ปัจจัยเสี่ยงการลงทุนยุคหลังโควิด - Forbes Thailand

ปัจจัยเสี่ยงการลงทุนยุคหลังโควิด

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Mar 2021 | 07:35 AM
READ 3074

ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2564 เรากำลังเข้าใกล้จุดที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีที่แล้วกลายเป็นเพียงบทนำเรื่องราวทางเศรษฐกิจในอนาคต เราคาดว่าเศรษฐกิจหลายๆ ภูมิภาคจะดีขึ้น เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังโควิดอย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงในระยะสั้นอยู่มาก”

มองแวบแรกดูเหมือนไม่มีอะไรในปี 2564 จะเลวร้ายได้เท่าปี 2563 ที่เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 80 ปี และวิกฤตสุขภาพโลกที่หนักหน่วงสุดในรอบ 100 ปี สร้างความเสียหายมหาศาลต่อชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.4% ยังมีแสงสว่างรำไรให้เห็นเมื่อเข้าสู่ปี 2564 เรากำลังเข้าใกล้ถึงจุดที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีที่แล้วจะกลายเป็นบทนำไปสู่บทใหม่ของเศรษฐกิจในอนาคต IMF ยังได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่า จะขยายตัวถึง 5.2% ดีขึ้นจากระดับต่ำสุดของปีที่แล้ว วัคซีนที่เป็นความหวังของทั่วโลกมีการทดลองในหลายเคส และจะถูกส่งไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี ถ้ามองโลกในแง่ดีเรากำลังก้าวไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันรุนแรงกว่าที่คาดกันไว้มาก การแพร่ระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงอย่างน่าตกใจในยุโรปและสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 2563 ทำให้หลายภูมิภาคต้องกลับสู่มาตรการล็อกดาวน์การแพร่ระบาดที่เลวร้ายที่สุดบางพื้นที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2564 กรณีที่ไม่มีมาตรการแก้ไขการแพร่ระบาดจะเกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทุกเดือนที่มีการยกระดับความเข้มงวดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก สำหรับผู้คนและธุรกิจจำนวนมาก “เวลา” เป็นปัจจัยสำคัญที่พวกเขาต้องเผชิญกับการตกงานหรือภาวะล้มละลาย ในแต่ละวันที่ธุรกิจหยุดชะงัก ไม่มีรายได้ และสร้างความเสียหายรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวที่แย่ไปกว่านั้นคือ สภาวะที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้มักจะดิ่งลงไปอีกก่อนที่จะผงกหัวปรับตัวดีขึ้นในที่สุด  
  • โอกาสในการลงทุน
จากมุมของการลงทุน การมองบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ควรสมดุลกันกับการระวังความเสี่ยงระยะใกล้แบบเฉียบพลัน การระบาดของโรคสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสินทรัพย์ทางการเงินจำนวนมหาศาลผลกระทบในวงกว้างที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อลดลงมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่จนกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เรายังคงระมัดระวังสินทรัพย์เสี่ยงจากการคาดการณ์การระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาว โอกาสในการลงทุนระยะยาวหลายประเภทกำลังเริ่มปรากฏขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันสำหรับการลงทุนบางประเภท เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างทางด้านเศรษฐกิจมหภาคพื้นฐาน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในบางประเทศ ยอดผู้ป่วยโควิด-19 คาดว่าจะพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงฤดูหนาวก่อนที่วัคซีนอาจทำให้จำนวนการระบาดลดลงในช่วงฤดูร้อนปี 2564 ระยะเวลาและประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นตัวกำหนดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินที่สำคัญในปีนี้ นอกจากนี้ การทำแผนการดำเนินทิศทางเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากแรงกระตุ้นของปี 2564 มีความสำคัญอย่างมาก โดยอัตราการเติบโตระหว่างการฟื้นตัวของปีนี้จะไม่ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ปี 2565 และปีต่อๆ ไป การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของโลก (GDP) จะอยู่ในระดับปานกลาง โดยจะเติบโต 3.8% ในช่วงปี 2565-2568 ตามการคาดการณ์ของ IMF ประเทศที่พัฒนาแล้วเศรษฐกิจจะเติบโตเฉลี่ย 2.2% ส่วนตลาดเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตเฉลี่ย 4.9% ในท้ายสุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลที่มีภาระหนี้ระดับสูงก่อนการระบาดจะมีงบทางการเงินที่จำกัดและขาดดุลทางการคลังสูงขึ้น อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (debt-to-GDP) เพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ  
  • ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง
มิติความซับซ้อนของวิกฤตในปัจจุบันคือ สภาวะความไม่มั่นคงของโลกที่มีอยู่ก่อนการระบาด ความตึงเครียดด้านปัจจัยทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นกระแสชาตินิยมที่เพิ่มขึ้น และการแบ่งข้างทางการเมืองทำให้หลายประเทศพบกับความยากลำบากในการหาจุดยืนที่จำเป็นร่วมกันในการจัดการกับความท้าทายจากทั้งภายในและภายนอก โควิด-19 ยังทำให้รัฐบาลหลายประเทศบังคับใช้ข้อกฎหมายที่เกินเอื้อม ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านหรือคัดค้านได้ นอกจากนี้ แนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ deglobalization ที่มีอยู่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น เนื่องจากหลายประเทศหันกลับมาให้ความสำคัญกับความกังวลภายในประเทศมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกำลังลดถอยลงท่ามกลางระบบเศรษฐกิจหลักๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนเชิงโครงสร้างไปสู่การผลิตภายในประเทศและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินไปอีกหลายปีข้างหน้า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางยุคหลังโควิด ของโลกขึ้นใหม่  
  • โอกาสเชิงกลยุทธ์
เราคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาขึ้นในหลายภูมิภาค เนื่องจากโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังโควิด อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในระยะสั้นก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อย เพราะการล็อกดาวน์และมาตรการข้อจำกัดในระดับภูมิภาคยังคงต้องดำเนินต่อไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ข้อจำกัดด้านการเดินทางหรือเคลื่อนย้ายยังคงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส จนกว่าวัคซีนจะพร้อมสำหรับการแจกจ่ายในวงกว้าง กว่าจะถึงเวลานั้นรายได้ที่หายไปและอุปสงค์มวลรวมที่ได้รับผลกระทบจะสร้างความเสียหายต่อสภาวะเศรษฐกิจมหภาค สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงเเละปลอดภัย (safe-haven assets) ยังคงมีความสำคัญในช่วงเดือนที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความรุนแรง แต่ในท้ายสุดสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงเเละปลอดภัยจะมีความสำคัญลดน้อยลงเมื่อวัคซีนสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ในอนาคตเรายังคงมีโอกาสในตลาดสกุลเงินท้องถิ่นบางสกุล ขณะที่ยังคงต้องระมัดระวังกับความเสี่ยงในระยะใกล้ เรายังคงมองสถานการณ์เป็นบวกในปีนี้ เนื่องจากศักยภาพทางการแพทย์ในการยับยั้งและบรรเทาการแพร่ระบาดโควิด-19 การลงทุนทั้งหมดมีความเสี่ยง รวมถึงความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น โดยทั่วไปราคาพันธบัตรจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น เมื่อราคาของพันธบัตรในพอร์ตการลงทุนปรับตัวขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย มูลค่าของพอร์ตการลงทุนอาจลดลง   Michael Hasenstab Michael Hasenstab ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน เทมเพิลตัน โกลบอล แม็คโคร     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine