นาฬิกากับการลงทุน: Guideline สำหรับนักสะสม - Forbes Thailand

นาฬิกากับการลงทุน: Guideline สำหรับนักสะสม

ปัจจุบันการลงทุนลักษณะสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือการสะสมนาฬิกา ซึ่งผมขอแบ่งปันความเห็น ‘ส่วนตัว’ ประกอบบทความโดยผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการนำข้อมูลไปใช้ด้วยตนเอง

นาฬิกา: กับดักทางการเงิน?

นักสะสมหรือนักลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกมือใหม่หลายท่านมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการลงทุนกับนาฬิกาตามกระแสหรือแบรนด์นิยมจะไม่ขาดทุน ซึ่งต้องบอกว่าส่วนใหญ่พูดโดยขาดความเข้าใจและอาจมีคำจำกัดความของ “กำไร” ไม่ถูกตามนิยามการลงทุน จนเป็นที่มาของคำถามว่านาฬิกาเป็นกับดักทางการเงินหรือไม่ หากท่านลงทุนโดยปราศจากทิศทางที่ชัดเจน หาข้อมูลไม่ดีพอ และหรือ ขาดความสามารถในการชั่งใจระหว่าง ความชอบส่วนตัว กับ ความต้องการของตลาด ในปัจจุบันและอนาคต การลงทุนในนาฬิกาเป็นกับดักทางการเงินอย่างแน่นอน แต่หากท่านมีความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้ถึงความต้องการในคอลเล็คชั่นของตัวเองและได้ครอบครองนาฬิกาที่มีความพิเศษหรือหายากเมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้ากับความต้องการของตลาด คำกล่าวนั้นอาจไม่เป็นจริง เริ่มจากความชอบ การเริ่มต้นเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประเภทอื่น หากมาจากความชอบเป็นตัวตั้งต้น มักเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เพราะความชอบทำให้เกิดการศึกษาหาความรู้อย่างถ่องแท้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นธุระ แต่ไม่ใช่ความชอบในลักษณะที่เห็นคนอื่นใส่แล้วเท่อยากใส่บ้างหรือตามกระแสสมัยนิยม เพราะส่วนใหญ่มักไม่นำไปสู่การสร้างกำไรได้ และท่านอาจเป็นผู้ที่ถูกทำกำไรบนความนิยมแรกเริ่มมาแล้ว หลังจากชอบแล้วควรกำหนดงบประมาณหรือตั้งกฎเกณฑ์ในการลงทุนของตัวเองไว้ เช่น เงื่อนไขและจังหวะในการซื้อ นอกจากนี้ควรจำกัดจำนวนการสะสม เช่น จะซื้อเพิ่มเมื่อพร้อมที่จะปล่อยเรือนที่มีออกไป เพราะหากท่านไม่ตั้งเป้าหมายที่เข้มงวด การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอาจเลยเถิดไปตามกระแสที่มีการลากตามกันไปเสมือนติดดอยหุ้นราคาแพง ถัดมาต้องรู้จักตัวเองว่าซื้อนาฬิกามาเพื่ออะไร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทางเลือกว่าควรจะซื้อของใหม่ซื้อของมือสอง ซื้อทั้งสองอย่าง หรือซื้อของค้างสต็อก ต้องตอบให้ได้ว่าตัวเองเป็นนักสะสม เป็นนักลงทุน หรือเป็นพ่อค้า เพราะ... “นักสะสม” รู้จักประวัติความเป็นมาของนาฬิกาที่สนใจในเชิงลึก อาจให้ความสำคัญของราคาขายต่อน้อย แต่เน้นได้ของที่มีคุณค่าและหรือหายาก “นักลงทุน” รู้จักประวัติความเป็นมาของนาฬิกาที่ครอบครองพอประมาณ ซื้อมาแล้วจะเก็บอย่างดีโดยจะซื้อของที่คนคิดว่ามีมูลค่าและหาโอกาสขาย “พ่อค้า” รู้จักหลายยี่ห้อและเกือบทุกรุ่นที่ได้รับความนิยม รู้ราคาตลาด ให้ความสำคัญกับราคาขายต่อเป็นเรื่องหลัก ไม่ซื้อของใหม่และมีความยึดติดในสินทรัพย์ต่ำเพราะเป็นอาชีพ นอกจากนี้ การสะสมนาฬิกาควรมีสังคมที่เปิดโอกาสในการติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักสะสมคนอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะในโลกออนไลน์มีสังคมของนักสะสมนาฬิกาอยู่มากมายทั้งในและต่างประเทศ อีกหนึ่งเรื่องที่นักสะสมจะต้องรู้และเตรียมใจคือ นาฬิกามีต้นทุนในการดูแลที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะนาฬิกาแบรนด์ชั้นสูงที่มีความซับซ้อนของกลไก (complications) ที่มากกว่าการบอกเวลา แนวทางการสะสม หากพิจารณาว่าการเป็น “นักสะสม” เหมาะกับตน อาจสร้างคอลเล็คชั่นผ่าน 4 แนวทางอย่างสังเขปดังนี้
  1. สะสมตามแบรนด์หรือยี่ห้อ การสะสมลักษณะนี้จะเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดโดยอาจเริ่มจากแบรนด์ที่ชอบและตามมาด้วยรุ่นที่สนใจของแบรนด์นั้น
  2. สะสมตามรูปแบบการใช้งานหรือแนวทางการออกแบบ เช่นสะสมตามประเภทหลักของนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นแนว dress หรือ sport ประเภทรอง เช่น นาฬิกา sport ที่แบ่งเป็นแบบ นักบิน (pilot) และหรือ นักดำน้ำ(divers)
  3. สะสมตามประเภทของกลไกและความซับซ้อน ซึ่งอาจเก็บตามระบบการทำงานที่เพิ่มเติมจากการบอกเวลา เช่น ระบบทูบิยอง (Tourbillon) ระบบการตีบอกเวลาด้วยเสียง (Minute Repeater) ระบบปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar) ระบบจับเวลาแบบแยกวินาที (Split-Second Chronograph) เป็นต้น
  4. สะสมตามช่วงเวลาและยุคสมัย การสะสมแนวนี้เป็นการสะสมนาฬิกาโบราณซึ่งมีหลายยุคหลายสมัยที่ได้รับความนิยม เช่น ยุคศิลปะอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ช่วงปี 1890-1910 ยุคศิลปะอาร์ตเดคโค (Art Deco) ช่วงปี 1920-1930 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1939-1945 ที่จะเน้นนาฬิกาทหาร หรือนาฬิกายุคปี 1960-1970 ที่มีการออกแบบนาฬิกาเพื่อกิจการในอวกาศและการบิน หรือการออกแบบที่เน้นไปกับกิจกรรมการแข่งขันด้านความเร็วไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถหรือเรือ
ต้องบอกว่าปัจจุบันบนกระแสยุควินเทจ ทำให้ผู้มั่งคั่งชาวไทยหลายคนหันมาสนใจแนวทางสะสมนาฬิกายุคปี 1960-1970 เป็นอย่างมากและทำให้ราคานาฬิกายุคนี้จากเดิมที่มีราคาไม่สูงนัก ปัจจุบันในบางรุ่นพุ่งขึ้นถึง 200-500% ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนาฬิกาจับเวลา (chronograph) และนาฬิกาดำน้ำ (divers) จากแบรนด์ และรุ่น ดังต่อไปนี้ (ภาพประกอบด้านล่าง) การซื้อนาฬิกามือสอง แนวทางการซื้อนาฬิกามือสองอาจพิจารณาจากเกณฑ์คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
  1. แบรนด์ ความซับซ้อน สภาพ รวมถึงเรื่องราวของนาฬิกา ซึ่งถึงแม้ผู้ผลิตจะมีความสำคัญแต่ก็ไม่ได้หมายความว่านาฬิกาแบรนด์เนมทุกยี่ห้อทุกรุ่นของผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงจะมีราคาที่ดีทั้งหมด
  2. การตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของผู้ขายรวมถึงคุณภาพและเงื่อนไขของสินค้า
  3. ความครบของกล่อง เอกสารแสดงถึงความเป็นเจ้าของและการรับประกัน
  4. นาฬิกาที่มีราคาสูงควรซื้อจากคนรู้จักและคุ้นเคย
  5. ถ้าซื้อออนไลน์ ควรตรวจสอบอ่านกระทู้หรือข้อคิดเห็นที่น่าเชื่อถือ และเวลาซื้อต้องซื้อกับตัวบุคคล
  6. การประมูลนาฬิกาควรเป็นทางเลือกสุดท้ายนอกจากมีประสบการณ์จริงๆ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยให้พิจารณามากบนโอกาสที่อาจถูกย้อมแมวสูง
สมการลงทุนนาฬิกา ผมแบ่งนาฬิกาออกเป็น 5 กลุ่มแบรนด์ และ 6 ประเภทของนาฬิกา ซึ่งเมื่อจับคู่แบรนด์กับประเภทแล้วจะสามารถประเมินสภาพคล่อง และโอกาสในการทำกำไรได้อย่างสังเขป การจัดกลุ่มแบบเบื้องต้นนี้ อาจช่วยให้ท่านพิจารณาแนวทางการสะสมหรือลงทุนที่เหมาะสมกับตัวท่านเองได้ (รายละเอียดตามภาพประกอบด้านล่าง ) การสร้างผลกำไร เป้าหมายของการลงทุนทุกประเภท คือการสร้างผลกำไร ซึ่งกำไรจากการลงทุนในของรักของสะสม สามารถพิจารณาผ่านบริบทและมุมมองดังต่อไปนี้
  1. กำไรจากการเป็นเจ้าของหรือการใช้งานสินทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะตีค่าอย่างไร พูดง่ายๆ คือความสุขทางใจ
  2. กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ โดยราคาตลาด ณ ปัจจุบัน > ราคาที่ซื้อ หรืออาจเทียบเคียงว่าเป็นกำไรทางบัญชี
  3. กำไรจากการขายสินทรัพย์ โดยราคาที่ขายได้ > ราคาซื้อ + ค่าดูแลรักษา + มูลค่าเงินตามเวลา (time value of money) โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น กำไรจากการลงทุนที่แท้จริง
จะเห็นได้ว่า กำไรตามบริบทการลงทุนอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม หากยึดหลักเบื้องต้นในการลงทุนผ่านสินทรัพย์มือสองหรือของโบราณโดยศึกษาข้อมูลทิศทางของสินทรัพย์ที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ เข้ากลุ่มสมาชิกสังคมเพิ่มเพื่อนเพิ่มความรู้และเปิดตลาดในการแลกเปลี่ยน อย่างน้อยท่านน่าจะได้รับความสุขทางใจจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ครับ
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายตัวแทนประกันชีวิตเอไอเอ ประเทศไทย