รู้จัก Colin Huang มหาเศรษฐีคนใหม่ของโลก ผู้ท้าชิง Alibaba ด้วยการจับ ‘ตลาดล่าง’ - Forbes Thailand

รู้จัก Colin Huang มหาเศรษฐีคนใหม่ของโลก ผู้ท้าชิง Alibaba ด้วยการจับ ‘ตลาดล่าง’

Colin Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo บริษัทอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน เพิ่งเข้าสู่อันดับมหาเศรษฐีโลก หลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้น Nasdaq เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2018 

ในวันแรกที่ทำการขาย หุ้น PDD ปิดราคาที่ 26.70 เหรียญสหรัฐฯ ส่งให้บริษัทมีมูลค่า 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Colin Huang ยังคงมีหุ้นในบริษัทอยู่ 46.8% คิดเป็นมูลค่า 1.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นั่นทำให้ Huang ผู้ก่อตั้งเทคสตาร์ทอัพวัย 38 ปีรายนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 13 ของจีน และนับเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้านเทคโนโลยีที่อายุน้อยที่สุดของแดนมังกร ทั้งนี้ Huang เป็นที่รู้จักในชื่อภาษาจีนว่า Zheng Huang ธุรกิจที่ Huang พัฒนาขึ้นคือ Pinduoduo ก็มีอายุน้อยมากเช่นกัน เพราะบริษัทของเขาเพิ่งจะเปิดตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันรุนแรงของอีคอมเมิร์ซที่ติดตลาดไปก่อนหน้านี้อย่าง Alibaba และ JD.com (อ่านเรื่องราวของ JD.com ได้ที่นี่) อย่างไรก็ตาม Pinduoduo ก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากถึง 200 ล้านคนต่อเดือน โดยการเลือกกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ระดับล่างยิ่งกว่าคู่แข่ง  Pinduoduo ใช้กลยุทธ์ Group Buying เป็นจุดขาย นั่นคือการกระตุ้นการซื้อเป็นกลุ่มโดยบริษัทจะให้ส่วนลดเมื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้ผู้ซื้อมีการแชร์สินค้าจาก Pinduoduo ออกไปในแอพพลิเคชั่นอื่น เช่น WeChat เพื่อชวนให้เพื่อนมาซื้อรวมกัน ตัวอย่างสินค้าที่ซื้อเหมาถูกกว่ากับบริษัท เช่น กระดาษชำระราคา 1 เหรียญสหรัฐฯ
วันซื้อขายหุ้น IPO ของ PDD (photo credit: usa.chinadaily.com.cn)
บางคนมองว่า Pinduoduo คือโมเดลธุรกิจลูกผสมของ Groupon กับ Facebook แต่ Huang อธิบายบริษัทของตัวเองว่าเป็นส่วนผสมของห้าง Costco กับ Disneyland ที่ซึ่งราคาอันสมเหตุสมผลกับความสนุกสนานมารวมกัน ก่อนหน้านี้ Pinduoduo ได้รับเงินทุนจากเวนเจอร์แคปิตอล เช่น Sequoia สาขาประเทศจีน, Banyan Partners Funds บริษัทไพรเวทอิควิตี้จีน และยักษ์ใหญ่ Tencent ซึ่งขณะนี้ถือหุ้น 17% อยู่ใน Pinduoduo  PDD ประกาศรายได้ปี 2017 ไว้ที่ 278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพียงแค่ไตรมาสแรกของปี 2018 ก็ทำรายได้ไปแล้ว 220 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ไตรมาสแรกนี้ PDD ยังคงขาดทุนสุทธิหลักสิบล้านเหรียญ รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นบนเส้นทางของบริษัทตั้งแต่ก่อนเปิดขายหุ้น IPO จากการที่ Pinduoduo ถูกฟ้องร้องละเมิดสิทธิเครื่องหมายทางการค้าใน New York  

เขาปฏิเสธงานที่ Microsoft ลาออกจาก Google เพื่อมาเป็นนักธุรกิจ

Pinduoduo เป็นสตาร์ทอัพบริษัทที่ 4 ที่ Huang ก่อตั้งขึ้น เขาเริ่มก่อตั้งบริษัทแรกเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อ Ouku.com ในปี 2007 แต่ความชื่นชอบในธุรกิจสตาร์ทอัพของเขาแสดงให้เห็นมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น Huang ศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ Zhejiang University ในมณฑล Hangzhou บ้านเกิดของเขา และศึกษาต่อที่ University of Wisconsin, Madison หลังจากจบการศึกษาในปี 2004 Huang ปฏิเสธตำแหน่งงานที่ Microsoft "ผมมองเห็นได้เลยว่า ผมจะกลายเป็นอะไรที่ Microsoft ในอีกสิบปีให้หลัง" เขาเขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวเมื่อปี 2016 เขาเลือกร่วมงานกับ Google แทนในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ ในเวลานั้น Microsoft มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ Google ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ Huang ก็เลือกเดินทางไปกับ Google ในปี 2006 Huang กลับสู่มาตุภูมิในฐานะส่วนหนึ่งของทีมเปิดตลาดเมืองจีนให้กับ Google อย่างไรก็ตาม 1 ปีต่อมา Huang ก็ตัดสินใจตามสัญชาตญาณตัวเองอีกครั้ง เขาเลือกลาออกจาก Google โดยไม่แม้กระทั่งจะรอให้ตัวเองติดอาวุธพร้อมก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นของวิถีผู้ประกอบการของเขา
หน้าเว็บไซต์ Pinduoduo ซึ่งมีสินค้าหลากหลายจำหน่าย
เขาขายกิจการสตาร์ทอัพแห่งแรก Ouku.com ไปเมื่อปี 2010 ส่วนกิจการที่สองและสามของเขาเป็นบริษัทบริการระบบหลังบ้านของอีคอมเมิร์ซ (ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่) กับบริษัทพัฒนาเกมออนไลน์ Huang มีสายสัมพันธ์กับผู้ทรงอิทธิพลในวงการเทคโนโลยีของจีนจำนวนหนึ่ง ระหว่างที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย William Ding ผู้ก่อตั้งบริษัทเกมออนไลน์ NetEase เคยขอความช่วยเหลือด้านปัญหาเชิงเทคนิคจาก Huang เวลาต่อมา Ding คือคนที่ช่วยแนะนำ Huang ให้รู้จักกับ Duan Yongping ผู้ประกอบการและนักลงทุนเบื้องหลังบริษัทสมาร์ทโฟนอย่าง Oppo และ Vivo ซึ่ง Yongping คือคนที่ชนะประมูลเพื่อรับประทานอาหารเที่ยงกับ Warren Buffett ในปี 2006 และเขาได้พา Huang ไปด้วย (โครงการประมูลเพื่อทานข้าวกับ Buffett นั้นสร้างขึ้นเพื่อระดมทุนบริจาคให้กับมูลนิธิ Glide Foundation ซึ่งช่วยจัดหาอาหารให้คนยากไร้ -- ผู้แปล) Huang ยังคงชื่นชม Buffett อยู่จนวันนี้ เขายกย่องความพยายามในงานสาธารณกุศลของ Buffett ผ่านบทความในบล็อกส่วนตัว แรงบันดาลใจนี้สะท้อนให้เห็นผ่านแผนธุรกิจในหนังสือชี้ชวนการลงทุนของ Pinduoduo ที่ Huang ตั้งใจจะมอบสัดส่วนหุ้น 2.3% ของบริษัทให้แก่มูลนิธิการกุศล   แปลและเรียบเรียงจาก IPO of Chinese E-commerce Firm Pinduoduo Mints New Young Billionaire โดย Alex Fang