เรียบเรียงจาก ESPN’s Layoffs Reportedly Will Begin This Week And Could Be Larger Than Expected โดย Simon Ogus และขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก USA Today
เคเบิลทีวี ESPN ระส่ำ! ปลดพนักงานรวด 100 คน ประหยัดต้นทุนสู้โลกดิจิทัล
รูปแบบการรับสื่อกีฬาบนโทรทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์คือ ESPN (Entertainment and Sports Programming Network) หนึ่งในสื่อด้านกีฬายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ โดย ESPN มีการปลดพนักงานไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อเดือนตุลาคมปี 2015 ครั้งนั้นบริษัทเลย์ออฟพนักงานไปกว่า 300 คน แต่การปลดพนักงานในรอบแรกส่วนใหญ่แล้วเป็นการปลดคนทำงานเบื้องหลัง ซึ่งทำให้ไม่ส่งผลมากนักต่อประสบการณ์รับชมของผู้บริโภค
แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน 2017 ช่องเคเบิลทีวี ESPN ซึ่งมีพนักงานทั่วโลกกว่า 8,000 คน มีการปลดพนักงานเป็นครั้งที่สอง จากการรายงานของสำนักข่าว USA Today คาดว่ามีการปลดไปแล้วประมาณ 100 คนและครั้งนี้เป็นการเลย์ออฟคนทำงานเบื้องหน้าซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้ชม
ก่อนหน้าที่ ESPN จะแจ้งปลดอย่างเป็นทางการ Forbes รายงานว่า การปลดพนักงานครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องคาดไม่ถึงแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ESPN กำลังต่อสู้กับต้นทุนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาที่ทะยานสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL (National Football League) หรือบาสเก็ตบอล NBA (National Basketball Association) ในขณะที่จำนวนสมาชิกกลับลดลงเรื่อยๆ ปัจจัยทั้งสองเมื่อรวมกันแล้วส่งผลให้รายได้ของ ESPN ดำดิ่งลงในช่วงที่ผ่านมา
ESPN มีจำนวนสมาชิกสูงสุดที่ 100.1 ล้านรายเมื่อปี 2011 แต่หลังจากนั้นจำนวนสมาชิกกลับลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ไตรมาสที่แล้ว ESPN รายงานว่าจำนวนสมาชิกของช่องลดเหลือเพียง 88 ล้านราย และมีรายได้จากค่าสมาชิกเฉลี่ย 7.21 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อเดือน
รายได้ที่ลดลงของเคเบิลทีวีแห่งนี้ส่งผลให้รายได้โดยรวมของ Disney บริษัทแม่ ESPN ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน แม้ว่าช่อง ESPN จะมีการปรับค่าสมาชิกขึ้นมาถึง 120% ตั้งแต่ปี 2007 (เฉลี่ย 12% ต่อปี) ซึ่งในขณะนั้นช่องคิดค่าสมาชิกเพียง 3.26 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน
ด้านสถานการณ์ภายในบริษัท ก่อนหน้านี้ มีการรายงานจาก Richard Deitsch ผู้สื่อข่าวนิตยสารกีฬา Sports Illustrated ว่าภายในบริษัทมีความปั่นป่วนโกลาหลอย่างมาก เนื่องจากพิธีกรและคนทำงานเบื้องหน้าของช่อง ESPN หลายรายพยายามที่จะเจรจาต่อรองกับสถานี โดยเจรจาขอลดอัตราเงินเดือนเพื่อทำงานในบริษัทต่อไป หรือขอให้ ESPN ชดเชยด้วยหุ้นของบริษัทแลกเปลี่ยนกับการยินยอมลาออกเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่
ในขณะที่พนักงานบางรายของ ESPN และนักกีฬา ได้ทวีตข้อความใน Twitter เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เช่น Paul Kuharsky ผู้สื่อข่าวของ ESPN ประจำทีมอเมริกันฟุตบอล Tennessee Titans ทวีตตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา โดยยืนยันข่าวว่าจะมีการเลย์ออฟพนักงาน และการทำงานกับช่องตลอด 9 ปีของเขากำลังจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้
หรือนักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสม Jim Miller กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า ESPN เป็นสถานที่แห่งความภาคภูมิใจ ความสำเร็จ และแหล่งรายได้มหาศาลสำหรับหลายต่อหลายคน แต่สัปดาห์แห่งการเลย์ออฟนี้จะกลายเป็นสัปดาห์ที่ยากลำบากที่สุดสำหรับทุกคน
เมื่อ ESPN มาถึงจุดที่ต้องเลย์ออฟพนักงานจำนวนมากเช่นนี้ ต้นเหตุสำคัญที่ถูกกล่าวถึงย่อมหนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุครับชมสื่อกีฬาผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้ชมที่ต้องการเลือกรายการแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น เมื่อพวกเขาสามารถเลือกรายการที่จะรับชมด้วยตนเองได้ ต่างจากช่องโทรทัศน์สมัครสมาชิกที่มีรายการจำนวนมากซึ่งอาจมีรายการที่ไม่ได้ตรงกับความชื่นชอบ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนช่องทาง
ซ้ำร้าย การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเกิดขึ้นทันทีหลังจากงานประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬามูลค่าสูงเพิ่งจบลงไป ซึ่ง ESPN เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประมูลได้รับสิทธิถ่ายทอดสด NBA คู่กับช่องกีฬา TNT โดยมูลค่าการประมูลครั้งนี้รวมกันของทั้งสองช่องสูงถึง 2,660 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในช่วงฤดูกาลปี 2024-25
แม้ ESPN จะถือเป็นธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาที่มีมูลค่าแบรนด์สูงเป็นอันดับ 2 (รองจาก Nike) จากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2016 แต่เมื่อ ESPN คว้าสัญญาระยะยาวมูลค่าสูงดังกล่าว รวมกับการสูญเสียรายได้อย่างกะทันหัน ESPN จึงต้องขยับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์และมองหาหนทางประหยัดต้นทุน
และการประกาศเลย์ออฟพนักงานครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะบริษัทดิจิทัลอย่าง Twitter และ Amazon ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL ไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่องทางที่ผู้บริโภคใช้รับชมการถ่ายทอดสดกีฬาจึงเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และ ESPN ที่เป็นเหมือนผู้เฝ้าประตูสูงวัยจึงต้องปรับตัวอย่างฉับพลันเท่านั้นจึงจะรับมือได้ทันการณ์
TAGGED ON