เศรษฐีที่รวยที่สุดของฮ่องกง "Li Ka-shing” แสดงความเสียใจหลังรัฐบาลจีนวิจารณ์แรง กรณี Li แสดงความเห็นที่อาจตีความได้ว่าเป็นการ "เข้าข้าง" ผู้ประท้วงฮ่องกง
Li Ka-shing เศรษฐีฮ่องกงวัย 90 ปี เจ้าของบริษัท CK Hutchison ถูกบันทึกวิดีโอการพูดคุยกับคนกลุ่มหนึ่งในวัดพุทธ Tsz Shan เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ในคลิปวิดีโอ เขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประท้วงฮ่องกงว่า ภาครัฐควรจะให้ “ช่อมะกอก” (สัญลักษณ์ถึงสันติภาพ) แก่เหล่าผู้ประท้วงและปฏิบัติกับกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านั้นอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึงมองว่ากลุ่มผู้ประท้วงคือ “ผู้นำแห่งอนาคตของเรา”
หลังคลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ออกไป สื่อที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของต่างโจมตี Li อย่างหนัก รวมถึงผู้บริหารเกาะฮ่องกงอย่าง Carrie Lam ก็กล่าวตอบโต้ Li เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายนว่า “กฎหมายเป็นคุณค่าหลักที่ฮ่องกงต้องยึดถือ รัฐบาลจะไม่สนับสนุนหรือให้อภัยการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย”
ด้าน คณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการการเมืองและกฎหมายของจีน โจมตี Li ว่าเป็นผู้ซ่องสุมอาชญากร และ Li ไม่ได้ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ดีสำหรับฮ่องกงหากให้ความเห็นอกเห็นใจกับผู้ประท้วงซึ่งกำลังทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐของจีนหลายรายให้สัมภาษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อกับสำนักข่าว South China Morning Post ว่า คำกล่าวของ Li ถือเป็นการให้กำลังใจกับกลุ่มผู้ประท้วงและโยนความผิดให้รัฐบาลจีน บางรายมองว่า หาก Li ต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วงจริงควรจะพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาเข้าถึงได้ให้กับสังคมแทน
เพื่อตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว มูลนิธิการกุศลของ Li Ka-shing ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายนว่า Li แสดงความเสียใจที่ถูกกล่าวหาและตีความคำพูดของเขาผิดไป เขากล่าวถึงใจความสำคัญที่ต้องการสื่อคือ “ความอดทนอดกลั้นไม่ได้หมายถึงการมองข้ามความผิด และไม่ได้หมายถึงการละเลยกฎหมาย”
แต่อย่างไรก็ตาม เขายังคงย้ำว่าความรุนแรง ซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางวาจาด้วยนั้น ไม่สามารถยอมรับได้ และหวังให้ทุกภาคส่วนสามารถตกลงกันได้และทำให้สถานการณ์ในฮ่องกงสงบลงก่อนที่ทุกกลุ่มจะได้เริ่มต้นพูดคุยกัน
Li Ka-shing เป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจและเศรษฐีที่ซื้อสื่อเพื่อลงโฆษณาร้องขอความสงบให้เกิดขึ้นแก่ฮ่องกงเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสืบเนื่องจากคำขอร้องของฝั่งรัฐบาลจีน แต่คำพูดที่ใช้ในโฆษณาของเขานั้นค่อนข้างคลุมเครือทำให้ Li ถูกมองว่าพยายามแสดงตนเป็นกลางทางการเมืองในประเด็นนี้ จนกระทั่งมีคลิปแสดงความเห็นดังกล่าวออกมา
การประท้วงในฮ่องกงนั้นมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งและธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างมาก และหลายบริษัทพบว่าตนเองต้องเผชิญแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลจีนเพื่อให้ช่วยกำกับควบคุมความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ตัวอย่างเช่น Cathay Pacific สายการบินนี้ถูกรัฐบาลจีนแทรกแซงให้ส่งข้อมูลของนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เข้าร่วมการประท้วง เพื่อกีดกันไม่ให้พนักงานรายนั้นๆ ปฏิบัติงานบนเที่ยวบินที่บินเข้าออกประเทศจีน จนกระทั่ง Rupert Hogg ซีอีโอของบริษัทในขณะนั้น ตัดสินใจลาออกภายใต้ความกดดันเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2019
ที่มา