แกะโมเดลความสำเร็จสูตรสำเร็จการลงทุน โดย หยง ธำรงชัย เอกอมรวงศ์
พอจั่วหัวคำว่า "การลงทุน" ภาพแรกที่ผุดขึ้นในความคิดคนส่วนใหญ่คือ ความร่ำรวย เป็นเศรษฐี ชีวิตดี มีพอร์ตโฟลิโอร้อยล้านพันล้าน ซึ่งว่าไปแล้วคิดแบบนั้นมันก็ไม่ได้ผิดไปซะทีเสียเดียว มันคือผลคือภาพเวลาที่เห็นคนลงทุนประสบความสำเร็จ พอเห็นและเชื่อในผล ก็ไม่แปลกที่จะเริ่มแกะหาเหตุ หรือที่เราเรียกด้วยศัพท์เท่ห์ๆ ทุกวันนี้ว่าหา "โมเดลความสำเร็จ" ของคนๆ นั้น หรือของการลงทุนแนวนั้น นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่างวอเรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์ หรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นี่เรียกว่าถูกแกะ โมเดลความสำเร็จ จากทั้งมือสมัครเล่นและไม่สมัครเล่น จนนำไปเขียนเป็นตำราได้ไม่ยาก
ซึ่งการแกะ โมเดลของคนที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพนั้นๆ เป็นวิธีที่ลัดและเวิร์คมาก เรารู้ชัวร์แล้วว่าคอนเซ็ปท์นี้ใช้ได้ มันถูกพิสูจน์แล้ว ที่เหลือคือแกะในรายละเอียด และสร้างเป็นสูตรขึ้นมา (เขาถึงเรียกว่าสูตรสำเร็จ) อย่างไรก็ดีวันนี้ผมจะไม่ได้มาถกเรื่องหลักการลงทุน มีหนังสือและบทความที่เจาะลึกหลักการลงทุนแต่ละแบบอยู่แล้ว แต่ผมอยากชวนพวกเราตั้งข้อสังเกต ถกประโยชน์และข้อควรระวังของการนำโมเดลความสำเร็จของคนอื่นมาใช้ เพราะหลายๆ ครั้งต่อให้มั่นใจว่าแกะทะลุปรุโปร่งแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลลัพท์เหมือนกันเสมอไป หนำซ้ำพลิกล็อคพลาดท่าเจ๊งได้ด้วยซ้ำ คำถามคือ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ผมมองแบบนี้ ความคิดและหลักการเรียนรู้ของพวกเราทุกคนถูก "ขึ้นโครง" มาตั้งแต่ในโรงเรียน ซึ่งอย่าเพิ่งตีความเลยเถิดนะอ่านให้จบก่อน การเรียนและระบบโรงเรียนแม้จะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็มีข้อดีในตัวของมัน แต่หนึ่งในข้อสังเกตที่เห็นจากผลผลิตระบบโรงเรียนคือ เจอ 1 โจทย์ แก้ด้วย 1 วิธี เพื่อให้ได้ 1 ผลลัพท์ ซึ่งสำหรับการสอบวัดผลก็ใช่เลย แต่กับทุกคนที่พ้นโรงเรียนมานานพอจะเข้าใจว่า เจอ 1 โจทย์ แก้ได้หลายวิธี แล้วแต่ว่าเป็น ผลลัพท์กับใคร ซับซ้อนขึ้นแต่อธิบายโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า ดังน้ันการแกะโมเดลความสำเร็จคนๆ นึง เราต้องแกะให้ทะลุก่อนว่า คนๆ นั้นตีความ ความสำเร็จ (ผลลัพท์) ไว้อย่างไร แล้วจึงค่อยมาฟอร์มเป็น สูตรสำเร็จ
และที่ตลกร้ายที่สุดคือ เราส่วนใหญ่ตีความว่า การลงทุนหุ้น คือ วิธีการสร้างความร่ำรวยความมั่งคั่ง เพราะดูจากผลลัพท์ก็น่าจะแบบนั้น แต่นั่นใช่โจทย์ของคนที่เราไปแกะวิธีการเขามาใช้รึเปล่า เพราะพอผมยิ่งศึกษายิ่งเห็นว่าไม่ใช่ ให้สังเกตนักลงทุนที่คร่ำหวอดมานานจริงจะไม่ได้พูดเรื่องกำไรหุ้นเท่าไร และไม่ใช่เพราะเหนือเงินแล้วหรือกลัวดูไม่ดีนะ แต่ผมว่านั่นไม่ใช่โจทย์ที่เขาเข้ามาลงทุนจริงๆ ในมุมมองผมนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ โจทย์หลัก ของเขาคือ "การสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว" ซึ่งถ้ามองในวิธีของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า มันใช่เลย เลือกกิจการที่มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง หนี้ต่ำ มีปันผล มีศักยภาพต่อยอดธุรกิจได้ ในราคาหุ้นที่ไม่ได้สูงเกินไป ซื้อถูกได้ยิ่งดี ส่วนความร่ำรวยจากกำไรส่วนต่างราคาหุ้นนั้นคือ ผลพลอยได้
นั่นคือส่วนที่ต้องมองให้เหมือนต้นแบบโมเดลความสำเร็จ ซึ่งการเข้าใจโจทย์และรู้ "สูตรสำเร็จ" นั้นเปรียบเหมือน ศาสตร์ในการลงทุน อ่านลักษณะกิจการ อัตราส่วนทางการเงิน ฯลฯ แต่อย่างที่เขียนไว้ก่อนหน้า ก๊อปปี้สูตรสำเร็จมาตรงๆ ก็ใช่ว่าจะสำเร็จ มันต้องผนวกกับแนวคิดอีกชุดด้วย คือ ศิลป์ในการลงทุน ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดถึงน้อย เพราะมันจับต้องลำบากกว่าและไม่มีทฤษฏีหรือโมเดลความสำเร็จมารองรับ แต่ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันเลย มุมมองผม ศิลป์ในการลงทุนคือการวิเคราะห์ 3 เรื่องประกอบด้วย 1 ช่วงเวลา และ 2 มอง
1 ช่วงเวลา คือ เข้าใจว่าเกมตลาดหุ้นใช้เวลา ไม่ใช่แค่จับหุ้นถูกตัวแค่ 1-2 ปี และเมื่อเวลาผ่านไป ตัวแปรก็เปลี่ยน อาทิ หลังปี 1980 FED เริ่มลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ พุ่งหลายสิบเท่าตัวใน 30 กว่าปีที่ผ่านมา.. หลายสิบปีก่อนหุ้นอาจต้องมีปันผล 6-8% PE ไม่เกิน 15 เท่า ถึงจะดูน่าสนใจ แต่ปัจจุบันต้นทุนทางการเงินต่ำมากและต่ำมานาน ตัวแปรนี้เปลี่ยน.. ศิลป์ในที่นี้คือเข้าใจว่าต้องปรับตัวแปรสูตรสำเร็จที่ใช้ให้ทันกับปัจจุบัน ไม่งั้นใช้ไปเดี๋ยวพาลจะไม่สำเร็จ
2 มอง มองแรก คือ มองพฤติกรรมผู้เล่นรายอื่น สังเกตดีๆ ตลาดหุ้นแทบจะเปิดสำรับไพ่ให้เราดูตลอด ดังนั้นศิลป์ในที่นี้คือการมองให้ถูกที่ นักลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนจะต้องยึดกับตัวแปรสักอย่าง อาทิ หุ้น ADVANC ช่วงเติบโต 3G (ปี 2010-2013) ราคาถูกขับเคลื่อนด้วยกำไร แต่ช่วงหยุดเติบโต ราคาจะยืนด้วยอัตราเงินปันผล แปลว่าเมื่อราคาลงจนอัตราเงินปันผลแตะประมาณ 8% หุ้นมักดีดกลับหรือหุ้น PTT ธุรกิจมีส่วนแบ่งการตลาดขายน้ำมันสูงสุดแต่อยู่กำหนดราคาไม่ได้ ผลคือนักลงทุนมักไม่ให้พรีเมียมราคาหุ้นกับการเติบโตเท่าไร เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่ม (ROIC) จะต่ำ แต่ในทางกลับกันธุรกิจนี้ก็จะไม่เจ๊งไม่ว่าราคาน้ำมันจะเป็นเท่าไรก็ตาม ราคาหุ้นเหมือนจะวิ่งตามราคาน้ำมันโลก แต่ดูเทียบกันจริงๆ สัมพันธ์กันในระดับหนึ่งเท่านั้น กรณีนี้นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับมูลค่าทางบัญชีกิจการ แปลว่าเมื่อราคาลงมาเท่ากับมูลค่าทางบัญชีฯ หุ้นมักดีดกลับ เรื่องนี้ใช้เวลา ตลาดหุ้นจะค่อยๆ เปิดไพ่ให้ดูเอง
ส่วนมองที่ 2 คือ มองตัวเอง โจทย์การเงินเราต้องตอบโจทย์ชีวิตเราด้วย เพราะสุดท้ายโมเดลความสำเร็จ หรือสูตรสำเร็จ นั่นมันของคนอื่นเขา.. ตัวแปรชีวิตมันไม่เหมือนกัน อย่าไปก๊อปมาดื้อๆ และหวังผลเหมือนกัน ถ้าวิธีนั้นมันใช้ได้ทุกคนที่อ่านหนังสือของวอเรน บัฟเฟตต์ ก็ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นกันทุกคนแล้ว รู้ศาสตร์การลงทุนให้แจ้ง และรู้ตัวเองมากพอที่จะประยุกต์ศิลป์มาใช้ให้ตรงกับโจทย์การเงินของเรา ให้เวลากับมันมากพอ สุดท้ายเราก็จะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ด้วย โมเดลความสำเร็จ ในแบบของเราครับ