เหตุที่การเลือกตั้งประจำปี 2017 ครั้งนี้ของฝรั่งเศสร้อนแรงและเป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง เนื่องมาจากสตรีวัย 48 ปี หนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้ง “Marine Le Pen” เป็นตัวเก็งในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและเธอคือผู้นำพรรค Front National (FN) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด มีแนวนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งคือการนำประเทศฝรั่งเศสออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือที่เธอเรียกมันว่า “Frexit” เช่นเดียวกับที่อังกฤษได้เริ่มกระบวนการดังกล่าวไปแล้ว
และจากการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา จาก 11 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผลปรากฏว่า สองผู้สมัครที่มีคะแนนนำ ได้แก่ Emmanuel Macron ผู้ก่อตั้งพรรค En Marche! ซึ่งถือเป็นพรรคสายกลาง เน้นแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ มีผลโหวต 24.01% นำเป็นอันดับหนึ่ง และ Marine Le Pen ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยคะแนนเลือกตั้ง 21.3% นอกจากนี้ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงยังมี Francois Fillon จากพรรค Republican ตัวเก็งอีกรายหนึ่ง ได้คะแนนคิดเป็น 20.01% และ Jean-Luc Melenchon จากพรรค La France Insoumise มีผลโหวต 19.58% อย่างไรก็ตาม ตามกติกาการเลือกตั้งฝรั่งเศส หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับผลโหวตมากกว่า 50% ตั้งแต่รอบแรก จะทำให้ต้องเลือกตั้งรอบที่สอง โดยจะแข่งขันเลือกตั้งกันเฉพาะผู้มีคะแนนสูงสุดสองอันดับแรกจากการโหวตรอบแรก ซึ่งนั่นหมายถึง Macron และ Le Pen จะต้องลงแข่งขันอีกครั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ จากผลโพลสำรวจของ IFOP (สถาบันวิจัยความคิดเห็นสาธารณะแห่งฝรั่งเศส) สอบถามประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งว่า หากมีการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยมีสองตัวเลือกคือ Macron กับ Le Pen พวกเขาจะเลือกใคร ปรากฏว่า Macron มีคะแนนนำที่ 60.93% ส่วน Le Pen มีผลโพลที่ 39.07% ถึงแม้กระแสประชาชนที่สนับสนุนการเป็นสมาชิก EU ต่อไปดูจะ “ใจชื้น” ขึ้นมาบ้างหลังการเลือกตั้งรอบแรก เนื่องจาก Macron มีคะแนนนำ และ Fillon ผู้ได้อันดับสามเองก็ประกาศสนับสนุน Macron ในทันที ซึ่งน่าจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือก Fillon ไปในรอบแรก หันมาเลือก Macron ทดแทน แต่ผลโพลและกระแสในสื่อหลักอาจเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป หลังจากเมื่อปีก่อนการลงประชามติเพื่อออกจากสมาชิก EU ของอังกฤษและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็เคยหักปากกาเซียนและสำนักสถิติต่างๆ มาแล้ว ดังนั้น ประชาชนฝรั่งเศสและประเทศอื่นในสหภาพยุโรปอาจจะยังต้องลุ้นกันอีกเฮือก และประเทศภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้ากับฝรั่งเศสหรือกับ EU ก็ต้องลุ้นเกาะขอบเวทีเช่นกัน เพราะฝรั่งเศสถือเป็นประเทศเสาหลักแห่งหนึ่งในเศรษฐกิจภูมิภาคยุโรปร่วมกับประเทศเยอรมนี หาก Le Pen ได้รับเลือก ดำเนินการจัดทำประชามติเหมือนกับอังกฤษ และหากชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออกจากสมาชิก EU และทำได้สำเร็จจริง ย่อมส่งผลสะเทือนอย่างสูงต่อภูมิภาคนี้Macron vs Le Pen ประวัติ-นโยบายสำคัญ
Emmanuel Macron- พรรค En Marche! (สายกลาง, เศรษฐกิจเสรีนิยม)
- อายุ 39 ปี
- อดีตนายธนาคารและอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล Froncois Hollande (รัฐบาลชุดปัจจุบัน) ลาออกในปี 2016 เพื่อก่อตั้งพรรค En Marche!
- นโยบายเศรษฐกิจ: ลดภาษีนิติบุคคลจาก 33% เหลือ 25% เพื่อดึงดูดนักลงทุน, ผ่อนคลายกฎหมายแรงงาน, ลดการใช้จ่ายสาธารณะของภาครัฐ, ลดจำนวนพนักงานรัฐ
- นโยบายผู้อพยพและความมั่นคง: ฝรั่งเศสควรเป็นประเทศผู้รับอพยพเช่นเดียวกับเยอรมนี แต่จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัย
- วิสัยทัศน์: ปฏิรูปการเมืองใหม่และสร้างความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรป
- พรรค Front National หรือ FN (ขวาจัด)
- อายุ 48 ปี
- เติบโตจากอาชีพทนายความ สู่ฐานะผู้นำพรรค FN ในปี 2011 ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2012 โดยได้คะแนนโหวต 18.0% ในรอบแรก
- ต้องการพาฝรั่งเศสลาออกจากสมาชิก EU, ปิดพรมแดน, กลับสู่การใช้สกุลเงินฟรังก์
- นโยบายเศรษฐกิจ: ลดภาษีบุคคลธรรมดา, เพิ่มภาษีบริษัทหากมีการใช้แรงงานต่างชาติและการนำเข้า, ให้สิทธิสวัสดิการสังคมกับประชาชนฝรั่งเศสก่อนชาวต่างชาติ, ลดภาษีธุรกิจ, ลดอายุเกษียณเหลือ 60 ปี
- นโยบายผู้อพยพและความมั่นคง: ลดจำนวนผู้อพยพเหลือ 10,000 คนต่อปีและระงับการรับผู้อพยพในขั้นต่อไป, เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15,000 นาย, เพิ่มจำนวนเรือนจำอีก 40,000 แห่ง
- วิสัยทัศน์: ฝรั่งเศสต้องมาก่อน ปลดปล่อยชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติออกจากชนชั้นนำที่ปกครองอย่างเผด็จการ
รวบรวมจาก
-French presidential election: first round results in charts and maps http://bit.ly/2p6rZjH -Emmanuel Macron v Marine Le Pen: Who are they and what are their policies? http://bit.ly/2pVBhz4 -French Election Result Means Europe Can Breath A Little Easier…For Now http://bit.ly/2panyEp -เทียบนโยบาย 2 ผู้สมัครชิงตำแหน่งปธน.ฝรั่งเศสคนใหม่ http://www.posttoday.com/world/news/491615 -เศรษฐกิจยุโรปกับปัญหาที่รุมเร้ารอบด้าน http://www.forbesthailand.com/commentaries-detail.php?did=1580