“ธุรกิจครอบครัว” ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลก สำหรับประเทศไทย รายได้ของธุรกิจครอบครัวมีมูลค่ารวมกันเกือบ 20 ล้านล้านบาท และธุรกิจมากกว่าครึ่งของประเทศยังเป็นธุรกิจครอบครัวแทบทั้งสิ้น
ผมมองโจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายต่อการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวในยุคดิจิทัลแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ประเด็นแรก หนีไม่พ้นเรื่อง การวางแผนสืบทอดกิจการ (succession planning) จากผลสำรวจล่าสุด Family Business Survey 2016 ของ PwC พบว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวทั่วโลกถึง 43% ยังขาดการวางแผนสืบทอดกิจการที่รองรับการเจริญเติบโตขององค์กรในระยะยาว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องได้มากที่สุดเพียง 3 รุ่นเท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความคิดที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัวแต่ละรุ่นแต่ละวัย ซึ่งปัญหานี้จะยิ่งทวีความซับซ้อนและยุ่งยากขึ้น หากสมาชิกในครอบครัวเป็นคนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ทำงานหรือเคยเป็นผู้บริหารบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพมาก่อน ทำให้มีวิสัยทัศน์และมุมมองในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากผู้บริหารรุ่นบุกเบิกหรือรุ่นพ่อแม่ ซึ่งอาจกลายเป็นต้นตอของการกระทบกระทั่งกันในครอบครัวในการบริหารธุรกิจจนถึงการจัดสรรผลประโยชน์ของสมาชิกครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น แผนรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการบริหารธุรกิจแบบวันต่อวัน (daily business plan) กับแนวทางการบริหารธุรกิจครอบครัวในระยะยาว (longterm family plan) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การจัดการภายในครอบครัว การจัดสรรผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างสมาชิกในครอบครัว และการส่งต่อกิจการให้กับทายาทรุ่นถัดไป ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าธุรกิจครอบครัวหลายรายกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการเลือกทายาท หรือได้ผู้นำผิดตัว เพราะผู้บริหารใช้อารมณ์ ความรู้สึก และความอาวุโส ในการตัดสิน มากกว่าที่จะมองหาบุคคล (ไม่ว่าภายในครอบครัว หรือ ผู้บริหารมืออาชีพ) ที่มีทักษะ และความสามารถ ขณะที่ในปัจจุบันมีธุรกิจครอบครัวจำนวนไม่น้อยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการดึงผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับทายาทตัวจริงที่จะขึ้นมาสืบทอดธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจจะไม่จบเพียงเท่านี้ จากประสบการณ์ของผมในการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจครอบครัวพบว่า มีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกหลายรายประสบปัญหาในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องที่เจ้าของกิจการไม่ปล่อยวางอำนาจ รวมถึงการออกคำสั่งซ้อน ไม่เคารพ หรือไม่ให้สิทธิในการตัดสินใจ ซึ่งหลายครั้งเกิดจากการใช้อารมณ์ของเจ้าของกิจการมากกว่าเหตุผลทางธุรกิจจริง แม้ว่าจะพบปัญหาข้างต้น แต่ผลสำรวจของ PwC พบว่า 3 ใน 5 ของธุรกิจครอบครัวยังคงมีแผนที่จะจ้างบุคคลภายนอกในระดับบริหารให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงการปรับรูปแบบธุรกิจครอบครัวให้มีความเป็นมืออาชีพ นอกจากนั้น ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวยังอาจกำหนดหลักปฏิบัติอื่นๆ ในการกำกับดูแลครอบครัวของตนเอง โดยรูปแบบของการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการที่นิยมกัน ได้แก่ สมัชชาครอบครัว (family assembly) คณะกรรมการครอบครัว (family committee) สภาครอบครัว (family council) และคณะกรรมการบริษัท (corporate board of directors) สำหรับธุรกิจโจทย์ที่ต้องก้าวข้าม
ความท้าทายประเด็นต่อมา คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (technological breakthroughs) ผลสำรวจของ PwC พบว่า 64% ของธุรกิจครอบครัวมองว่า การพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องนับเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยียังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันระหว่างคนในครอบครัว โดยทายาทรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (internet of things - IoT) กำลังประสบปัญหาในการโน้มน้าวให้คนรุ่นก่อนให้ความสำคัญในการปรับองค์กรเข้าสู่ดิจิทัล (digitization) โดยผลสำรวจระบุว่า ทายาทรุ่นใหม่เกือบ 40% ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการอธิบายให้ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีประยุกต์เข้ากับกิจการ และให้เกิดการยอมรับว่าธุรกิจต้องมีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลอยู่ในแผนจึงจะเติบโตอย่างมั่นคง นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างทางความคิดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหาร ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญควบคู่ไปกับการประเมินผลกระทบจากการเข้ามาของดิจิทัลต่ำเกินไป โดยมีธุรกิจครอบครัวเพียง 25% เท่านั้นที่คิดว่า ธุรกิจของตนมีความอ่อนไหวต่อกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะเชื่อว่าบริษัทของตนมีกลยุทธ์รับมือได้ นอกจากนี้ คุณลักษณะสำคัญของทายาทรุ่นใหม่ นอกเหนือไปจากความคิดความอ่านในการบริหารธุรกิจที่แตกต่างจากคนรุ่นปัจจุบันหรือรุ่นก่อน นั่นคือ บุคลิกของคนรุ่นนี้จะกระหายความสำเร็จ ปรับตัวเร็ว และยอมรับความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงต้องการพัฒนานวัตกรรม สินค้าและบริการ รวมทั้งขยายตลาดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะรู้ดีว่า ถ้าจะรอให้ธุรกิจของครอบครัวปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับความต้องการของพวกเขา อาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีหรือเป็นสิบปี ด้วยความกระหายในความสำเร็จเหล่านี้ (รวมถึงการป้องกันความขัดแย้งภายในครอบครัว) ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวหลายรายแตกกิ่งก้านสาขากิจการใหม่พร้อมให้ทายาทบริหารควบคู่ไปกับกิจการหลักของครอบครัว ความท้าทายประเด็นสุดท้าย คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายกิจการ ลงทุนในด้านใหม่ รวมถึงออกสินค้าหรือบริการใหม่ จากประสบการณ์ของผมพบว่า มีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่เลือกใช้แหล่งเงินทุนจากสินทรัพย์ของเจ้าของ มากกว่าพึ่งพาธนาคารพาณิชย์หรือนักลงทุนภายนอก ธุรกิจครอบครัวถึง 76% เลือกใช้เงินทุนของตัวเองเพราะต้องการความเป็นอิสระในการบริหาร และไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุมจัดการใดๆ อย่างไรก็ตาม การใช้เงินทุนของเจ้าของเพียงแหล่งเดียวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับเจ้าของ หากกิจการไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นนอกจากทุนตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจครอบครัวที่ขาดความพร้อม หรือบางครั้งต้นทุนทางการเงินอาจจะสูงกว่าความสามารถในการทำกำไรของกิจการ ด้วยเหตุนี้ การวางกลยุทธ์ทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวต้องนำไปพิจารณา เพื่อปรับสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับความเสี่ยงทางการเงิน ความท้าทายข้างต้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในยุคดิจิทัล ซึ่งธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือและเผชิญหน้า ด้วยแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับทุกครอบครัว อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าอนาคตของธุรกิจครอบครัวไทยจะยังคงสดใส เพราะผู้บริหารหลายรายมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กิจการของครอบครัวมีความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หากแต่ยังคงมีข้อควรระวังในการปิดช่องว่างในการสื่อสารที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น รวมถึงการวางแผนสืบทอดกิจการ และการมีแผนธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงการบริหารกิจการและครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นกุญแจสำคัญผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทยคลิกอ่านฉบับเต็ม "โจทย์ท้าทายของธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560