วิกฤตโควิด-19 ถือว่าเป็นบททดสอบที่ท้าทายผู้นำในองค์กรและ "กรรมการบริษัท" เป็นอย่างมาก
ในขณะที่คณะผู้เขียนกำลังเขียนบทความ บทบาทของ "กรรมการบริษัท" นั้น สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ยังมีแนวโน้มที่เลวร้ายมากขึ้น โดยมีผู้คนมากกว่า 20 ล้านคน ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหากอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Worldometers จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกมีประมาณ 280,000 คนต่อวัน สำหรับวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่ง 1 เดือนก่อนหน้านั่นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกมีเพียงประมาณ 220,000 คนต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลก ที่เคยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเวียดนาม หรือ ประเทศนิวซีแลนด์ กลับมีการระบาดระรอกใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศ ทำให้หลายธุรกิจต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักและซ้ำเติมบาดแผลจากการระบาดในครั้งก่อนอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้นำในองค์กร จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการนำองค์กร ให้ฝ่ามรสุมวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ให้สำเร็จได้ สำหรับบทความนี้คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับ บทบาทของ “กรรมการบริษัท” ซึ่งถือว่า เป็นอีกกลุ่มของ “ผู้นำ” ที่จะมีบทบาทสำคัญในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งการที่องค์กรจะ “อยู่” หรือ “ตาย” อาจขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรรมการบริษัทก็เป็นได้ บทบาทของคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดเป็นกลไกการควบคุมดูแลกิจการบริษัทที่สำคัญมาก คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้บริหารของบริษัท ให้บริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น (Shareholders) ด้วย โดยบทบาทของคณะกรรมการบริหารที่ได้กล่าวมานี้ ถือเป็นกลไกทางธรรมาภิบาล (governance) ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดปัญหาตัวการตัวแทน (Principal-Agent Problem) ที่เกิดจากการที่ “ตัวแทน” (Agent) ซึ่งก็คือผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) หรือ ผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งอื่นๆ อาจมีความต้องการและเป้าหมายที่แตกต่างไปจาก “ตัวการ” (principle) ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยผู้บริหารระดับสูงในองค์กร อาจตัดสินใจบริหารบริษัทเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อาทิเช่น การกำหนดค่าตอบแทนของตัวเองสูงๆ หรือ การตัดสินลงทุนในโครงการสั้นๆเพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นในขณะที่ตัวเองยังเป็นผู้บริหารอยู่ (เพื่อค่าตอบแทนที่สูงขึ้น) แทนที่จะให้ความสำคัญกับโครงการระยะยาวที่อาจจะเป็นประโยชน์กับองค์กรมากกว่า บทบาทของกรรมการอิสระ กรรมการกลุ่มหนึ่งที่ มีความสำคัญอย่างมากคือกรรมการอิสระที่มาจากภายนอกบริษัท กรรมการเหล่านี้เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ทำงานให้กับบริษัทและไม่มีผลประโยชน์โดยตรงกับบริษัท เป็นที่เชื่อกันว่ากรรมการอิสระจะมีการควบคุมดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากรรมการที่เป็นบุคคลจากภายในบริษัท กรรมการที่มาจากภายในบริษัทมักจะทำงานกับผู้บริหารหรือเป็นลูกน้องของผู้บริหาร กรรมการภายในจึงมักจะถูกมองว่าไม่สามารถดูแลกำกับผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงข้ามกรรมการอิสระเป็นบุคคลที่มาจากภายนอก ไม่ได้เป็นลูกน้องผู้บริหาร จึงสามารถกำกับดูแลผู้บริหารได้อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพกว่า นอกจากนี้ แม้ว่ากรรมการอิสระจากภายนอกจะมีข้อเสียอยู่บ้างซึ่งคือการขาดข้อมูลหรือไม่คุ้นเคยกับกิจการของบริษัทเท่ากับกรรมการจากภายใน แต่งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่ากรรมการอิสระทำให้ธรรมาภิบาลของบริษัทมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศได้มีการกำหนดให้บริษัทมหาชนต้องมีกรรมการอิสระด้วย อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายบังคับให้บริษัทมหาชนมีกรรมการอิสระมากกว่าครึ่งหนึ่ง (The Sarbanes-Oxley Act) และยิ่งไปกว่านั้นตลาดหลักทรัพย์สองแห่งของอเมริกาคือ NYSE และ Nasdaq ก็บังคับให้บริษัทที่จดทะเบียนมีกรรมการอิสระอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเช่นกัน กรรมการอิสระที่เป็น “พรรคพวก” เดียวกัน ในระยะหลังหลังเริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการอิสระหลายคน อาจจะถือว่าเป็นอิสระตามกฏหมาย แต่จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้มีความอิสระอย่างที่ควรจะเป็นและไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการ เพราะกรรมการเหล่านี้อาจจะเป็น “พรรคพวก” เดียวกันกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กร เนื่องจากผู้บริหารระดับสูง (โดยเฉพาะตัวประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือกรรมการผู้จัดการ) มีบทบาทไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการอิสระเหล่านี้ โดยงานวิจัยของ Coles, Daniel, และ Naveen ในปี 2014 ได้นิยามกรรมการบริษัทที่ถูกตั้งหลังจากกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งว่า กรรมการพรรคพวก (เดียวกับผู้บริหาร) หรือ Co-opted directors (Co-opted แปลว่าถูกทำให้เป็นพวกเดียวกัน) ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า บริษัทที่มีกรรมการพรรคพวกมากกว่า มักจะมีผลเสียต่อการดูแลควบคุมกิจการ เช่นผู้บริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพจะถูกไล่ออกยากขึ้น รวมถึงเงินเดือนผู้บริหารสูงขึ้นแม้ว่าผลประกอบการของบริษัทไม่ได้สูงขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบข้อเสียของการมีสัดส่วนกรรมการพรรคพวกที่สูง อาทิเช่น การจ่ายเงินปันผลน้อยลง (Jiraporn และ Lee, 2018) การใช้นโยบายที่มีความเสี่ยงมากขึ้นและนำไปสู่ Credit Rating ที่ต่ำลง (Lee และ คณะ, 2020) และ ถูกจัดอันดับจากนักวิเคราะห์การเงิน (Financial analyst) ที่ต่ำลง (Papangkorn และ คณะ, 2020) อย่างไรก็ดี การมีกรรมการพรรคพวกก็มีข้อดีอยู่บ้าง อาทิเช่น กรรมการพรรคพวกมักจะทำให้ผู้บริหารถูกไล่ออกยากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริหารสามารถวางแผนระยะยาวได้ดีกว่าเพราะมั่นใจว่าตัวเองจะอยู่ได้นาน (Chintrakarn และ คณะ, 2016) เราคงจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับกรรมการพรรค(การเมือง)อยู่บ่อยๆโดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง เราไม่ควรลืมว่ามีกรรมการพรรค(พวก)ประเภทอื่นที่เราควรให้ความสนใจเช่นกันเพราะกรรมการพรรค(พวก)เหล่านี้มีผลต่อการดูแลกำกับกิจการและผลกำไรของบริษัท บทบาทของคณะกรรมการบริหารบริษัทในยุคโควิด-19 ในวิกฤตโควิด-19 นี้ คำถาม “วัดใจ” คำถามหนึ่ง สำหรับผู้นำทุกคนที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตในครั้งนี้คือ “ท่านกำลังทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดหรือเพื่อให้องค์กรอยู่รอด” เพราะผู้นำบางคนอาจกำลังทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เช่น การเลือกลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและได้ผลตอบแทนในระยะสั้น เพราะการเดิมพันในครั้งนี้ สำหรับผู้บริหารเอง มีแต่ได้ไม่มีเสีย เพราะถ้าเดิมพันชนะ ท่านก็จะมีโอกาสที่จะเป็นผู้บริหารต่อหรือได้รับคำชมจากสื่อต่างๆ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำของท่านดีขึ้น(และสำหรับค่าตองแทนและตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต) แต่ถ้าเดิมพันแพ้ ท่านก็จะถูกไล่ออก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ท่านคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว จากผลประกอบการที่ย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 หรือ แม้แต่การที่ผู้นำเลือกที่จะปกปิดข้อมูลบางอย่างขององค์กร เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรและตัวท่านเองให้นานที่สุด จนกว่าท่านจะหาทางออกให้ตัวเองได้ (เช่น ได้งานใหม่) ซึ่งผลลัพธ์จากการกระทำของผู้นำแบบนี้ จะส่งผลในทางลบต่อความอยู่รอดขององค์กร และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของลูกโซ่ที่ฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดิ่งสู่วิกฤตที่เลวร้ายและลึกไปกว่านี้อีกก็เป็นได้ ดังนั้นบทบาทของคณะกรรมการบริหารบริษัทจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตแบบนี้ โดยเฉพาะการกำกับดูแลผู้บริหารขององค์กร ไม่ให้ “หนีตาย” โดยการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร นอกจากนี้บทบาทของกรรมการอิสระ ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะกรรมการอิสระเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการบริหารบริษัททำงานอย่างมีประสิทธิภาพและกำกับดูแลกิจการได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำถาม “วัดใจ” ข้างต้น ก็คงต้องถามกับกรรมการอิสระด้วยเช่นกันว่า “ท่านกำลังทำเพื่อพรรคพวกตัวเองหรือเพื่อองค์กร” เพราะถ้ากรรมการอิสระเหล่านี้เลือกทำเพื่อพรรคพวกตัวเอง (หรือมีกรรมการอิสระที่ทำเพื่อพรรคพวกตัวเองเป็นจำนวนมาก) โอกาสที่องค์กรจะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ คงริบหรี่เติมที ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ก็คงต้องพิจารณาให้ดีว่า การรวมกันนั้นจริงๆแล้ว เพื่อสิ่งใด References- Coles, J.L., Daniel, N.D. and Naveen, L. (2014), “Co-opted boards”, Review of Financial Studies, available at:https://doi.org/10.1093/rfs/hhu011.
- Jiraporn, P. and Lee, S.M. (2018), “Do Co-Opted Directors Influence Dividend Policy?”, Financial Management, available at:https://doi.org/10.1111/fima.12196.
- Lee, S., Jiraporn, P., Kim, Y.S. and Park, K.J.(2020), “Do co-opted directors influence corporate risk-taking and credit ratings?, Quarterly Review of Economics and Finance, available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1062976920300843
- Papangkorn, S., Chatjuthamard, P., Jiraporn, P. and Chueykamhang, S. (2019), “Female directors and firm performance: Evidence from the Great Recession”, International Review of Finance, available at:https://doi.org/10.1111/irfi.12275.
- Chintrakarn, P., Jiraporn, P., Sakr, S. and Lee, S.M. (2016), “Do co-opted directors mitigate managerial myopia? Evidence from R&D investments”, Finance Research Letters, available at:https://doi.org/10.1016/j.frl.2016.03.025.
- ศ.ดร. ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ Penn State University
- ศ.ดร. ศิริมล ตรีพงษ์กรุณา UWA Business School, The University of Western Australia
- ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Sasin School of Management, Chulalongkorn University
- รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส Sasin School of Management, Chulalongkorn University
- ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ Sasin School of Management, Chulalongkorn University
ไม่พลาดบทความทางด้านธุรกิจที่น่าสนใจ กดติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine