สงคราม IT ที่แผ่ก้าวไกลไปกว่าสามก๊ก - Forbes Thailand

สงคราม IT ที่แผ่ก้าวไกลไปกว่าสามก๊ก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาดว่าหลายๆ คนคงมีโอกาสได้อ่านเรื่อง 'สามก๊กไอที' ที่เปรียบเปรยโดยคุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ แห่งเว็บไซต์ Blognone.com ว่าในช่วงเริ่มนั้น Microsoft เทียบได้กับ 'วุยก๊ก' ของโจโฉ ที่มีสรรพกำลังมากมาย รวมไปถึงการเป็นยักษ์ใหญ่มาก่อนที่สืบทอดอำนาจมาจากราชวงศ์ฮั่น Apple เทียบได้กับ 'ง่อก๊ก' ของซุนกวน ที่ครองตลาดบางส่วนในยุคที่ผ่านมา Google เทียบได้กับ 'จ๊กก๊ก' ของเล่าปี่ ที่มีสามประสานอย่าง Eric Schmidt Sergey Brin และ Larry Page

แต่ในยุคปัจจุบัน บริบทต่างๆ ในสงครามของก๊กไอทีทั้งสามนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสงครามครั้งนี้ก็ไม่ได้จบลงแค่สามก๊กนี้เพียงเท่านั้น
Tim Cook CEO แห่ง Apple
Apple บริษัทที่เพิ่งได้ชื่อว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นบริษัทมหาชนสัญชาติอเมริกันรายแรกที่แตะถึงจุดนี้ (แม้จะไม่ใช่รายแรกของโลก เพราะบริษัทน้ำมัน PetroChina เคยทำไว้ได้ในปี 2007 ก่อนหุ้นจะดิ่งลงหลังจากนั้น) ด้วยยอดขายกว่า 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก iPhone 8 และ X แต่คำถามที่สำคัญคือ Apple จะเป็นผู้นำในสงคราม IT ครั้งนี้ไปได้ไกลอีกเท่าไร เราคงสังเกตเห็นกันได้ว่า ตั้งแต่ผู้นำเหล่าทัพอย่าง Steve Jobs จากไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทาง Apple ก็ไม่ได้มีนวัตกรรม หรือ สินค้าใหม่ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เหมือนที่ผ่านๆ มา CEO คนปัจจุบันอย่าง Tim Cook ก็ไม่ได้เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและแตกต่างมากเท่ากับ Steve Jobs ถ้าดูกันให้ลึกลงไป จะเห็นว่าต้นเหตุมันลึกกว่านั้น หากลองสังเกตดู Apple นั้นมีกระบวนการในการบริหารงานที่ขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คนมาตลอด มีการบริหารจัดการงานแบบแบ่งแยกฝ่ายใดฝ่ายหนี่งชัดเจน เช่น ในการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คนจากแต่ละทีมจะรู้แค่ส่วนเล็กๆ ของตัวเองเท่านั้น มีแค่ผู้บริหารระดับสูงไม่กี่คนที่เห็นและเป็นคนกำหนดทิศทางภาพรวมทั้งหมด ซึ่งการบริหารงานวิธีนี้อาจจะได้ผลอย่างสูงในยุคที่มีผู้นำอย่าง Steve Jobs แต่คำถามที่สำคัญคือ การทำงานแบบนี้จะยังได้ผลอยู่หรือไม่ ในยุคของ CEO คนปัจจุบันที่มาจากสาย Operation และ Supply Chain อย่าง Tim Cook ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ Apple ให้ความสำคัญสูงสุดคือ User Experience หรือประสบการณ์ของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่า Apple ควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จาก Software  Hardware การขายเพลง ภาพยนตร์ ไปจนถึงการควบคุม App Store อย่างเข้มงวด ระบบปิดที่ควบคุมทั้งหมดแบบ Apple นั้น อาจจะได้ผลในช่วงยุคตั้งไข่ของ Smartphone แต่ในโลกที่หมุนเร็วมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ การกำหนดทุกอย่างอาจจะทำให้ก้าวไม่ทันโลกอีกต่อไป ภายใต้การนำของ Steve Jobs นั้น Apple ได้ทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคแรก การขายเพลงแบบดิจิทัลของอุตสาหกรรมเพลง ตลอดจนอุตสาหกรรม Smartphone ซึ่งนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบัน Apple มีรายได้และกำไรสูงสุด หากคิดเป็นสัดส่วน เกินกว่า 60% มาจาก iPhone และ iPad ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือมาจากยุคของ Steve Jobs แต่ยอดขายของ Apple นั้น เพิ่มขึ้นน้อยมากๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปีล่าสุด ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก ราคาของ iPhone X ที่มากขึ้น) จากเดิมที่เติบโตกว่า 20-30% ต่อปี ในยุคที่รุ่งเรือง มาเติบโตเป็นตัวเลขหนึ่งหลักใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรม Smartphone ในปัจจุบัน เริ่มอิ่มตัวขึ้น แทบทุกคนมี Smartphone อยู่ในมือ ตลาดนี้ไม่ได้โตอย่างก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านๆ มาอีกแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้เล่นรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Samsung หรือบริษัทจากฝั่งจีน เช่น Huawei และ Xiaomi ที่ออกรุ่นยิบย่อยมากมาย ที่ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของอุตสาหกรรมนี้ลดลงในระยะยาว หากมองในมุมของขนาดตลาด ตลาด Smartphone เป็นอะไรที่ใหญ่มากๆ อยู่แล้ว การเพิ่มยอดขายและกำไรของ Apple แบบมีนัยยะสำคัญ ก็มีไม่กี่ทางเท่านั้นที่ Apple ต้องมุ่งหน้าไป  จากข้อมูลที่ทราบกัน Apple ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่กันภายในองค์กรอย่างเข้มข้น โดยหลักๆ มีสองหมวดด้วยกัน คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีผสมผสานโลกเสมือน (Augmented reality) และรถยนต์ ภายใต้ชื่อโครงการที่รู้จักกันในนาม Project Titan ผมเชื่อว่า อย่างน้อยๆ Apple ยังคงจะได้รับผลประโยชน์จาก iPhone ที่ทิ้งหน้าคู่แข่งไปไกลตั้งแต่ยุคของ Steve Jobs อย่างน้อยอีก 3-4 ปี แต่เราก็ต้องดูกันต่อไปว่า Apple จะทำได้ดีแค่ไหนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีความซับซ้อนเยอะกว่ามาก และ Apple จะสามารถฝากความหวังกับยุคหลังจาก Smartphone อย่าง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AR ได้หรือไม่
Satya Nadella CEO Microsoft
ก๊กใหญ่รายถัดมาที่หลับลึกมาอย่างยาวนานอย่าง Microsoft นั้น จากทศวรรษที่สูญหายภายใต้การนำของ CEO คนเก่าอย่าง Steve Ballmer ปัจจุบันเริ่มถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจาก CEO มือเอกชาวอินเดียนามว่า Satya Nadella ที่เข้ามาพลิกฟื้นกิจการจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า Microsoft ได้เปลี่ยนแปลงจากแบรนด์ที่เก่าแก่ กลายเป็นแบรนด์ที่เท่ขึ้น ดูทันสมัยและถูกใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากบริษัทที่เน้นแต่ Software และประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่ากับ Hardware กลับมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่โดนใจตลาดอย่าง Microsoft Surface ที่ผสมผสานระหว่างการเป็น Tablet และ Notebook PC ได้อย่างลงตัว วันนี้ ถ้าเราไปนั่งร้านกาแฟชิคๆ บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่า การเปิดคอมพิวเตอร์ที่มีตรา Apple อยู่ด้านหลัง อาจจะไม่เท่ากับคนที่หยิบ Microsoft Surface ออกมานั่งทำงานอีกต่อไป สิ่งที่น่าสนใจที่จับต้องได้มากกว่านั้นคือ รอบบัญชีปี 2018 ที่ผ่านมา Microsoft ทำรายได้แตะหลัก แสนล้านเหรียญได้เป็นครั้งแรก และในปัจจุบัน Microsoft มีการกระจายตัวของรายได้ในช่องทางต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในไตรมาสที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ทั้งสามกลุ่มของ Microsoft ได้แก่ Productivity and Business Processes (กลุ่มธุรกิจ B2B  และSoftware ต่างๆ เช่น Microsoft Office) เติบโต 13% Intelligent Cloud (กลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Server และ  Cloud Service เช่น Azure) เติบโต 23% และ More Personal Computing (Microsoft Window และ Hardware ต่าง ๆ เช่น Xbox และ Surface) เติบโต 39% และมีการกระจายตัวเป็นสัดส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งสามส่วนธุรกิจหลัก เรียกได้ว่า Microsoft ใช้ฐานตั้งมั่นเดิม อย่างธุรกิจ B2B และ Microsoft Office ที่แข็งแกร่งมากๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จึงไม่หนีไปไหน และขยับขยายไปสู่รายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ ที่มาจาก Microsoft Lab ภายใต้การนำของ CEO ชาวอินเดียผู้นี้อย่าง Microsoft Hololens และ Microsoft Kinect ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักพัฒนา Software ทั่วโลก
Sundar Pichai CEO ของ Google
ในส่วนของก๊กที่สาม อย่าง Google หรือชื่อใหม่ว่า Alphabet นั้น น่าจะเป็นก๊กที่น่าสนใจที่สุดในอนาคต แม้ว่าตอนนี้มูลค่าทางตลาดของ Google ยังเป็นอันดับสาม รองจาก Apple และ Microsoft อย่างไรก็ตาม Google นั้นมีรายได้เติบโตกว่า 20% ในทุกๆ ปี โดยหลักๆ มาจากการขายโฆษณาจากการ Search ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอการเติบโตในเร็ววัน ในขณะเดียวกัน Google ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะออกสู่ตลาดที่จะทำเงินได้ในเร็วๆ นี้ เช่น Waymo ระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติที่ล้ำหน้าที่สุด และพร้อมจะออกวางตลาดได้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า DeepMind บริษัทลูกของ Google ที่เรารู้จักผลิตภัณฑ์กันในนาม AlphoGO ที่เอาชนะนักเล่นโกะมือหนึ่งของโลก หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นอย่างสายสุขภาพ เช่น โครงการ Calico ที่มีเป้าหมายคือ “Cure Death” หรือ การกำจัดความตายให้หมดไป นับตั้งแต่ Google Search ออกสู่ตลาดมา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของ Google นั้น ต้องมีการใช้ข้อมูลเชิงลึกทางเทคนิคเป็นพื้นฐาน และนี่คือสิ่งที่อยู่ภายใต้ผลิตภัณฑ์ของ Google ทุกชนิด เช่น Google Maps ที่เราใช้ๆ กันอยู่ มันไม่ใช่แค่ใช้การได้อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว Google ใช้ เทคโนโลยี Image Processing ประกอบกับ ข้อมูลของผู้ใช้ทั้งหมดมาคิดคำนวณว่า ถนนส่วนใดของเมือง นับเป็นถนนเส้นหลัก ที่มีร้านค้าเรียงรายอยู่มากมาย และแสดงมันออกมาเป็นสีเหลืองอ่อน แม้แต่ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่เราเห็นกันบน Google Maps นั้น Google ก็ยังใช้เทคโนโลยี Image Processing ในการวาดภาพ สองและสามมิติมาอย่างง่ายๆ ทำให้รู้ว่า เมื่อมองจากด้านบนลงไปน้ัน ฝั่งไหนเป็นหน้าต่าง ฝั่งไหนเป็นประตู ด้วยแผนที่ที่แม่นยำเหล่านี้นี่แหละ เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติถึงระดับ 5 (ระดับที่สามารถขับรถได้ดีกว่าคนขับจริงๆ โดยไม่ต้องมีคนขับคอยประจำการควบคุมในกรณีฉุกเฉิน) เกิดขึ้น สิ่งนี้จะก่อรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Google ที่ชื่อว่า Waymo มีเทคโนโลยีที่ได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งอย่างมากมาย ชุดผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตาที่สุดของ Google หนีไม่พ้น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial intelligence ทั้งหมด ของ Google ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของ Google คือ “AI First” ที่ได้รับการเปิดเผยโดย Sundar Pichai CEO ของ Google คนปัจจุบัน ในงาน Google ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิดของ Google ในปัจจุบัน จะถูกนำโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ดังที่เราเห็นกันเมื่อต้นปีที่ Google ได้เปิดตัว Demo ตัวใหม่ของ Google Assistant หรือผู้ช่วยส่วนตัวของเราที่เรียกใช้งานได้ และสามารถพูดภาษามนุษย์ได้อย่างแทบไม่มีที่ติ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ไอทีรายอื่นๆ ยังไม่สามารถตามได้ทันได้ง่ายๆ เพราะกว่าที่เราจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้ระดับเดียวกับที่ Google ทำได้นั้น ต้องใช้ข้อมูลและเวลาอย่างมหาศาล ซึ่งนับว่าเป็นก๊กสุดท้ายที่น่าจับตามองอย่างที่สุด เพราะ Google จะมีทั้งเทคโนโลยี และสรรพกำลังที่จะเปลี่ยนโลกของเราได้อีกมากมาย นอกจากทั้งสามก๊กที่กล่าวมาแล้ว ในปัจจุบัน ก็ยังมีก๊กอื่นๆ ที่เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน เช่น Facebook ที่แผ่อิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ Connecting the world หรือการเชื่อมต่อโลกทั้งหมดเข้าด้วยกัน ด้วยเครือข่าย Social Network ของตนเองด้วยกลยุทธ์กว้านซื้อเข้ามา เช่น Instagram และ WhatsApp รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในโลกอย่าง Virtual Reality ในนาม Oculus เป็นต้น
Jeff Bezos CEO ของ Amazon
และอีกก๊กหนึ่ง ที่แม้ว่าจะเติบโตมาจากอีกซีกธุรกิจอย่างการค้าปลีกขนาดใหญ่มหาศาลอย่าง Amazon ซึ่งเป็นผู้ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาด E-commerce กว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา Amazon เลือกที่จะนำกำไรทั้งหมด ไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโกดังสินค้าสุดไฮเทค และ ระบบการกระจายสินค้า ที่ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะทำให้ Amazon สามารถจัดส่งสินค้าได้ถึงบ้านทุกหลังในสหรัฐอเมริกาได้ในหนึ่งวัน รวมไปถึงการขยายความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของตนเอง ยึดห้องรับแขกของคนสหรัฐฯ ด้วย Amazon Echo ลำโพงอัจฉริยะ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของโลกยุค Cloud ในปัจจุบัน อย่าง Amazon Web Service (AWS)  ที่ทำกำไรให้ Amazon ได้อย่างมากในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ให้นำทิ้งห่างจากคู่แข่งค้าปลีกอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครตามทันได้ และนี่คือสิ่งที่ทำให้หุ้นของ Amazon เติบโตกว่า 100% ในปีที่ผ่านมา และทำให้ Jeff Bezos CEO ของ Amazon เป็นคนที่รวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินกว่า 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าจะต้องมีใครสักคนเป็นสุมาอี้ ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินจีนได้นอกเหนือจากสามก๊กดังกล่าวแล้ว ก็น่าจะเป็น Amazon นี่แหละครับ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่าง Tencent และ Alibaba ที่ผลิตเงินสดออกมาเป็นว่าเล่น พร้อมที่จะข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาท้าทายกับ ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ทุกเมื่อ ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ก๊กทั้งหลายและยักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วคุณล่ะ คิดว่าใครจะเป็นสุมาอี้แห่งโลกสมัยใหม่ ผู้ที่จะเป็นผู้ชนะในสงครามไอทีครั้งยิ่งใหญ่นี้?