ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเป็นปีทองของการลงทุนอย่างแท้จริง ตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ปรับเพิ่มขึ้น 34% ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 36% ทองคำปรับเพิ่มขึ้น 23% และราคาน้ำมัน (Nymex) ปรับเพิ่มขึ้น 58% ซึ่งไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเดียว แต่เป็นผลจากสภาพคล่องที่ล้นโลกจากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกด้วย
ขณะที่การลงทุนในปี 2561 นับเป็นปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ในจุดที่ถูก หรืออาจบอกได้ว่าแพงในระดับหนึ่ง โดยดูได้จากตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในโลกขึ้นมาซื้อขายกันที่ PER เกินกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา และบางตลาดหุ้นขึ้นมาซื้อขายในระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนนอกจากมองไปที่ชนิดของสินทรัพย์ (หุ้น ตราสารหนี้การลงทุนทางเลือก) จึงจำเป็นต้องมองไปที่สินทรัพย์เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ว่าหุ้นจะเป็นของประเทศไหน หุ้นของบริษัทอะไรตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาว หรือสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดไหนด้วย เพื่อให้การกระจายความเสี่ยงการลงทุนของพอร์ตการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดหุ้นโลกจะปรับเพิ่มขึ้นมามากพอสมควร แต่มุมมองเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง Consensus ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2561 ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 3.6% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ที่ระดับ 3.1% ซึ่งไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยโลกจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และธนาคารกลางทั่วโลกก็ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งดึงเงินออกจากระบบ ทั้งยังเชื่อว่าตลาดหุ้นโลกยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อและยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ให้น้ำหนักการลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้วควรระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรงจนระดับ PER และ PBV ขึ้นมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่สนใจในตลาดหุ้นยุโรปมากกว่าที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มูลค่าถูกกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ โดย PER ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ PBV สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีไม่มาก ในส่วนตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ตลาดหุ้นอินเดีย (BSE100) มีความน่าสนใจด้วยโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2561 ในขณะที่ PER ต่ำกว่าจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ด้านตลาดหุ้นไทย แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 17% ในปี 2560 แต่ยังถือว่า Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีหุ้นโลก (MSCI World Index) ปรับเพิ่มขึ้น 25.5% ในขณะที่ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (MSCI Emerging Index) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 39.5% และหากพิจารณาตลาดหุ้นของประเทศเพื่อนบ้านเทียบเคียง เช่น ตลาดหุ้นอินโดนีเซียขึ้น 21.3% และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ขึ้น 23.0% ซึ่งต่างชาติซื้อสุทธิในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทำให้เงินส่วนใหญ่จากต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า เพราะมองว่าคุ้มค่าความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้น อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีที่มีแนวโน้มลดลงต่ำมาก โดยอาจจะต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในบางช่วงจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ต่างชาตินำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ในแง่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยถือได้ว่าฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีมาตั้งแต่ปี 2560 และคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2561 จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่เติบโตจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตอยู่ แม้ว่าฐานจะสูงแล้วก็ตามดังนั้น บล.กสิกรไทยเชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อโดยเป้าหมาย SET Index ตามปัจจัยพื้นฐานปี 2561 อยู่ที่ 1835 จุด ซึ่งถือว่าไม่มี upside จากระดับดัชนีปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากการทำสถิติย้อนหลังในช่วงที่สภาพคล่องในตลาดสูงมาก และกระแสเงินต่างชาติที่น่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้นพบว่า หากสภาพคล่องไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้นเป้าหมาย SET Index มีโอกาสขึ้นไปซื้อขายที่กรอบบน 1976 จุดแนะหุ้นกลุ่มธนาคารหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจในตลาดหุ้นไทย คือกลุ่มธนาคาร เพราะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาหุ้นของกลุ่มซื้อขายที่ PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี แต่ SET Index กลับขึ้นมาซื้อขายที่จุดสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะเป็นเป้าหมายของกระแสเงินจากต่างชาติ ทั้งยังคาดว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกและหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการลงทุนในประเทศยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นมากพอควร แต่ด้วยการเติบโตของกำไรที่ยังของราคา โดยหุ้นที่แนะนำประกอบไปด้วย BBL TISCO CPALL CPN ADVANC STEC AMATA COM7 สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ปี 2561 คาดว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารกลางยุโรปมีแผนที่จะลดขนาด QE ทำให้มีโอกาสที่เงินทุนจากการลงทุนในตลาดพันธบัตรส่วนหนึ่งหันมาลงทุนในตลาดหุ้นแทนเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นทดแทนต้นทุนทางการเงินที่จะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่งเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Searing for Yield ดังนั้นการลงทุนในตลาดพันธบัตรให้เน้นไปที่พันธบัตรระยะสั้น ส่วนการลงทุนทางเลือกแนะนำการลงทุนทองคำ เนื่องจากทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่ขึ้นตามเงินเฟ้อดังนั้น โดยสรุปพอร์ตการลงทุนปี 2561 ยังคงให้น้ำหนักที่ตลาดหุ้น 70% (ใน 70% แบ่งเป็นตลาดหุ้นไทย 50% และตลาดหุ้นต่างประเทศ 20%) ตลาดตราสารหนี้และ/หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 25% และการลงทุนทางเลือก (ทองคำ) 5% อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บล.กสิกรไทยยังมองตลาดสินทรัพย์เสี่ยงยังมีโอกาสลงทุนที่ดีในปี 2561 แต่ต้องระมัดระวังในการลงทุนและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เนื่องด้วยราคาสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงอยู่ วิกฤตเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยจากข้อมูลปัจจุบัน แต่ด้วยสภาพคล่องที่มากในโลก ได้ก่อให้เกิดหนี้ในประเทศต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วยส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจะสร้างปัญหาให้กับภาคเอกชนหรือแม้แต่ภาครัฐในบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เหมือนทุกวิกฤตที่ผ่านมาหรือไม่ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ต่างๆ ถือว่าเป็นหนทางที่ดีในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีที่สุดการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้งคลิกอ่านบทความทางด้านการลงุทนเพิ่มเติม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine