Tokyo ครองเบอร์ 1 "เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก 2019" กรุงเทพฯ รั้งอันดับ 47 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย - Forbes Thailand

Tokyo ครองเบอร์ 1 "เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก 2019" กรุงเทพฯ รั้งอันดับ 47 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

Tokyo ยังคงครองแชมป์ เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก ปี 2019 จากการวัดผล 60 เมืองใหญ่ทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยครองอันดับ 47 โดยทำคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

จากการสำรวจดัชนีเมืองปลอดภัยที่สุดในโลก ปี 2019 โดย Economist Intelligence Unit (EIU) วัดผลจาก 57 ดัชนีใน 4 กลุ่มหัวข้อ ได้แก่ ความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ความปลอดภัยส่วนบุคคล, ความปลอดภัยทางสุขภาพ และความปลอดภัยทางดิจิทัล

EIU สรุปผลให้ Tokyo ครองอันดับ 1 เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก ของปีนี้ ด้วยคะแนนรวม 92.0 จากคะแนนเต็ม 100.0 ส่วนอันดับ 60 ท้ายตารางคือเมือง Lagos ประเทศไนจีเรีย

ขณะที่กรุงเทพฯ นั้นอยู่ในอันดับ 47 จาก 60 ประเทศที่ทำการวัดผล ทำคะแนนรวม 57.6 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 71.2 ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ยังครองอันดับร่วมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Ho Chi Minh เมืองหลวงประเทศเวียดนาม ด้วยคะแนนที่เท่ากัน

สำหรับ 10 อันดับแรกเมืองปลอดภัยที่สุดในโลก 2019 คือ

1.Tokyo ประเทศญี่ปุ่น 2.สิงคโปร์ 3.Osaka ประเทศญี่ปุ่น 4.Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ 5.Sydney ประเทศออสเตรเลีย 6.Toronto ประเทศแคนาดา 7.Washington, DC ประเทศสหรัฐอเมริกา 8.(ร่วม) Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก 8.(ร่วม) Seoul ประเทศเกาหลีใต้ 10.Melbourne ประเทศออสเตรเลีย

หากวัดเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิงคโปร์ทำคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเพื่อนบ้านเหล่านี้

2.สิงคโปร์ 37.Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย 43.Manila ประเทศฟิลิปปินส์ 47.(ร่วม) กรุงเทพฯ ประเทศไทย 47.(ร่วม) Ho Chi Minh ประเทศเวียดนาม 53.Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย 58.Yangon ประเทศเมียนมา

(เมือง Vientiane สปป.ลาว, Phnom Penh กัมพูชา, Bandar Seri Begawan บรูไน ไม่อยู่ในการจัดอันดับนี้)

การวัดผลของ EIU ใน 4 กลุ่มหัวข้อนั้นวัดจากดัชนีหลายแง่มุมซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วจะทำให้การอยู่อาศัยในเมืองมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนี้

ความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน - หมายถึงการรักษาความปลอดภัยทางคมนาคม ความเป็นมิตรต่อคนเดินเท้า และแผนการรับมือกับหายนะภัยต่างๆ ซึ่งวัดดัชนีได้จากสถิติ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนน สัดส่วนผู้อยู่อาศัยในสลัม เป็นต้น

ความปลอดภัยส่วนบุคคล - หมายถึงการรักษาความปลอดภัยจากเหตุอาชญากรรม การกำกับควบคุมอาวุธปืน ไปจนถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งวัดดัชนีเหล่านี้จากความชุกของอาชญากรรมทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง อัตราการใช้ยาเสพติด ความถี่ของการโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

ความปลอดภัยทางสุขภาพ - หัวข้อนี้เป็นการวัดทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประชาชน โดยวัดจากอัตราจำนวนแพทย์และจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่อประชากร 1,000 คน การเข้าถึงอาหารที่สะอาดปลอดภัย ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวนการเสียชีวิตของทารก เป็นต้น

ความปลอดภัยทางดิจิทัล - เป็นการวัดผลด้านนโยบายรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีการจัดทีมกำกับดูแลด้านนี้โดยเฉพาะหรือไม่ และความตระหนักรู้ด้านอาชญากรรมไซเบอร์ของประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน

EIU สรุปจากตารางเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก พบว่า 24 อันดับแรกนั้นมีคะแนนต่างกันไม่มากโดยทำคะแนนห่างกันเพียง 10 คะแนน และแน่นอนว่า ประเทศที่มีรายได้สูงกว่าย่อมลงทุนมากกว่าในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงหรือระบบสาธารณสุขขั้นสูง

ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยน้อยกว่ามักจะมีความทะเยอทะยานในการกำหนดนโยบายเหล่านี้ต่ำกว่า และเลือกที่จะลงทุนในสิ่งที่ง่ายหรือใช้ต้นทุนต่ำ

  ที่มา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine