ภาพรวมการลงทุนในปี 2562 ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงปลายปี 2561 ที่อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ติดลบเป็นส่วนใหญ่จากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่สร้างผันผวนให้กับเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก
ในครึ่งปีแรกของปี 2562 การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีทิศทางที่เป็นบวกส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มกลับมาสดใส แต่แล้วในไตรมาส 3 ภาพรวมการลงทุนก็กลับเป็นลบอีกครั้งจากความยืดเยื้อและไร้ข้อสรุปของการเจรจาการค้าดังกล่าว ประกอบกับประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ประเด็นการแยกตัวของประเทศอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และการประท้วงบนเกาะฮ่องกงเพื่อเรียกร้องการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศจีน ทั้งหมดนี้สร้างความผันผวนให้กับการลงทุนเป็นระยะๆ จนมาถึงปัจจุบันก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า
“VUCA” : Volatility Uncertainty Complexity และ Ambiguity
สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 คาดว่าจะยังคงมีความผันผวนสูงโดยประเด็นสงครามทางการค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันภาพรวมการลงทุนซึ่งคาดว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้และจะยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนแก่การลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
อีกประเด็นสำคัญคือการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกดดันให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโลกคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
การประชุม FOMC ในเดือนกันยายนและธันวาคมนี้ นักลงทุนจับตามองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศปรับตัวลดต่ำลงจนเกิดภาวะผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น (Inverted yield curve)
สะท้อนความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ อาจชะลอตัวสู่ภาวะถดถอยโดยล่าสุดตัวเลขดัชนีฝ่ายจัดซื้อผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดย ISM ของสหรัฐฯ ก็ประกาศออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด และไม่ใช่เพียงความกังวลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เท่านั้นแต่ยังกระจายไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก อีกทั้งหากประเทศอังกฤษต้องแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปภายในเดือนตุลาคมนี้แบบไม่มีข้อตกลง (no deal Brexit) ก็อาจส่งผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปด้วย
แม้ว่าตลาดทุนทั่วโลกในปัจจุบันจะถูกกดดันโดยปัจจัยลบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามโอกาสในการลงทุนนั้นมีอยู่เสมอและโอกาสจะเป็นของผู้ที่วางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันตลาดทุนได้รับรู้ปัจจัยลบต่างๆ นี้ไปในราคาสินทรัพย์แล้วพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดตอบสนองต่อปัจจัยลบเดิมๆ ด้วยความผันผวนที่ลดลงและความสัมพันธ์ระหว่างประเภทสินทรัพย์กลับเข้าสู่ภาวะที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาพบการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปมาระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดอยู่ในสถานะเปิดรับความเสี่ยง (risk on) และปิดรับความเสี่ยง (risk off) ดังนั้น การกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะช่วยให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนอยู่เสมอ แต่หากลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว นักลงทุนอาจต้องเผชิญกับความผันผวนของผลตอบแทนในพอร์ทการลงทุนอย่างมาก
กระจายความเสี่ยงหุ้น
ดังนั้นการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ นักลงทุนยังสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้แต่ควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารทางเลือกและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยปรับน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ แบ่งสัดส่วนเงินสดไว้บ้างเพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนเมื่อเห็นโอกาส หลีกเลี่ยงการจับจังหวะตลาดเพื่อซื้อขายบ่อยๆ ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนไป โดย KTBST มีคำแนะนำการลงทุนให้กับนักลงทุน ด้วยการกระจายไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้
การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง KTBST แนะนำให้ลงทุนในหุ้นโดยกระจายลงทุนในหุ้นคุณภาพทั่วโลกที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง มีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและ/หรือมีการจ่ายเงินปันผล หรือเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ซึ่งหุ้นลักษณะนี้มักจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยและยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว โดยให้น้ำหนักการลงทุนเพิ่มกับประเทศจีนและอินเดียเนื่องจากมีอัตราการเติบโตของประเทศสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อีกทั้งรัฐบาลหรือธนาคารกลางยังมีความคล่องตัวที่จะใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึง Valuation ยังน่าสนใจโดยปัจจุบันซื้อขายกันที่ P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตย้อนหลัง 5 ปี
สำหรับการลงทุนในหุ้นไทย KTBST แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงและมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังอาจต้องเผชิญภาวะชะลอตัวต่อไปอีก ซึ่งนโยบายกระตุ้นของภาครัฐส่วนใหญ่เน้นไปที่ภาคการบริโภค แต่ยังขาดนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนและช่วยเหลือภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากทั้งประเด็นสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง
สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย KTBST แนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) เพื่อเพิ่มผลตอบแทน และลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และเน้นกระจายภูมิภาคลงทุนโดยอาจลงทุนผ่านกองทุนประเภทตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond)
การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Asset) อาจพิจารณาลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจากแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลงและยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่นักลงทุนมักใช้เลี่ยงความเสี่ยงในตลาด อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาทองคำมีความผันผวนค่อนข้างสูงและยังเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดใดๆ การลงทุนในทองคำจึงควรเป็นสัดส่วนน้อยของพอร์ตเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงเท่านั้น
แบ่ง 3 ตามความเสี่ยง
การแบ่งตามความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้จัดพอร์ทการลงทุนตามผลตอบแทนที่คาดหวัง ได้แก่
พอร์ตความเสี่ยงต่ำ (Conservative Portfolio) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารเทียบเท่าเงินสด ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ในสัดส่วนรวมกัน 80% หุ้น 15% สินทรัพย์ทางเลือกและทองคำ รวมกันในสัดส่วน 5% พอร์ตลักษณะนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงในการขาดทุนได้ต่ำ คาดหวังผลตอบแทนสม่ำเสมอ
พอร์ตความเสี่ยงปานกลาง (Moderate Portfolio) เน้นลงทุนสินทรัพย์รักษาสมดุลระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ 40% และหุ้น 40% ที่เหลือกระจายในตราสารเทียบเท่าเงินสด 10% และสินทรัพย์ทางเลือก 7% และทองคำ 3% เหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในระดับปานกลางและยอมรับการขาดทุนได้พอสมควร
พอร์ตความเสี่ยงสูง (Aggressive Portfolio) เน้นลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง 80% แบ่งเป็น หุ้น 65% สินทรัพย์ทางเลือก 10% และทองคำ 5% และลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ ตราสารหนี้ และตราสารเทียบเท่าเงินสด รวม 20% พอร์ตการลงทุนนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงและผลขาดทุนได้สูง และคาดหวังผลตอบแทนที่สูง
ดังนั้น การกระจายสินทรัพย์ลงทุนและปรับกลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ตามสภาวะตลาดจะช่วยจำกัดผลกระทบจากปัจจัยลบที่มีต่ออัตราผลตอบแทนของพอร์ตและยังมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเงินลงทุนได้ในระยะยาวอีกด้วย
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานกรรมการบริหาร
บล. เคทีบี ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) KTBST