10 ‘เหตุก่อการร้าย’ ครั้งใหญ่ในยุโรปยุค 2000s ฝังรากความกลัว-ทำลายเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

10 ‘เหตุก่อการร้าย’ ครั้งใหญ่ในยุโรปยุค 2000s ฝังรากความกลัว-ทำลายเศรษฐกิจ

เหตุก่อการร้ายครั้งล่าสุดบนสะพาน Westminster และอาคารรัฐสภาในกรุง London ประเทศอังกฤษเมื่อบ่ายวานนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 40 ราย โดยจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่สำคัญที่ตั้งของหอนาฬิกา Big Ben สัญลักษณ์ของกรุง London

โดยสำนักข่าว The Guardian รายงานว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนเชื่อว่าการก่อการร้ายครั้งนี้ปฏิบัติการโดยคนๆ เดียว ไม่ใช่การกระทำของเครือข่ายใด “แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครือข่ายการก่อการร้ายระดับสากล” แม้ยังไม่ทราบเบื้องหลังชัดแจ้ง แต่สิ่งที่แน่นอนคือการก่อการร้ายแต่ละครั้งได้ฝังรากความกลัวลงในภูมิภาคยุโรป ซึ่ง Forbes Thailand ได้รวบรวมการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในยุค 2000s ทั่วยุโรป ที่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และส่วนใหญ่เป็นการกระทำของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง มียอดผู้เสียชีวิตรวมกันไม่ต่ำกว่า 650 ราย 10 เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ในยุโรปยุค 2000s 1. ระเบิดรถไฟใน Madrid ประเทศสเปน (11 มีนาคม 2004) กลุ่ม Al-Qaeda วางระเบิดรถไฟ 14 ลูก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 191 ราย และบาดเจ็บอีก 2,050 ราย โดยชนวนเหตุเกิดจาก Al-Qaeda ต้องการตอบโต้ที่สเปนตกลงเป็นพันธมิตรร่วมรบในสงครามอิรัก
(ขอบคุณภาพจาก: Rueters/Dailymail)
2.การโจมตีรถไฟใต้ดิน-รถประจำทาง London ประเทศอังกฤษ (7 กรกฎาคม 2005) กลุ่ม Al-Qaeda ก่อเหตุด้วยชนวนเหตุเดิมคืออังกฤษส่งทหารเข้ารบในสงครามอิรัก มีการวางระเบิดรถไฟใต้ดิน 3 ลูก และรถประจำทางอีก 1 ลูก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บอีก 784 ราย 3.ก่อเหตุเพื่อเชิดชูฝ่ายขวา Oslo ประเทศนอร์เวย์ (22 กรกฎาคม 2011) เหตุร้ายแรงฝีมือ Anders Behring Breivik เขาวางระเบิดสถานที่ราชการใน Oslo หลายแห่ง และปลอมตัวเป็นตำรวจไปกราดยิงนักเรียนที่กำลังเข้าค่ายฤดูร้อนบนเกาะ Utoya รวมผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บอีก 319 ราย ซึ่งครั้งนี้ Breivik ก่อเหตุด้วยความนิยมลัทธิฝ่ายขวา ต่อต้านมาร์กซิสม์ และเพื่อต่อต้านกลุ่มมุสลิม 4.กราดยิงสำนักงาน Charlie Hebdo ใน Paris ประเทศฝรั่งเศส (7 มกราคม 2015) จุดเริ่มต้นคลื่นการก่อการร้ายที่ถาโถมยุโรป กลุ่ม IS (Islamic State) บุกกราดยิงสำนักงานของ Charlie Hebdo สำนักพิมพ์ที่มักตีพิมพ์การ์ตูนเสียดสีศาสนาอิสลาม มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 22 ราย เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ทำให้มีผู้เดินขบวนแสดงจุดยืนต่อต้านการก่อการร้ายถึง 3.7 ล้านคน 5.บุกโจมตีสนามกีฬา-โรงละคร-ร้านอาหาร Paris ประเทศฝรั่งเศส (13 พฤศจิกายน 2015) ระลอกการก่อเหตุสุดอุกอาจ โดยกลุ่ม IS ระเบิดพลีชีพในสนามกีฬา Stade de France ระหว่างแข่งนัดกระชับมิตรทีมชาติฝรั่งเศส-เยอรมนี ตามด้วยบุกโรงละคร Bataclan และจับตัวประกัน กราดยิง-ระเบิดในร้านอาหาร ผลคือมีผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บ 368 ราย
ตำรวจเร่งอพยพประชาชนออกจากสนามกีฬา Stade de France (ขอบคุณภาพจาก Skysports.com)
6.เหตุการณ์สนามบินเบลเยียม เมือง Brussels ประเทศเบลเยียม (22 มีนาคม 2016) กลุ่ม IS ใช้ระเบิดตะปูพลีชีพในสนามบิน Zaventem เมือง Brussels และสถานีรถไฟใต้ดิน มีผู้เสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บ 340 ราย 7.ระเบิดสนามบินใน Istanbul ประเทศตุรกี (28 มิถุนายน 2016) แม้การก่อการร้ายหลายครั้งในตุรกีมักเกิดจากฝีมือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด แต่การก่อการร้ายครั้งนี้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม IS และเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในตุรกี มีผู้เสียชีวิต 47 ราย และบาดเจ็บ 239 ราย 8.รถบรรทุกวันชาติ เมือง Nice ประเทศฝรั่งเศส (14 กรกฎาคม 2016) ฝรั่งเศสยังตกเป็นเป้าการโจมตี โดยกลุ่ม IS ใช้รถบรรทุกไล่ชนคนและกราดยิงประชาชน มีผู้เสียชีวิตถึง 84 คน และบาดเจ็บ 434 ราย
(ขอบคุณภาพจาก: The New York Times)
9.ตลาดคริสต์มาส กรุง Berlin ประเทศเยอรมนี (19 ธันวาคม 2016) ผู้ก่อการร้ายใช้รถบรรทุกพุ่งใส่ตลาดคริสต์มาส มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บอีก 56 ราย 10.เหตุการณ์สะพาน Westminster กรุง London ประเทศอังกฤษ (22 มีนาคม 2017) ผู้ก่อการร้ายใช้รถยนต์พุ่งชนคนบนสะพาน หยิบมีดแทงเจ้าหน้าที่ในรัฐสภา ก่อนถูกวิสามัญ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 40 ราย นอกจากเหตุการณ์เหล่านี้ยังมีการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายอีกหลายครั้งในยุโรป แม้ว่าประเทศต่างๆ จะเพิ่มงบประมาณเพื่อตรวจตราอย่างเข้มงวด เช่น ประเทศฝรั่งเศสซึ่งถูกโจมตีหลายครั้งใช้งบประมาณเพื่อตรวจตราวันละกว่า 1 ล้านยูโร และสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายไปกว่า 400 คนตลอดปี 2016 แต่ก็ยังเกิดเหตุขึ้น โดยมาตรการต่อไปของสหภาพยุโรป (EU) คือ เตรียมยกเลิกการผลิตธนบัตรใบละ 500 ยูโร เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินสดของกลุ่มผู้ก่อการร้ายและมิจฉาชีพ สังคมต้านกลับมุสลิม เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนในยุโรป โดยประชาชนบางส่วนมีความหวาดกลัวและไม่พอใจชาวมุสลิม เช่น ในเยอรมนีมีการก่อตั้งกลุ่มต่อต้านศาสนาอิสลามชื่อ Patriotic Europeans Against the Islamisation of the West หรือ PEGIDA ซึ่งเคยชักจูงผู้เข้าร่วมเดินขบวนประท้วงชาวมุสลิมได้ถึง 2.5 หมื่นคน และการประณามชาวมุสลิมในที่สาธารณะเกิดขึ้นเนืองๆ ในแต่ละประเทศ คลื่นความหวาดกลัวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนยุโรป เนื่องจากในปี 2017 นี้จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมาตรการจัดการกับผู้ก่อการร้ายย่อมเป็นประเด็นสำคัญ สำหรับฝรั่งเศส พรรคฝ่ายขวาของประเทศมีโอกาสสูงที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากมีนโยบายที่จะจำกัดการเคลื่อนย้ายเสรีเพื่อปกป้องความมั่นคงในประเทศ ด้านประเทศเยอรมนี Angela Merkel นายกรัฐมนตรี ยังยืนหยัดตามหลักการ EU ในการเคลื่อนย้ายคนอย่างเสรีในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลลบกับเธอในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เศรษฐกิจสะเทือน สำหรับผลทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าปราการแห่งแรกที่ถูกทลายลงคือ การท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวโยงถึงธุรกิจสายการบินและโรงแรม โดยเศรษฐกิจฝรั่งเศสนั้นพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวสูง ในปี 2015 มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนฝรั่งเศสถึง 84 ล้านคน สูงที่สุดในยุโรป แต่หลังจากการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ตัวเลขอัตราเข้าพักโรงแรมที่เคยโตสูง 20% ลดเหลือการเติบโตเพียงเลขหลักเดียว และกลับกลายเป็นติดลบถึงสองหลักหลังเหตุการณ์ที่เมือง Nice ตั้งแต่ปี 2015 มีการรายงานว่านักช้อปในอังกฤษลดจำนวนลงในช่วงวันหยุด เนื่องจากประชาชนมีความหวาดกลัวที่จะทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้าซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยง การลดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเช่นนี้อาจทำร้ายเศรษฐกิจของยุโรปยิ่งขึ้นไปอีกในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา โดย European Commissions รายงานว่าตั้งแต่ปี 2004-2015 GDP ของสหภาพยุโรปเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% และปี 2016 ที่ผ่านมาเติบโต 1.9% เท่านั้น หลังถูกกระหน่ำโจมตีนับครั้งไม่ถ้วนมากว่า 2 ปี ต้องติดตามต่อไปว่ายุโรปจะยกระดับมาตรการป้องกันการก่อการร้ายอย่างไรในปี 2017