โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2565 WFH กระทบการจ้างงานและเงินเดือน - Forbes Thailand

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2565 WFH กระทบการจ้างงานและเงินเดือน

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Dec 2021 | 11:34 AM
READ 3510

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนและ สำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดเผยผลสำรวจอัตราเงินเดือนครั้งที่ 23 ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผลสำรวจเงินเดือนประจำปีและแนวโน้มการจ้างงาน  ผลสำรวจดังกล่าวยังได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดการจ้างานในประเทศไทยระหว่างปี 2564 และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2565

รายงานผลสำรวจเงินเดือนประจำปีของ โรเบิร์ต วอลเตอร์ส จัดทำขึ้นสำหรับทั้งนายจ้างและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพในตลาดงานทั่วทั้งภูมิภาค โดยรายงานดังกล่าวนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการจ้างงาน การคาดการณ์เงินเดือนในแต่ละอุตสาหกรรม และในแต่ละตำแหน่งงาน นอกจากนี้ยังได้เจาะลึกเกี่ยวกับทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปีหน้าซึ่งทำให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดการจ้างงานในปัจจุบันและในปีถัดไป การจ้างงานของบริษัทต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ESB) เริ่มที่จะฟื้นกลับมาในปี 2564 หลังจากที่หยุดชะงักไปในช่วงปี 2563 นโยบายการทำงานจากที่บ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ได้กลายมาเป็นเงื่อนไขใหม่ในการจ้างงาน ในขณะเดียวกันในปีนี้มีประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานของบุคลากรในประเทศ เนื่องจากบุคลากรต่างประเทศต้องเผชิญกับข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่าในปี 2564 มีการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) การผลิต  ซัพพลายเชนและวิศวกรรม ในด้านของการจ้างงานการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2564 การจ้างงานในหลายประเทศในภูมิภาคได้มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศไทยการฟื้นตัวยังค่อนข้างช้าเนื่องจากการระบาดในช่วงแรกยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิต ในทางตรงกันข้าม ภาคเทคโนโลยีและดิจิทัล ได้มีการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรมและพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล ทิศทางการจ้างงานในปี 2565 การทำงานแบบในออฟฟิศจะถูกให้ความสำคัญน้อยลงแต่จะเน้นรูปแบบการทำงานจากระยะไกลไกล (remote working) ที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้มากขึ้น รวมไปถึงความต้องการในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ การขายและการตลาด รวมไปถึงตำแหน่งที่ผู้สมัครสามารถใช้ทักษะของตนได้โดยไม่ต้องมีการฝึกอบรมใดๆ จะสามารถเรียกเงินเดือนที่สูงได้ การปรับตัวของเงินเดือนในปี 2565 ยังคงสอดคล้องกับปีก่อนหน้าที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ จะอิงตามความสามารถในการแข่งขัน  สาระสำคัญของผลสำรวจเงินเดือนปี 2565 สำหรับประเทศไทย มีดังนี้ - ในประเทศไทยอัตราเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-30 สำหรับผู้ที่หางานในปี 2565 - ความต้องการในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้น - พนักงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีจะเป็นที่ต้องการอย่างสูงด้วยข้อเสนอที่น่าจูงใจ ในขณะที่บริษัทจะต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อให้สามารถรักษาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ด้านระบบการจัดการอัตโนมัติและการวิเคราะห์ผล ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดไว้ได้ - ตำแหน่งที่สามารถทำงานจากระยะไกลได้ (remote working) จะดึงดูดผู้สมัครจากต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องย้ายมาประเทศไทย - ภาคการผลิตของไทยจะฟื้นตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับความต้องการที่มาจากทั่วโลก - ผู้สมัครงานต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่น และแผนการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น - การทำงานระยะไกล (remote working) กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น - อัตราการลาออกของพนักงานจะสูงขึ้นเนื่องจากพนักงานกำลังมองหางานใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น - การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นทักษะที่นายจ้างต้องการในตัวผู้สมัครควบคู่ไปกับทักษะการเรียนรู้และการทำงานเชิงรุก - การเพิ่มขึ้นของทำงานจากระยะไกล (remote working) ส่งผลต่อการเพิ่มความหลากหลายของพนักงาน นำไปสู่พนักงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น - สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การที่นายจ้างจะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนแก่พนักงานในกรณีที่ต้องมีการเรียกมาทำงานที่หน้างาน ข้อมูลจากผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2565 ของโรเบิร์ต วอลเตอร์ส ชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยร้อยละ 96 ของบุคลากรที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลพร้อมที่จะหางานใหม่ในปี 2565 ในทุกอุตสาหกรรมพนักงานมีความมั่นใจในโอกาสการจ้างงานใหม่และส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ยอดเยี่ยมแล้ว ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทำงานอย่างดีที่สุด รวมถึงการทำงานที่ท้าทายและน่าสนใจ เป็นปัจจัยที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด ในปี 2565 การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ได้ก่อให้เกิดความต้องการจ้างงานในหลายตำแหน่ง  ตัวอย่างเช่น บริการทางการเงิน ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่าย 5G  การวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเชน รวมถึงการบริการลูกค้า การบริการทางธนาคารแบบเสมือนจริง นอกเหนือจากนี้ ในปี 2565  เทคโนโลยีจะยังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีด้านการศึกษา  เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การทำงานจากที่บ้านทำให้เกิดการขยายขอบเขตการสรรหาบุคลากรซึ่งมุ่งเน้นที่ความหลากหลายและการทำงานร่วมกันมากขึ้น  ทักษะด้านการจัดการ (soft skills)  เช่น ความสามารถในการทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมของทีมที่อยู่ห่างไกลกันจะมีความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน ดังที่ นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา เน้นย้ำว่า “บริษัทต้องมีความสามารถในการเชื่อมต่อ โน้มน้าวและกระจายอำนาจให้แก่พนักงานได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือในประเทศเดียวกันก็ตาม ทักษะด้านการสื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อความที่สื่อสารจะต้องชัดเจน รัดกุม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมสำหรับการทำงานเป็นทีมจากที่ต่างๆ” ในทำนองเดียวกัน บริษัทที่สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจะได้เปรียบมากขึ้น ส่วนหนึ่งของการได้เปรียบจะเกี่ยวข้องกับการค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ที่ช่วยในการสร้างความผูกพันและการมองเห็นคุณค่าในตัวพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยรักษาอัตราการลาออก   ควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์นายจ้างในเชิงบวกในตลาดการจ้างงานซึ่งจำเป็นต่อการดึงดูดผู้สมัครงาน อ่านเพิ่มเติม: บุญยง ตันสกุล หาโอกาสในวิกฤต ชีวิตและธุรกิจที่ต้องเรียนรู้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine