ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและให้ประชาชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น จึงได้กู้เงินจากต่างประเทศโดยการออกพันธบัตรเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2447
ต่อมาในปี 2519 ไทยได้กลับมากู้เงินจากตลาดการเงินต่างประเทศอีกครั้งในรูป Euro Syndication วงเงิน 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการกู้เงินจากตลาดดังกล่าวมาตามลำดับ จากการกู้เงินจากกลุ่มธนาคารในรูป syndication เป็นการกู้เงินในรูป floating rate notes และการออกพันธบัตรชนิด private placement ในตลาดทุนญี่ปุ่น เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงขั้นการออกพันธบัตรชนิด public offering ในตลาดทุนญี่ปุ่นหรือ Samurai Bond เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2522 ในการนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำ credit rating สำหรับประเทศไทยเพื่อเป็นการปูทางในการกู้เงินโดยตรงจากนักลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศที่อนุญาตเฉพาะผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการรับรองโดยบริษัท Standard & Poors (S&P) และบริษัท Moody’s Investor Service (Moody’s) โดยเริ่มจากการทำ Credit Assessment ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่บริษัท S&P เสนอ และได้รับการจัดลำดับเครดิตในระดับ S1 (Satisfactory) เมื่อปี 2531 ซึ่งหมายความว่า ไทยสามารถชำระหนี้ได้ตรงกำหนด หลังจากนั้น กระทรวงการคลังได้ว่าจ้างบริษัท S&P และ Moody’s จัดทำ credit rating ของประเทศ และได้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นในรูป Euro Commercial Paper วงเงิน 1 พันล้านเหรียญ โดยได้รับการรับรองเครดิตระยะสั้นที่ A1P1 เมื่อกุมภาพันธ์ 2532 ตามด้วยการออกพันธบัตรชนิด public offering ในตลาดทุนสหรัฐฯ หรือ Yankee Bond วงเงิน 200 ล้านเหรียญ เมื่อสิงหาคมปีเดียวกันโดยได้เครดิตที่ A-A2 ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่า ไทยมีความสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ในระยะยาวหากมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ อาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ต่อมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินโดยการออก Yankee Bond รุ่นที่ 2 วงเงิน 300 ล้านเหรียญ พร้อมกับการจัดตั้ง Medium Term Notes Program วงเงิน 1 พันล้านเหรียญ เมื่อปี 2534 อย่างไรก็ดี การออก Yankee Bond รุ่นที่ 3 เมื่อเมษายน 2540 ทั้งที่พันธบัตรรุ่นดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดียิ่งจนต้องเพิ่มวงเงินพันธบัตรที่จะออกจำหน่ายจาก 500 เป็น 600 ล้านเหรียญที่อัตราดอกเบี้ย 7.75 % ต่อปี สำหรับพันธบัตรระยะ 10 ปี โดยมี Spread Over US Treasury Bond ใกล้เคียงกับเกาหลี ซึ่งมี credit rating สูงกว่าไทย แต่ Moody’s ได้ประกาศ downgrade ไทยจาก credit rating ในระดับ A2 เป็น Baa3 เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง (5% ของ GDP) และมีความห่วงใยในค่าเงินบาท การจัดลำดับเครดิตของประเทศเมื่อปี 2532 กระทรวงการคลังมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษา credit rating ในระดับ A-A2 ได้ แต่ผลจากการถูก downgrade เมื่อเมษายน 2540 และการเกิดวิกฤตในภาคการเงินเมื่อกรกฎาคม 2540 ทำให้ไทยมีเครดิตที่ BBB Range มาจนถึงปัจจุบัน สำหรับประโยชน์ที่พึงได้รับจากการทำ credit rating ของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการกระจายฐานการกู้เงินให้กว้างขวางขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองแล้ว ยังเป็นการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งจะช่วยให้สถาบันในภาคการเงินและภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนสามารถกู้เงินในตลาดการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้น ในการนี้ กระทรวงการคลังได้สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทวิเคราะห์เครดิตไทย (TRIS Rating) เมื่อปี 2536 เพื่อรับรองเครดิตของตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายในตลาดตราสารหนี้ไทย อีกทั้งในช่วงหลังจากประสบวิกฤตเมื่อปี 2540 กระทรวงการคลังยังปรับเพิ่มบทบาท โดยการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนในระดับภูมิภาคเมื่อปี 2542 จนถึงขั้นที่ทำให้ต้นทุนการกู้เงินในประเทศต่ำกว่าการกู้เงินจากต่างประเทศ พร้อมกับเปิดโอกาสให้นิติบุคคลจากต่างประเทศสามารถกู้เงินโดยการออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในตลาดการเงินไทย ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB เป็นนิติบุคคลต่างประเทศแห่งแรกที่ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทยเมื่อปี 2547 ปัจจุบัน มีวิสาหกิจจากต่างประเทศ จำนวน 88 ราย ได้ยื่นคำขอออกพันธบัตรสกุลเงินบาทเป็นเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท นับว่าไทยสามารถแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสและประสบความสำเร็จในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย จนสามารถระดมเงินเพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศทดแทนการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งท่านสามารถติดตามผลการระดมทุนจากตลาดทุนในประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชนในและต่างประเทศ ได้จาก Thailand Bond Market Association พรรณี สถาวโรดม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ ตุลาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine