การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของประเทศเพื่อนบ้านเนื้อหอมของเรา ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่ากลุ่มประเทศ CLMV อยู่ในความสนใจของนักธุรกิจและนักลงทุนไทยมาอย่างต่อเนื่องภาพรวมของกลุ่มประเทศนี้อยู่ในทิศทางที่สดใสมาก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขจีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี สูงกว่าทั้งจีนและอินเดีย อีกทั้งยังมีเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกปีละ 8% ตลอดจนมูลค่าการส่งออกก็ยังเติบโตปีละ 18%
ทั้งหมดนี้นับว่าสวนทางกับภาพเศรษฐกิจโลกที่เราเห็นกันพอสมควรด้วยประชากรที่มีจำนวนมากและค่าแรงที่ถูก สองปัจจัยนี้ ดึงดูดให้หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้ามาใช้เป็นฐานการผลิต นอกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มประเทศนี้ยังได้ลุกขึ้นปัดฝุ่นประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายๆ อย่างไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเมียนมาได้สร้างจุดเริ่มต้นของเส้นทางประชาธิปไตยโดยการที่มีรัฐบาลพลเรือนชุดแรกตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หรือกรณีของเวียดนามที่ได้ทำข้อตกลงทางการค้า TPP เสมือนเปิดประตูสู่ตลาดโลก
ปัจจัยทั้งหมดยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศนี้นับวันจะมีมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นเดียวกับจีน ซึ่งมีผู้คนมากมายละทิ้งงานในชนบทเพื่อมุ่งหน้าเข้ามาทำงานในภาคการผลิตและบริการในเมืองซึ่งให้ค่าจ้างสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม การจะคว้าโอกาสจากธุรกิจภาคบริการ จำเป็นที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดในประเทศนั้น เพราะธุรกิจภาคบริการส่วนใหญ่จะพึ่งพิงกำลังซื้อของคนในประเทศนั้นเป็นหลัก ต่างจากธุรกิจผลิตสินค้าที่เข้าไปลงทุนเพื่อจะใช้ประโยชน์จากแรงงานจำนวนมากและราคาถูก รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ดังนั้น การที่จะทำให้ธุรกิจภาคบริการประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ลักษณะของตลาดและการแข่งขันในประเทศนั้นๆ หรือที่เราเคยเห็นกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า การเข้าไปลงทุนในธุรกิจภาคบริการหลายๆ ครั้ง มีการเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นก่อนมากกว่าธุรกิจบริการมักมีการปิดกั้นนักลงทุนต่างชาติมากกว่าธุรกิจการผลิต
เห็นได้ชัดจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ พร้อมด้วยสิทธิทางภาษีจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิต ในขณะที่ภาคบริการมีระเบียบกฎเกณฑ์ต่อนักลงทุนต่างชาติมากกว่า เช่น การจำกัดการถือหุ้นของชาวต่างชาติที่ 60% ของเมียนมา หากจะลงทุนซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต การกำหนดขนาดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากจะลงทุนห้างค้าปลีกในลาว ในขณะที่ภาคการผลิตทั่วไปกำหนดทุนขั้นต่ำเพียง 125,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น เป็นต้น
หลายท่านอาจมองว่าข้อตกลง AEC จะแก้ปัญหาด้านนี้่หรือไม่? แต่ความจริงแล้วประเทศทั้งสี่ยังได้รับการผ่อนผันให้เปิดเสรีในธุรกิจบริการได้ช้ากว่าเพื่อนๆ ในอาเซียน ซึ่งหมายถึงว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการต้องทำการบ้านมาให้พร้อมทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกระบวนการทางราชการแม้ว่าโอกาสสำหรับธุรกิจภาคบริการดูจะสดใส หากแต่หนทางนั้นยากและท้าทายอย่างมาก อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อประชากรมีรายได้สูงขึ้น ความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคก็จะเติบโตขึ้นตาม ซึ่งเป็นโอกาสให้กับธุรกิจค้าปลีก เห็นได้จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าปลีกในกลุ่มประเทศนี้เติบโตเฉลี่ยเกือบ 15% ต่อปี อีกทั้ง ปริมาณการค้าชายแดนกับไทยก็เติบโตสูงเช่นกัน แต่การค้าปลีกสมัยใหม่ในรูปแบบโมเดิร์นเทรดยังมีสัดส่วนไม่ถึง 20% บ่งบอกเป็นนัยๆ ได้ว่ายังมีช่องทางและโอกาสให้ขยายตัวได้อีกมาก
ทั้งนี้ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการบุกตลาดที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เช่น โฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบันซึ่งมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไวไฟอยู่แทบทุกหัวมุมถนน นอกจากนี้ หากแนวคิด ASEAN Single Window และการขนส่งสินค้าข้ามแดนได้รับการผลักดันจากภาครัฐจนประสบผลสำเร็จ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนได้
ธุรกิจต่อมาที่จะได้รับโอกาสเช่นกัน คือ ธุรกิจบริการของโรงพยาบาล โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเวียดนามและกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องราว 10% ต่อปีไปจนถึงปี 2020 กรณีของเมียนมาก็เติบโตเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยดูเหมือนจะได้เปรียบอยู่แล้วในด้านความพร้อมและการยอมรับในคุณภาพของบริการ โดยที่ผ่านมามีผู้ป่วยในกลุ่มประเทศ CLMV เดินทางเข้ามาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้วแต่ถ้าถามว่า โรงพยาบาลไทยควรขยายตลาดไปยังประเทศเหล่านี้เลยหรือไม่?
และธุรกิจสุดท้ายที่จะได้รับประโยชน์ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยแนวโน้มการขยายตัวของประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มขยายตัวสูงตาม ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้รับเหมาและนักพัฒนาอสังหาฯ หากเทียบดูแล้ว นักธุรกิจไทยเหมือนจะได้เปรียบกว่าผู้เล่นในแต่ละประเทศนั้นๆ จากที่มีประสบการณ์ในตลาดอสังหาฯ ในไทยมาก่อน รวมถึงยังเคยเข้าไปลงทุนรับเหมางานโปรเจกต์ใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า เขื่อน และถนนในกลุ่มประเทศนี้มาแล้ว
แต่ถึงกระนั้น การเข้าไปเจาะตลาดที่อยู่อาศัยมีความยากกว่าที่คิดและประสบการณ์ที่มีมาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะเราเองก็ยังไม่เห็นว่ามีรายชื่อบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยที่เข้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV มากนัก ทั้งๆ ที่จำนวนที่อยู่อาศัยเติบโตสูง อย่างพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปีขณะที่ในเมียนมาขยายตัวกว่าปีละ 60% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเองอาจเป็นเพราะกฎหมายด้านที่ดินที่มีความซับซ้อนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารที่ยังพัฒนาไม่มาก
แน่นอนว่าธุรกิจไทยไม่ควรพลาดโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อและการเข้าสู่ความเป็นเมืองของกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่จะสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในระดับภูมิภาคด้วยข้อได้เปรียบทั้งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
ประเทศไทยนั้นโชคดีที่ตั้งอยู่ใจกลางตลาดที่สดใสนี้ ขอให้มองเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เป็นคู่แข่งแต่เป็นคู่ค้า หากเราต้องการเป็น “พี่ใหญ่” ของภูมิภาค ความใจกว้างระหว่างภาครัฐ ความเอื้อเฟื้อและเป็นธรรมของภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
คลิกอ่านบทวิเคราะห์ "ตลาด CLMV ต้องมองลึกกว่าภาพรวม" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ AUGUST 2016
ตลาด CLMV ต้องมองลึกกว่าภาพรวม
TAGGED ON