ท่ามกลางความกังวลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อกันเป็นวงกว้าง ทว่า คนส่วนใหญ่ยังต้องดำเนินชีวิตประจำวัน และทำกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจสัมผัสเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว หากมีตัวช่วยลดความเสี่ยงคงจะดีไม่น้อย
ดร. วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
กลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์นี้ บริษัท เบเยอร์ จำกัด ผู้ผลิตสีเบเยอร์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์
“เบเยอร์ชิลด์ แอนตี้ไวรัส” ใช้
นวัตกรรม Gold Ion อนุภาคทองคำบริสุทธิ์ระดับนาโน ที่ระบุว่าสามารถทำลาย Human Coronavirus NL63 ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ รวมทั้งทำลายไวรัสและแบคทีเรียอีกกว่า 10 ชนิด โดยก่อนหน้านั้นได้ผลิตสี ซึ่งมีคุณสมบัติปกป้องผิวจากคราบสกปรกและสีช่วยลดความร้อนภายในอาคาร
ประเสริฐ ชัยยศบูรณะ ก่อตั้งบริษัท เบเยอร์ จำกัด ในปี 2504 โดยกู้เงินจากบิดามาเปิดห้องแถวเล็กๆ ขายวัสดุก่อสร้างอิฐหินปูนทรายและสีทาอาคาร ค้าขายไปสักระยะหนึ่งมองเห็นว่าสินค้าทุกอย่างสามารถหาซื้อได้ในประเทศยกเว้นสีทาอาคารที่ต้องนำเข้า เกิดคำถามว่าทำไมคนไทยไม่ผลิตเอง
จึงร่วมกับ ดำรงค์ ชาญอุษา ผู้เป็นเพื่อนซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเคมี สร้างโรงงานและผลิตสีทาอาคารออกมาจำหน่าย โดยดำรงค์รับผิดชอบด้านการคิดค้นสูตร ส่วนประเสริฐดูแลภาพรวมธุรกิจ และสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษ เพราะคนไทยยังไม่เชื่อถือในแบรนด์ไทย ระหว่างนั้นยังจำหน่ายสีแบรนด์อื่นๆ ด้วย
ปี 2508 บริษัทออกผลิตภัณฑ์ “Beger Unithane B-52 ที่มีคุณสมบัติช่วยปกป้องเนื้อไม้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเนื่องจากในยุคนั้นบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากไม้
“สมัยนั้นซัพพลายมีน้อยแต่ดีมานด์เยอะมาก คุณพ่อจับมือกับบริษัทต่างประเทศได้สูตรพิเศษมา 1 สูตร และเน้นการกระจายสินค้า ดูแลทุก supply chain อย่างทั่วถึงทั้งลูกค้า ช่างทาสี และร้านค้า สินค้าได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว จาก Unithane เราขยายพอร์ตเป็นสีน้ำ สีน้ำมัน ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้แบรนด์ Beger” ดร. วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ ทายาทคนสุดท้องของประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand
ปี 2510 ประเสริฐระดมทุนครั้งใหญ่ สร้างโรงงานแห่งที่ 2 ที่ถนนสุขสวัสดิ์ซอย 92 เพื่อเร่งกำลังการผลิตตามความต้องการของลูกค้า และบริษัทได้ต่อยอดไปยังธุรกิจสีกลุ่มอื่นๆ
“คุณพ่อพูดเสมอว่า ชอบทำอะไรที่แตกต่างแต่ตอบโจทย์ สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า นวัตกรรมเราถือเรื่องคุณภาพเป็น fundamental ตั้งแต่ day 1 ที่ตั้งธุรกิจ กระทั่งท่านเห็นช่องทางและเอาแนวคิดมาประกอบกันมองว่าการพัฒนาสินค้าด้วยตนเองจะเพิ่มคุณค่าให้กับวงการก่อสร้าง คุณพ่อมีฐานลูกค้าเป็นช่างสีอยู่แล้ว”
- ทุ่ม R&D สร้างความแตกต่าง
ตั้งแต่ปี 2543 บริษัทมุ่งดำเนิน ธุรกิจภายใต้แนวคิด
Eco-Wellness Innovation ซึ่งเริ่มจากยอดขาย 480 ล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2562 บจ. เบเยอร์ มีรายได้รวม 3,848.79 ล้านบาท กำไรสุทธิ 135.63 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ที่มีรายได้ 3,492.04 ล้านบาท กำไรสุทธิ 86 ล้านบาท มีบริษัทในเครือ 3 แห่ง ประกอบด้วย บจ. เบเยอร์, บจ. สีเบเยอร์ และบจ. บี.เอ็น. บราเดอร์
ปัจจุบันมีทายาทรุ่น 2 มาสืบทอดกิจการจำนวน 4 คน จากทั้งหมด 5 คน เมื่อจะส่งมอบงานสู่ทายาท ประเสริฐฝากไว้ 2 ข้อคือ ให้ดูแลพนักงาน และอย่าหยุดคิดเรื่องนวัตกรรม ต้องสร้างคุณค่าอุตสาหกรรมสีให้กับประเทศ
ภายหลังการหารือถึงทิศทางของบริษัทพี่น้องทั้งสี่มีความเห็นตรงกันว่า ต้องสร้างความแตกต่างจากผู้ประกอบการธุรกิจสีรายอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด
Eco-Wellness Innovation เนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้าเดิมโดยเฉพาะสีงานไม้ คิดเป็น 10% ของอุตสาหกรรมสีทาอาคาร
(decorative paints) ซึ่งขณะนั้นมีมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท
ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกคือ
สีเบเยอร์ชิลด์ โดยนำเทฟลอนมาผสมในเนื้อสี ซึ่งมีคุณสมบัติเคลือบและปกป้องพื้นผิวให้ปราศจากฝุ่นผงหรือสิ่งสกปรก
“ในวันที่คนคุยกันเรื่องสีมีความทนทานแต่ไม่สวย ผนังมีคราบสกปรก เราจับมือต่างประเทศมองว่า ถ้าสีอยู่ได้ถึง 10 ปีก็ต้องสวย 10 ปีเช่นกัน จึงทำวิจัยร่วมกับบริษัท Dupont สหรัฐอเมริกา เจ้าของเทคโนโลยีเทฟลอน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับในตลาดพรีเมียมทำให้บริษัทก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีอย่างเต็มตัว”
จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 คือ
สีเบเยอร์คูล ซึ่งมีจุดเด่นในการลดความร้อนที่สะสมบนผนังบ้านในตอนกลางวัน เป็นการเปลี่ยนมุมมองครั้งใหญ่ว่า สีไม่ได้มีคุณสมบัติแค่ปกป้องพื้นผิว ป้องกันการลอกร่อน หรือให้ความสวยงามเท่านั้น
“เบเยอร์คูล” เป็นสีผสมเซรามิกที่มีคุณสมบัติสะท้อนและสกัดกั้นความร้อนได้หลักการทำงานคือ ช่วงกลางวันมีแสงอาทิตย์ตกกระทบทำให้บ้านมีความร้อนสะสม หากสะท้อนกลับออกไปได้มากพลังงานที่เหลือจะถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านน้อยลง
“เราเป็นรายแรกและรายเดียวในไทยที่ได้รางวัลจากสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย บ้านจัดสรรคอนโดมิเนียมอาคารต่างๆ การใช้สีชนิดนี้ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 25-30%”
ผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่ายเดือนกันยายน 2563 คือ สีทาภายใน “เบเยอร์ชิลด์ แอนตี้ไวรัส” ที่สามารถทำลาย Human Coronavirus NL63 โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงในคน โดยบริษัทส่งตัวอย่างไปทดลองและได้รับการรับรองจากสถาบันสุขภาพ Virology ประเทศอังกฤษ
“ตัวนี้เรา research มานานพอควร upgrade จาก silver ที่ใช้แพร่หลายแต่ไม่เสถียร...เทคโนโลยี gold ใช้ในอาหารเครื่องสำอางค์ เราพัฒนาและทำสูตรให้ cover โคโรนา และหาแล็บทั่วโลกเพื่อทดสอบดูว่าแล็บที่ไหนรับรองได้ ในอเมริกาคิวแน่นมาก โชคดีได้สถาบันในอังกฤษ เราถามว่าการเทตส์ Human Coronavirus...เทสต์กับสีได้ไหม เขาบอกว่า มีทำให้หลายแห่งปรากฏว่าหลัง modify สูตรก็ปกป้องไวรัสโคโรนาได้เหมือนกัน ฉะนั้น legacy ที่คุณพ่อตั้งเป้ามาทำให้เกิดความเป็นจริงได้ตอบโจทย์ เราเพิ่ง launch สินค้าไป...รุ่น Gold Ion มีคุณสมบัติปกป้อง อนุภาคทองคำกระจายอยู่ชั้นฟิล์มสี และจะปล่อยประจุออกมาเมื่อมีไวรัสมาเกาะ”
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสีมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น
3 ประเภทคือ
สีทาอาคาร สีทาไม้ และสีอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนคร่าวๆ คือ 80-10-10 ตามลำดับ กลุ่มใหญ่สุดคือสีทาอาคาร ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 20% และเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มสีทาอาคารรวมทั้งเป็นผู้นำกลุ่มสีทาไม้
เบเยอร์แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น
5 กลุ่มประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเนื้อไม้, สีทาอาคารคุณภาพสูงครบวงจร, ผลิตภัณฑ์เคมีก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์สีอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์สีสร้างลาย มีสินค้าทุกระดับตลาดตั้งแต่เกรดล่างถึงบนสุด แต่เกรดที่ได้รับการยอมรับ คือ ระดับกลางถึงบน ซึ่งมีนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารย้ำว่า ในการบริหารยึดหลักตามแนวทางที่บิดาสร้างไว้มุ่งพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจสีโดยยึดหลัก FOCUS ประกอบด้วย F-Flexible, O-Ownership, C-Creativity & innovation, U-Unity และ S-Sustainability
“การบริหารเป็นแบบ agile มีโปรแกรม groom พนักงานรุ่นใหม่ ให้เด็ก talent แต่ละแผนกมาทำงานร่วมกัน เช่น เอาคนจากแผนกโลจิสติกส์มาร่วมกับทีมจัดซื้อ บัญชี ไอที และคนทำงานเอกสาร ให้ร่วมกันทำด้านดิจิทัล cross function ในการทำงานเกิดความสนุกสนาน เราเอาทีมมา groom ปีละรุ่น สร้างทีมให้เด็กมีความพร้อมในการทำงานร่วมกัน มีความรู้หลากหลาย สามารถข้ามไปทำงานอื่นทำงานเป็นทีมได้สิ่งที่เราทำต่อคือ ความเป็น ownership entrepreneurship หรือจิตวิญญาณเถ้าแก่”
ดร. วรวัฒน์อธิบายว่า เบเยอร์สร้างความแตกต่างโดยพัฒนาเคมีภัณฑ์ต้นน้ำด้วยตนเอง รวมทั้งนำระบบการผลิตที่ทันสมัยจากเยอรมนีมาใช้ ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า 60% ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงทุนในโซลาร์รูฟ หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงงาน
“สี Beger ทุกกระป๋อง near zero waste ในกระบวนการผลิตของเราเองแทบไม่ generate คาร์บอน เพราะใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ 40% จาก account ทั้งหมด...เป็นระบบ sustainable คุณพ่อบอกว่า การจะทำอะไรต้องยั่งยืนถ้าฉาบฉวยอยู่ไม่ยืดเพราะมีคนเลียนแบบได้ การทำอะไรต้องมองถึงอนาคต มองลูกค้า ประชาชน สิ่งแวดล้อมและประเทศ ไม่ใช่มองแค่ stakeholders โรงงานสีทั่วไปผลิตด้วย operation ที่ถูกกว่านี้ แต่เราลงทุนสูงเพื่ออนาคตด้วยไม่ว่ามาตรฐานอะไร เรา comply หมดทั้ง LEED, มอก., คาร์บอนเครดิต”
สำหรับภาพร่างในอนาคต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบอกว่า ต้องการทำให้ธุรกิจมั่นคงขยายมาร์เก็ตแชร์ นำสินค้านวัตกรรมถึงมือผู้บริโภค ลำดับต่อไปคือ การขยายตลาดในอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีการส่งออกไปลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และทำสินค้าโออีเอ็มบางชนิดที่บริษัทไม่ถนัดเพื่อเติมความหลากหลาย ทำให้พอร์ตสินค้ามากขึ้น เช่น เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าสไตลิสต์ระดับต้นๆ จากยุโรป รวมทั้งมีแผนว่าจะร่วมมือกับบริษัทสีอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากบริษัทมีความพร้อม ฝ่ายการตลาดที่แข็งแกร่ง
“เราไม่ได้ตั้งเป้าที่ยอดขาย เป้าหมายหลักคือ ความมั่นคงของบริษัท เราอยากเป็นที่ 1 ในใจผู้บริโภค เป็น innovation leader...ถ้าพูดถึงสีต้องคิดถึง Beger ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานอาคาร หรือสีอุตสาหกรรม”
อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine