แนวโน้มอุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนัง โอกาสและการแข่งขันในปี 2565 - Forbes Thailand

แนวโน้มอุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนัง โอกาสและการแข่งขันในปี 2565

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Apr 2022 | 07:20 AM
READ 3956

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต่างได้รับผลกระทบทั้งจากการล็อกดาวน์ ระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนังและผลิตภัณฑ์หนังก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนผู้ประกอบการบางส่วนต้องหยุดกำลังการผลิตชั่วคราว เนื่องจากเผชิญการแบกรับต้นทุนที่สูง ขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่คำสั่งซื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตามในปี 2565 สมาคมฯ ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการรายหลักว่า มีคำสั่งผลิตหนังสำหรับเบาะรถยนต์รวมถึงรองเท้าแบรนด์เนมเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นหนังที่มีราคาและมีมาร์จินสูง จึงนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมหนังในปีนี้ สำหรับคำแนะนำของสมาคมฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการคือ การปรับตัวรับกับแนวโน้มปี 2565 ที่กำลังมาแรงและเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นก็คือ ด้านการผลิตที่แข่งขันกันทางดีไซน์ นวัตกรรม และสินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกยุคใหม่ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นต้นน้ำในการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าจะมีวัสดุเทียมหนังออกสู่ท้องตลาดมากมาย เช่น หนังเห็ด หนังวีแกน แต่ความนิยมในการใช้หนังสัตว์ก็ไม่เคยเสื่อมคลายลง ด้วยภาพลักษณ์ สัมผัสที่แตกต่าง รวมถึงความคงทนที่หนังทางเลือกอาจไม่ตอบโจทย์ภาพลักษณ์ของสินค้านั้นๆ ได้ดีเท่า อีกทั้งหนังทางเลือกยังมีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง เดิมทีการผลิตหนังสัตว์ในประเทศส่วนใหญ่จะใช้เป็นหนังวัวเป็นหลักสมาคมฯ จึงพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการใช้หนังแกะ หนังแพะ เพื่อเป็นทางเลือกให้ดีไซเนอร์ ทั้งแบรนด์ที่มีอยู่แล้วในตลาดและดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติอื่นๆ ได้เลือกใช้สร้างผลงานที่แปลกใหม่ แตกต่างจากเดิม เพื่อให้ตลาดเครื่องหนังในบ้านเรายังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้ ตลอดจนสามารถพัฒนาให้แข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ หากจะมองในแง่ของโอกาสและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอาจจะกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการสร้างตลาดในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้หลายประเทศยังคงปิดประเทศ ขณะที่ระบบโลจิสติกส์มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างตลาดในประเทศด้วยการส่งเสริมให้มีการรับรู้ที่มากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและออกแบบผลิตภัณฑ์ได้โดดเด่น นำศิลปะพื้นเมือง สินค้าชุมชน เข้ามาผสมผสานในการดีไซน์ เช่น ในงาน Style Bangkok ที่ผ่านมามีการนำเสนอสินค้าดีไซน์ใหม่ๆ นำผ้าทอพื้นเมือง เช่น ผ้าไหม ผ้ามัดย้อมมาออกแบบร่วมกับกระเป๋าหนังให้ดูทันสมัยคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างลงตัวสร้างตลาดการบริโภคในเมืองไทยได้ และมีผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปสู่ตลาดโลกได้ โดยผ่านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นี่คือภาพรวมที่ทางกลุ่มฟอกหนังและเครื่องหนังร่วมกับทางภาครัฐ ในการผลักดันให้เกิดตลาดใหม่ๆ ให้เกิดการรับรู้ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคในเมืองไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริโภคในเมืองไทยจะร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ออกแบบโดยคนไทย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นไทยสู่ตลาดสากล ทางด้านการปรับตัวของโรงฟอกหนังในปี 2565 จากเดิมที่ตลาดแฟชั่นกำลังบูม ความต้องการใช้หนังมีสูงทำให้โรงงานฟอกหนังเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย ต่อมาช่วงเศรษฐกิจหดตัว ปริมาณการใช้หนังก็ลดลงตามไปด้วย โรงงานต่างๆ จึงต้องแข่งขันกันที่ความสามารถในการพัฒนาเทคนิคให้มีความชัดเจน รวมถึงความชำนาญในการฟอกหนังให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้ จึงจะคงความสามารถแข่งขันในตลาดและดำเนินกิจการต่อได้ ส่วนโรงฟอกที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจต้องทยอยปิดตัวลง โรงฟอกที่ยังคงอยู่ได้และอยู่ได้นานที่สุดก็จะมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในระบบของตลาด niche market มากขึ้น เมื่อมีผู้ผลิตไม่มาก กิจการที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตัวเองได้ ในอนาคตเทรนด์ความต้องการใช้หนังของแบรนด์ต่างๆ จะเปลี่ยนไป เป็นแบบมีความเฉพาะตัว เฉพาะทางมากขึ้น นี่คือการคาดการณ์ของแนวโน้มที่จะน่าเกิดขึ้นแบบภาพรวมในปีนี้ ส่วนประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจฟอกหนังคือ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังได้ร่วมวางแผน วางนโยบายจัดการทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามแนวทางการประชุม COP26 ซึ่งเกี่ยวกับ “การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยทางสมาคมฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมวางแผนนโยบายในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดซื้อเคมีภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิต เพื่อลดมลภาวะให้เหมาะกับกระแส โดยมีการทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น การดำเนินงานและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียและกักเก็บก๊าซชีวภาพ (biogas) เพื่อตอบโจทย์แบรนด์ต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับโลก ทางสมาคมฯ คาดหวังให้ผู้ประกอบการตระหนักในจุดนี้และปรับตัวให้เร็ว โดยสมาคมฯ พร้อมที่ให้คำแนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุน นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมฟอกหนังได้เดินหน้าปรับปรุงระบบงานโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีการวางแผนระยะยาวในการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบและกระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายในการลดมลภาวะ กล่าวโดยสรุปคือ ในปีนี้เชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังและเครื่องหนัง น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของดีไซน์ นวัตกรรม ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าของหนัง ที่ทางสมาคมฯ พยายามผลักดันให้มีการใช้หนังแกะและหนังแพะเพิ่มเติมจากหนังวัว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ขณะที่ตลาดที่สำคัญยังเป็นตลาดในประเทศ ในช่วงที่หลายๆ ประเทศยังปิดประเทศอยู่สำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนังจะต้องพัฒนาเทคนิคและความชำนาญ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ในปีนี้จะเน้นความเฉพาะตัว เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นตลาด niche market ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ประกอบการฟอกหนังเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ   สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine