ผู้ประกอบการไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน - Forbes Thailand

ผู้ประกอบการไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Dec 2015 | 04:36 PM
READ 4627

ประเทศไทยและอีก 9 ประเทศกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ภายในอีก 1 เดือนข้างหน้า (31 ธันวาคม 2558) โดย AEC คือ การรวมตัวของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน

โดย AEC จะมีรูปแบบคล้ายๆ กับ กลุ่มยูโรโซน โดยมีแนวคิดว่าอาเซียนจะกลายเป็นตลาดและเขตการผลิตเดียว หรือ single market and production base ซึ่งหมายถึง อาเซียนจะต้องมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี มีแหล่งการผลิตที่ประเทศใดก็ได้ รวมทั้งมีมาตรฐานสินค้าและกฎเกณฑ์การค้าเดียวกัน โดยตลาดอาเซียนมีจำนวนประชากรรวมกันถึง 610 ล้านคนซึ่งคิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรโลกและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท (สำหรับประเทศไทยประเทศเดียว มีประชากรทั้งสิ้นกว่า 67 ล้านคนและมี GDP 4 พันกว่าล้านบาท) การที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบปลายปีนี้ ถือเป็นทั้งโอกาส (opportunity) และอุปสรรค (threat) ของผู้ประกอบการไทย เช่น โอกาสในการเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18% ต่อปี อุปสรรคจากคู่แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือของไทยไปยังประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่ารวมถึงการหลั่งไหลของแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจและปรับตัว โดยวันนี้ผมจะขอหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้ ประเด็นแรก คือ ผู้ประกอบการไทยยังมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนภายนอกในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (under utilization of external financing sources) โดยพบว่า มีเพียงจำนวน 40% ของผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจใช้แหล่งเงินทุนอื่นๆ นอกจากเงินออมของตนเองในการริเริ่มธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนภายนอกส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นเงินออมของครอบครัว (24%) ในขณะที่ตัวเลขแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนในระบบกลับมีเพียง 14% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงการขาดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนภายนอก ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการไทยต้องการที่จะขยายตลาดหรือขยายการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในตลาดอาเซียน ใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนภายนอก เช่น การหาผู้ร่วมทุน (venture capital) การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและผู้ประกอบการไทยยังคงขาดอยู่ ประเด็นที่สอง คือ การขาดความสามารถในเรื่องการตลาดระหว่างประเทศและการส่งออก (internationalization and export orientation) โดยพบว่า ผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไทยที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศ  (internationalization) เพียง 3.8% กล่าวคือ มีเพียงผู้ประกอบการไทย 4 คนจาก 100 คนที่มีกลุ่มลูกค้าต่างประเทศในยอดขายรวมมากกว่า 25% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมมีตัวเลขที่สูงกว่าประเทศมาก เช่น สิงคโปร์ (37.2%) เยอรมัน (21.1%) สหรัฐอเมริกา (14.5%) เป็นต้น ประเด็นที่สาม คือ การขาดความสามารถทางด้านนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีทางการผลิตใหม่ๆ (lack of innovation and technological utilization) จากผลการศึกษาพบตัวเลขที่น่าแปลกใจว่า ผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไทยจำนวนถึง 60% ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิต และกว่า 88% ของผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจอายุมากกว่า 3.5 ปี ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตเช่นกัน และเมื่อพิจารณาถึงความใหม่ (นวัตกรรม) ของสินค้าและบริการของผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจใหม่ พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจใหม่ (51%) กลับผลิตสินค้าหรือบริการที่ไม่ใหม่ในสายตาของผู้บริโภคหรือเป็นสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงขาดความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจและยังคงผลิตสินค้าในลักษณะ “ลอกเลียนแบบ” กันอยู่ (Me-too Product) จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 3 ประเด็นของสถานภาพผู้ประกอบการไทย นำไปสู่ประเด็นสุดท้ายที่ผมต้องการจะกล่าวถึง คือ เรื่องของ “ปริมาณและคุณภาพของผู้ประกอบการไทย” จากการที่ผมศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับผู้ประกอบการทั่วโลกและข้อมูลจากการศึกษา Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ประจำปี 2558 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีอัตราส่วนของผู้ประกอบการมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่สัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ไทยที่มีต่อ GDP รวมทั้งประเทศกลับยังมีมูลค่าต่ำ (ในประเทศไทยสัดส่วนของ SMEs contribution to GDP อยู่ที่ประมาณ 37%) โดยเมื่อพิจารณากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าสัดส่วนของมูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs ต่อ GDP โดยรวมของประเทศมีค่ามากกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก เช่น เยอรมัน (57%) ญี่ปุ่น (55%) และเกาหลีใต้ (50%) นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (อายุไม่เกิน 3.5 ปี) ในประเทศไทยจำนวน 56% ประกอบธุรกิจในลักษณะกิจการคนเดียว/ไม่มีการจ้างงาน ในขณะที่ 87% ของผู้ประกอบการใหม่ในสิงคโปร์มีการจ้างพนักงานตั้งแต่จำนวน 1 คนขึ้นไป และมีเพียง 17% เท่านั้นที่ประกอบธุรกิจในลักษณะกิจการคนเดียว ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสังคมความเป็นผู้ประกอบการไทยไม่เฉพาะในแง่ของปริมาณ แต่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงอันใกล้ ผู้ประกอบการไทยกำลังก้าวข้ามจากสนามการแข่งขันระดับประเทศ ไปสู่สนามการแข่งขันระดับสากลและโลก คู่แข่งทางธุรกิจของท่านอาจไม่ใช่คนไทยและไม่พูดภาษาไทยอีกต่อไป  ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม ผู้ประกอบการไทยก็จำเป็นที่จะต้องขึ้นชกในสนามเวทีการแข่งขันระดับโลก ผู้ประกอบการที่มีการเตรียมพร้อมติดอาวุธทางปัญญา ทั้งทักษะทางด้านการบริหารธุรกิจและทักษะทางด้านภาษาที่ 2 และ 3 เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ในการแข่งขันในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ นักวิจัยอาวุโสโครงการ Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ