“Biotechnology” อาวุธลงทุนที่เอาชนะโควิด-19 - Forbes Thailand

“Biotechnology” อาวุธลงทุนที่เอาชนะโควิด-19

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Aug 2021 | 12:48 PM
READ 2421

ท่ามกลางสงครามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกยังคงต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะและหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีอาวุธหลักคือ “วัคซีน” จากบริษัทด้าน Biotechnology

ซึ่งหากลองย้อนดูจากประเทศพัฒนาแล้วจะพบว่า แม้ว่าจะฉีดให้ประชาชนยังไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม แต่ก็เริ่มพิสูจน์ได้แล้วว่าวัคซีนสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ บรรดาบริษัทด้าน Biotechnology ตามระดมสรรพกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่นับได้ว่าเป็นวัคซีนสร้างขึ้นมาใช้กับมนุษย์ได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และบางชนิดยังเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีไบโอเทคมาเพิ่มประสิทธิภาพให้วัคซีนเป็นครั้งแรกของโลกซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว คือ การสังเคราะห์สารพันธุกรรม mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) โดยวัคซีนชนิดนี้จะทำให้ร่างกายสังเคราะห์โปรตีนที่มีลักษณะคล้ายๆ โปรตีนหนาม หรือที่เรียกว่า สไปค์ (Spike) ของเชื้อไวรัส เพื่อเป็นการจำลองลักษณะของไวรัสเข้ามาในร่างกายของมนุษย์ โดยโปรตีนหนามนี้จะไม่ทำให้ร่างกายติดเชื้อและจะมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อโควิด-19 ซึ่งบริษัทไบโอเทคโนโลยีที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ในการสร้างวัคซีนและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันมี 2 บริษัท คือ BioNTech/Pfizer (BNT162b2) และ Moderna (mRNA–1273) ซึ่งวัคซีนทั้งสองบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เครดิตภาพ: Moderna
สำหรับ Moderna ก่อนหน้านี้เป็นบริษัทที่หลายคนไม่รู้จัก แต่หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ก็กลายมาเป็นบริษัทนวัตกรรมการแพทย์ชั้นนำระดับโลก และถูกนำมาร่วมคำนวนในดัชนี S&P 500 และทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทขึ้นมาอยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 Moderna มีรายได้รวมอยู่ที่ 6.29 พันล้านเหรียญฯ จำนวนนี้มาจากการจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ถึง 5.9 พันล้านเหรียญฯ และรายได้รวมครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 8,310 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 74.79 ล้านเหรียญฯ  และจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการจำหน่ายวัคซีน หนุนให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 Moderna พลิกมีกำไรสุทธิ 4 พันล้านเหรียญฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 241 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ประเด็นบวกดังกล่าวยังส่งผลให้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) มาอยู่ที่ 9.3 เหรียญฯ และราคาหุ้นบริษัท Moderna ก็ปรับตัวขึ้นได้ถึงเกือบ 248 เปอร์เซ็นต์ (ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564) นับตั้งแต่ต้นปี 2564 สำหรับด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) บริษัทยังคงให้ความสำคัญในการทุ่มค่าใช้จ่ายของยาและวัคซีน เช่น วัคซีน RSV, ZIKA, HIV และโรคหายยากอื่นๆ อย่างโรคมะเร็งอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการที่ผู้บริหารคาดว่า ในปี 2564 จะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ราว 800 - 1,000 ล้านโดส และได้ทำสัญญาจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้า สำหรับปี 2564 อีกราว 2 หมื่นล้านเหรียญฯ และปี 2565 อีกราว 1.2 หมื่นล้านเหรียญฯ และยังมีดีลที่กำลังเจรจาเพิ่มอีกสำหรับปี 2566 นอกจากนี้ผู้บริหารคาดว่าจะลงทุนเพิ่มอีกราว 450 - 550 ล้านเหรียญฯ ในปีนี้ รวมถึงขยายกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วย
เครดิตภาพ: AstraZeneca.com
อีกบริษัทหนึ่งที่มีการจำหน่ายวัคซีนไปทั่วโลก คือ AstraZeneca บริษัทที่มีการเติบโตของรายได้รวมจากการจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ในครึ่งปีแรก 2564 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 โดยรายได้หลักของบริษัท AstraZeneca มาจากการจำหน่ายยารักษาที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งวิทยา (Oncology) โรคหลอดเลือดหัวใจ ไต และเมแทบอลิซึม (CVRM) และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อ (Respiratory, Immunology and Infectious Disease หรือ RIID) ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายวัคซีนไตรมาสสอง 2564 อยู่ที่ 894 ล้านเหรียญฯ เมื่อรวมครึ่งปีแรก 2564 บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายวัคซีนกว่า 700 ล้านโดส คิดเป็นมูลค่า 1,169 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตร้อยละ 9 และเมื่อดูรายได้รวมของบริษัทครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านเหรียญฯ เติบโตร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 2.110 พันล้านเหรียญฯ เมื่อเทียบกับกำไรที่ 1.536 พันล้านเหรียญฯ ในครึ่งปีแรก 2563 ส่งผลให้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) ครึ่งปีแรก 2564 ออกมาที่ 1.27  เหรียญฯ เทียบกับ 1.01 เหรียญฯ ในครึ่งปีแรก 2563 คิดเป็นการเติบโตถึงร้อยละ 25.74  ด้านราคาหุ้นบริษัท AstraZeneca ADR ก็ปรับตัวขึ้นได้ถึงเกือบร้อยละ 17 (ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564) นับตั้งแต่ต้นปี 2564 สำหรับการเติบโตในอนาคตของ AstraZeneca ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท Alexion ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 โดย Alexion เป็นบริษัทในกลุ่ม Biotech ที่เน้นผลิตยารักษาโรคหายากที่เกี่ยวกับระบบเลือด ไต ระบบประสาท เมแทบอลิซึม (Metabolism) และหัวใจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การเติบโตของ AstraZeneca มีรายได้เติบโตเกิน 2 หลัก จนถึงปี 2025 และคาดว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทด้วย โลกของเราอาจจะต้องอยู่กับเชื้อ โควิด-19 อีกนาน Biotechnology จึงเป็นอาวุธที่จะใช้ต่อสู้กับ โควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ใช้มีเพียงแค่ 2 บริษัทนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายบริษัททั่วโลกที่กำลังพัฒนายาและวัคซีนกว่า 1,200 แบบ[1] เพื่อเอาชนะ โควิด-19 เช่นกัน นอกเหนือจากนี้ Biotechnology ไม่เพียงแต่จะเอาชนะการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่ในอนาคต Biotechnology ยังมีโอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับนวัตกรรมการแพทย์ (Innovative Healthcare) ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ อย่าง เช่น โรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ บทความโดย ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ ภาพเปิด: Pixabay.com
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine