ตลาดหุ้นจีนทรุดสวนเศรษฐกิจเติบโตในไตรมาสแรก
ภาพรวมของการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีน หลังจากต้นปีที่ปรับตัวขึ้นแรง แต่เมื่อเกิดมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ดัชนี Hang Seng Index ปรับตัวลดลง -12.21% ส่วนในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ ดัชนี China A50 และ CSI 300 ปรับตัวลงมาแล้ว -15.14% และ -17.56% ตามลำดับ ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรง แต่ภาพรวมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ยังคงสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกปี 2565 GDP เติบโต 4.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และขยายตัว 1.3% เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 (QoQ) แม้ภาคบริโภคเอกชนฟื้นตัวกลับมาได้จากแรงส่งช่วงเทศกาลตรุษจีนและโอลิมปิกที่ปักกิ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี แต่เศรษฐกิจในเดือนมีนาคมต้องสะดุดลงจากการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆของหลายมณฑล นำโดยเซี่ยงไฮ้ เซิ่นเจิ้น ฯลฯ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนสะดุดลงจนถึงเวลานี้ โดยภาพรวมการบริโภคของจีนสะท้อนผ่านตัวเลขภาคบริการทั่วไปหดตัวแรงในเดือนมีนาคม ดัชนี PMI Service Caixin (ผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการ) ในธุรกิจขนาดเล็ก ลดลงมาระดับ 42 จากกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งกลับมาต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้งและยังหดตัวในรอบ 7 เดือนย้อนหลังด้วย ตัวเลข Retail Sales ติดลบ 3.5%YoY หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่โควิดระลอกแรกปี 2563 แม้แต่ยอดค้าปลีกออนไลน์ชะลอตัว 3%YoY และลดลงจาก 2 เดือนแรกที่มีอัตราการเติบโต 12.3%YoY ด้านภาคการผลิตก็ยังเติบโตดี แม้เผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ในไตรมาสแรก ดัชนี PPI (ดัชนีราคาผู้ผลิต) อยู่ระดับสูง 8.3-9.1%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันและโลหะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังมีมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโควิดระลอกใหม่นี้ในเขตเศรษฐกิจสำคัญหลายเมืองที่กดดันภาคการผลิต ถือเป็นแรงกดดันใหม่ต่อโรงงานในจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ของโลก เนื่องจากโรงงานต่างๆ จำเป็นต้องหยุดผลิตสินค้า และไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ในช่วงล็อกดาวน์ ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อ ดัชนี CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภค) ของจีน เดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.5% ปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากมกราคมและกุมภาพันธ์ที่อยู่ +0.9% ผลพวงมาจากราคาน้ำมันพุ่งสูงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนภาคการลงทุน-การส่งออกแข็งแกร่ง
มาดูเครื่องยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดีของจีนได้แก่ ภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ยังคงเติบโต 9.3%YoY โดยเฉพาะภาคธุรกิจและบริการที่รัฐสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคที่มีนโยบาย Technological self-reliance ส่งผลให้ภาคการผลิตสินค้าไฮเทคยังขยายตัวสูง และยังมีการลงทุนในภาคการบริการสุขภาพและการศึกษาที่ขยายตัวขานรับนโยบาย Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ภาคการค้าระหว่างประเทศยังสามารถขยายตัวถึง 10.7%YoY มูลค่าแตะระดับ 9.42 ล้านล้านหยวน หลังเริ่มทยอยใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดช่วงปลายมีนาคม จนกระทบต่อการจัดส่งล่าช้าของท่าเรือหลายแห่งและภาคการผลิตเพื่อส่งออกก็ตาม โดยมาจากภาคส่งออกมูลค่า 5.23 ล้านล้านหยวน เติบโต 13.4%YoY และภาคนำเข้ามูลค่า 4.19 ล้านล้านหยวน หรือขยายตัว 7.5%YoY กลุ่มคู่ค้าหลักๆ อยู่ในอาเซียน ตามด้วยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ขณะเดียวกันพบว่าการค้ากับกลุ่มประเทศ Belt and Road Initiative มีการเติบโตสูงถึง 16.7%YoY ทีเดียวมาตรการ Zero Covid กระทบคนว่างงานสูง
ภาพที่น่าห่วงของจีนในเวลานี้คือปัญหาการจ้างงานที่ลดลง จากผลกระทบโควิดระลอกใหม่ หลังจากเดือนมีนาคมอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 5.8% จาก 5.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 2564 ที่มีอัตราว่างงาน 4.9 – 5.1% โดยมาจากนักศึกษาจบใหม่ (16-24 ปี) เพิ่มขึ้น 16.0% จาก 15.3%ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งหมายถึงการไม่มีรายได้ไว้จับจ่ายใช้สอย กระทบกับการบริโภคในครัวเรือน แน่นอนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการ Zero Covid ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลจีน และยังมีปัญหาเก่าของหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้ที่ยังทะยอยเกิดขึ้นอยู่ ด้านการเมืองในประเทศที่จะมีการเลือกประธานาธิบดีใหม่ในครึ่งหลังของปีนี้ ล้วนมีนัยต่อภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวข้า ภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และโลจิสติกส์ของผู้ส่งออก ด้านปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนในระยะสั้นบูสท์เศรษฐกิจเต็มแมกซ์ทั้งการเงิน-การคลัง
แต่ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังมีเครื่องมือใช้กระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งอัดทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงิน ภายใต้สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้ยังมีช่องว่างในการใช้เครื่องมือนโยบายต่างๆ ทางการจีนพร้อมดูแลทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ล่าสุด ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้กลับมาใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2565 และลดสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 19.5% จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 530 พันล้านหยวน ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในปีนี้หลังจากได้ปรับลดมา 2 ครั้งในปี 2564 รัฐบาลจีนจัดงบประมาณรายจ่ายปี 2565 เพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านหยวน โดยตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 2.8% ของ GDP เท่ากับปี 2564 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ ลดภาษีให้ภาคเอกชนและประชาชน ส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แม้ว่าบางเมืองที่ถูกล็อกดาวน์อาจจะต้องชะลอแผนลงทุน แต่ยังมีอีกหลายเมืองที่มีความเสี่ยงโควิดอยู่ระดับต่ำ จึงสามารถเริ่มดำเนินโครงการไปก่อนได้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากมีการยกเลิกล็อกดาวน์แล้ว แนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติทั้งภาคการบริโภคอาจจะเห็นแรงอั้นการใช้จ่าย และภาคการผลิตที่กลับมาสู่ภาวะปกติ จำเป็นต้องมีการจ้างงาน เพราะอย่าลืมว่า จีนยังคงเป็นโรงงานผลิตใหญ่ของโลก ดังนั้นทั้งภาคการลงทุนและภาคส่งออกยังแข็งแกร่งอยู่ และไม่แน่ว่าอาจเห็นเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แรง คล้ายภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงหลังโควิดคลี่คลายเมื่อปีที่แล้ว ผมอยากให้ติดตามแนวโน้มว่า ในปีนี้รัฐบาลจีนจะประคองเศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย +5.5% หรือว่า GDP จีนอาจต่ำกว่า 5% ตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักของโลกเริ่มปรับลดคาดการณ์ลงมาแล้วหรือไม่ 3 สิ่งที่ควรทำเพื่อให้พอร์ตเติบโตในอนาคต แต่แน่นอนครับ ผมเข้าใจความรู้สึกนักลงทุนดี เวลาที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านลบรุมเร้า และเห็นพอร์ตแดงๆ นานเป็นเดือนๆ ก็ต้องมีหวั่นไหวเหมือนกัน สารพัดคำถามก้องในหัวใจ มันจะลงต่ออีกไหม? ตกต่ำสุดพอหรือยัง? เราจะเอายังไงต่อดี? ผมก็อยากขอแชร์ความคิดวิธีรับมือกับตลาดหุ้นขาลง สิ่งแรกที่ทำ คุณอย่าปล่อยให้อารมณ์คล้อยตามตลาดขาลงครับ ควรกลับมา Review ทบทวนข้อมูลสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่ ผมขอย้ำ ‘อย่าเผลอปล่อยใจไปใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ’ ถ้านักลงทุนสาย VI มีหุ้นอยู่ในพอร์ต ก็จะสำรวจกิจการที่ลงทุนอยู่ว่า ยังขายดีมีลูกค้ามากมั้ย ดูผลประกอบการควบคู่ไปด้วย ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์การลงทุนต่างๆ ว่าสถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มต่อเพิ่มเติม สิ่งที่สอง Rethink ทบทวนแนวคิดการลงทุน และติดตามหุ้นที่ลงทุนอยู่เสมอ เพราะช่วงตลาดหุ้นตกยาวแบบนี้ เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ทำความเข้าใจอีกครั้งว่าคุณลงทุนถูกต้องตามหลักการหรือไม่ แล้วนักลงทุนระดับโลกที่ลงทุนแบบเดียวกับคุณมีวิธีรับมือตลาดหุ้นขาลงอย่างไรบ้าง และการติดตามข่าวสารเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ลงทุนอยู่และทิศทางในอนาคต เข้าใจที่มาที่ไปผลกระทบของราคาที่ผันผวน ก็จะตั้งหลักถูกครับ หากมองเป็นผลกระทบระยะสั้น และเห็นเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ บางคนก็อาจเห็นโอกาสลงทุนในหุ้นตัวอื่นหรือธุรกิจอื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าหุ้นเดิมในอนาคต หลังตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาขึ้นก็ได้ สิ่งที่สาม Rebalance หรือปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวคุณ หรือ ‘ไม่ไหวอย่าบอกไหว’ ครับ แม้ว่าตลาดหุ้นขาลงจะเป็นโอกาสดีให้ช้อนหุ้นถูกก็ตาม แต่ถ้าใจคุณไม่ไหวก็ไม่ควรฝืนลงทุน ยิ่งถ้าลงทุนแล้วเครียดจนถึงกับต้องเอาเงินมารักษาตัว ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณแบกความเสี่ยงสูงเกินกว่าจะรับไหวแล้ว ผมขอให้จำไว้เสมอว่า ‘คุณมาลงทุนเพื่อทำเงินให้งอกเงย ในระดับความเสี่ยงที่รับได้’ และการลงทุนที่ดีที่สุด คือ ลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ เพราะสินทรัพย์พวกนี้จะอยู่กับคุณไปอีกหลายปี และแน่นอน ถนนการลงทุนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา ซึ่งปู่ Warren Buffett บอกไว้เสมอว่า หากสร้างพอร์ตลงทุนให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเจอกี่มรสุมกี่วิกฤตการณ์ก็จะสามารถผ่านและอยู่รอดไปได้ ยิ่งปัจจุบัน ในโลกมีสินทรัพย์ลงทุนให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น อย่างหุ้นกู้หรือพันธบัตรก็ให้ผลตอบแทนน่าพอใจในระดับความเสี่ยงที่ต่ำลงมา ช่วยสร้างเงินให้งอกเงยในแบบที่คุณสบายใจรับความเสี่ยงไหว ยกตัวอย่างง่ายๆ แผนการลงทุน Global ETF ที่ตอบโจทย์ รับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ก็มีให้เลือกหลายสูตร ถ้าสูตรแบบพอเพียงเน้นพันธบัตร 80% หุ้น 20% ก็รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 5.39% ไม่ได้ขี้เหร่เลยนะครับ สูตรแบบสมดุลลงทุนพันธบัตรและหุ้นอย่างละครึ่งก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8.61% และสูตรเติบโตเน้นพันธบัตร 20% หุ้น 80% เชื่อไหมว่าหุ้นทั่วโลกตก แต่ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 11.27% ได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจะลงทุนต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดกันสักนิดนะครับ สำหรับนักลงทุนที่ใจบางๆ ผมอยากให้กำลังใจทุกท่านครับ ไม่ว่าคุณจะไปต่อ ขอดูท่าทีไปก่อนอีกระยะหนึ่ง หรือขอพอแค่นี้ ผมขอให้คุณอย่าลืมดูแลใจของตัวเองเป็นอันดับหนึ่งครับ และขอให้มีหัวใจแข็งแกร่งดุจหินผาให้สามารถฝ่าฟัน Perfect Storm ทุกรอบไปได้ตลอดรอดฝั่งครับ บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ซีอีโอ Jitta Wealthไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine