เพราะเป็น ‘เจนวาย’ จึงเจ็บปวด กลุ่มคนที่มีปัญหา ‘ภาวะซึมเศร้า’ สูงที่สุดในที่ทำงาน - Forbes Thailand

เพราะเป็น ‘เจนวาย’ จึงเจ็บปวด กลุ่มคนที่มีปัญหา ‘ภาวะซึมเศร้า’ สูงที่สุดในที่ทำงาน

บริษัท Bensinger, DuPont & Associates (BDA) ซึ่งทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสมดุลชีวิตและการงานให้กับพนักงานในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานวิจัยจากการเก็บข้อมูลของลูกค้าผู้รับคำปรึกษาว่า กลุ่มอายุของคนทำงานที่มีภาวะซึมเศร้ามากที่สุดคือ เจนเนอเรชันวาย ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 5 ของของผู้เข้ารับคำปรึกษากลุ่มอายุเดียวกัน

BDA แบ่งกลุ่มที่วิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เจนวาย (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2526 – 2542 หรืออายุ 18-34 ปี) เจนเอ็กซ์ (เกิดระหว่างปี 2508-2525 หรืออายุ 35-52 ปี) และคนยุคเบบี้บูม (เกิดระหว่างปี 2489-2507 หรืออายุ 53-71 ปี) และพบว่าเจนวายมีภาวะซึมเศร้าสูงสุดคิดเป็น 20% ขณะที่เจนเอ็กซ์และเบบี้บูมมีภาวะซึมเศร้าเท่ากันที่ 16% ทั้งสองกลุ่ม ในรายละเอียด BDA พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดในที่ทำงานเมื่อพนักงานเกิดภาวะซึมเศร้าคือ “การปรากฏตัวในออฟฟิศได้ตามปกติแต่ไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์พร้อมเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้า” และกลุ่มที่มีลักษณะเช่นนี้สูงสุดคือเจนวาย ซึ่งเกิดปัญหาดังกล่าว 70% ของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ ปัญหาระดับรองลงมา ได้แก่ การลาหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในกลุ่มเจนเอ็กซ์, ความสัมพันธ์ที่ปะทะขัดแย้งในที่ทำงาน เกิดขึ้นมากที่สุดในกลุ่มเบบี้บูม และการได้รับคำตำหนิทั้งจากวาจาและลายลักษณ์อักษร เกิดขึ้นในกลุ่มเบบี้บูมมากที่สุดเช่นกัน ภาวะซึมเศร้าถือเป็นปัญหาที่กัดกินสุขภาพจิตมาก เนื่องจากความรุนแรงของอาการไม่มากพอที่จะทำให้พนักงานลาหยุดงาน ตามที่พบในสถิติดังกล่าวคือพนักงานยังคงพาตัวเองไปถึงที่ทำงานได้ แต่เมื่อการทำงานมีประสิทธิภาพด้อยลงเรื่อยๆ จะทำให้ถูกประเมินในแง่ลบ นำไปสู่การถูกไล่ออกและว่างงานซึ่งทำให้อาการยิ่งแย่ลงไปอีก

ทำไมจึงเกิดกับเจนวาย?

Simon Sinek นักเขียนและนักพูดชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับ Inside Quest ว่า มุมมองของสังคมต่อคนเจนวายเห็นว่า คนเจนเนอเรชันนี้เป็นกลุ่มที่บริหารได้ยาก เพราะมักยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หลงตน ไม่มีเป้าหมาย และขี้เกียจ คนเจนวายเรียกร้องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการอาหารหรือมุมนั่งพักผ่อน แต่ไม่ว่าบริษัทจะให้พวกเขามากแค่ไหน พวกเขาก็ยังไม่พอใจ ซึ่งเขามองว่าความรู้สึกไม่พอใจเหล่านี้มาจาก การเลี้ยงดูที่แย่ของพ่อแม่, โซเชียลมีเดีย, นิสัยไร้ความอดทน และสิ่งแวดล้อม คนเจนวายเติบโตมากับพ่อแม่ที่พร่ำบอกว่าพวกเขาคือคนพิเศษแล้วให้รางวัลกับทุกอย่างที่พวกเขาทำ หนำซ้ำยังโตมากับโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram ซึ่งทุกคนจะโพสต์เฉพาะเรื่องที่ดีของชีวิต ทำให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นและต้องการรางวัลแห่งความสำเร็จในฉับพลันทันที พวกเขาเป็นคนรุ่นที่เข้าทำงานได้เพียง 8 เดือนก็เฝ้านึกสงสัยแล้วว่า “ทำไมฉันยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในองค์กรเสียที”
(Photo Credit: pathrm.wordpress.com)

ยิ่งเปรียบเทียบยิ่งเครียด

เรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักจิตวิทยา Rachael Dove ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Telegraph รายงานจากการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหลายรายว่า คนเจนวายจำนวนมากประสบปัญหาทางจิตวิทยา เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคแพนิก/ตื่นตระหนก (Panic Attack) ด้วยสาเหตุสำคัญๆ เช่น การเลี้ยงดูที่ปกป้องลูกมากเกินไปของพ่อแม่, เทคโนโลยี, การศึกษาที่มีลักษณะเป็น ‘โรงงานสอบแข่งขัน’ รวมถึงการโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีทางเลือกมากเกินไป แม้แต่การเลือกนมสดสักขวด หรือกางเกงยีนส์สักตัว ยังมีแบรนด์และรุ่นให้เลือกนับร้อยชิ้น “จากงานวิจัยทำให้เราทราบว่าคนที่มีทางเลือกไม่มากนักกลับมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้มากกว่า เพราะพวกเขาสามารถเลือกกล่าวโทษสภาวะของชีวิตหรือคนอื่นๆ ได้ เมื่อพวกเขาตัดสินใจผิด แต่ถ้าคุณเกิดมากับทางเลือกมากมายแล้วยังเลือกผิด คุณจึงไม่มีใครให้กล่าวโทษได้เลยนอกจากตัวเอง เจนวายจึงกลายเป็นคนที่ย้ำคิดย้ำทำเสมอเมื่อจะตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่างเพราะกลัวความผิดพลาด” Pieter Kruger นักจิตวิทยาใน London ประเทศอังกฤษอธิบาย Kruger กล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกนี้ถูกทับถมยิ่งขึ้นเมื่อมีโซเชียลมีเดีย ความต้องการที่จะอัพเดทให้ทันทุกสถานการณ์ทำให้เกิดภาวะ FOMO: Fear of Missing Out ความที่ไม่อยากพลาดอะไรไปทำให้โรควิตกกังวลทวีความรุนแรงขึ้น
(Photo Credit: howcast.com)
Dove สรุปเพิ่มเติมว่า FOMO ยังทำให้เจนวายเปรียบเทียบตัวเองกับทุกคนตั้งแต่เพื่อนรอบตัวจนถึงนักร้องดังอย่าง Beyonce และยังเปรียบเทียบทุกอย่างของชีวิต เช่น แฟน, อาหาร, รูปร่างหน้าตา, เสื้อผ้า, วันหยุด, แม้กระทั่งวิธีการออกกำลังกาย ซึ่งทำให้อารมณ์ซึมเศร้ามากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองต่ำกว่าคนยุคเบบี้บูมมาก

คนรุ่นใหม่ประเทศไทยความสุขต่ำสุด

สำหรับประเทศไทย มีผลสถิติใกล้เคียงกับต่างประเทศเช่นกัน โดยข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 สำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย พบว่ากลุ่มอายุ 15-24 ปี มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตต่ำสุดในกลุ่ม อยู่ที่ 31.34 คะแนน รองมาเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 31.46 คะแนน และกลุ่มอายุ 25-39 ปี คะแนนสุขภาพจิตใกล้เคียงกันคือ 31.47 คะแนน ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนดีที่สุดคือช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย 31.60 คะแนน ไม่แน่ว่าสภาพสังคมของการแข่งขันเปรียบเทียบเพื่อเป็น ‘คนพิเศษ’ อาจจะเพิ่งมาถึงประเทศไทยในยุคของคนรุ่นใหม่วัยเรียนและวัยเริ่มทำงานก็ได้   แหล่งอ้างอิง -Millennials experience depression at work more than any other generation, study finds http://on.mash.to/2pBVQjt -Anxiety: the epedimic sweeping through Generation Y http://bit.ly/2mFnVr3 -Four main reasons for Gen Y’s unhappiness http://bit.ly/2r3b2q4 -การสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย เผยแพร่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 http://bit.ly/2qWJ2Iv