ลงทุนกองทุนใหม่ เช่น กองทุนที่กำหนดระยะเวลาตายตัว (Fix Dated Fund หรือ Term Fund)
- ลงทุนเพื่อผลตอบแทนรวมระยะยาว ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนหุ้นกู้หลายประเทศและอุตสาหกรรม มีผู้เชี่ยวชาญคอยเลือก ติดตาม หาตราสารใหม่ๆ รวมทั้งจัดสัดส่วนช่วงอายุการถือครองหุ้นกู้ (สั้น-ยาว) อันดับความน่าเชื่อถือ (IG-HY) และสกุลเงิน (ดอลลาร์–ท้องถิ่น) เพื่อสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง ควรเป็นเงินลงทุนยาวและรับความผันผวนได้
ไม่พลาดบทความทางด้านธุรกิจ คลิกติดตามได้ที่ Facebook ForbesThailandMagazine