ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและผลกระทบต่อราคาน้ำมัน - Forbes Thailand

ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jun 2017 | 10:40 AM
READ 6697
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเริ่มทวีความร้อนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากชาติอาหรับหลายประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อียิปต์ ลิเบีย เยเมน และมัลดีฟส์ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยอ้างว่ากาตาร์ให้การสนับสนุน "ลัทธิก่อการร้าย" และเริ่มใช้มาตรการกดดันด้วยการคว่ำบาตรในหลายด้าน เช่น การเดินทางทางอากาศ ด้วยการยกเลิกเที่ยวบินเข้า-ออกจากกาตาร์  พร้อมประกาศปิดน่านฟ้าไม่ให้สายการบินกาตาร์ผ่าน รวมถึงการปิดท่าเรือไม่ให้เรือขนส่งสินค้าสัญชาติกาตาร์เข้าเทียบท่า นอกจากนี้ อิหร่านยังประสบเหตุก่อการร้ายกลางกรุงเตหะรานครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ชี้ว่าหลายประเทศในตะวันออกกลางอาจมีท่าทีที่จะเผชิญหน้ามากขึ้น กาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซธธรรมชาติ (LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบขนาดใหญ่อันดับ 3 ของ OPEC รองจากซาอุฯ และอิรัก แม้เหตุการณ์ข้างต้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองประเทศ แต่อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนระอุขึ้นในตะวันออกกลางย่อมมีนัยต่อราคาพลังงานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากกังวลว่าความไม่ลงรอยกันของสมาชิกกลุ่ม OPEC ที่กาตาร์และอิหร่านก็ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น จะนำไปสู่การละเมิดข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ซึ่งเพิ่งตกลงกันไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา เราประเมินว่าประเด็นความกังวลนี้มีน้ำหนักค่อนข้างน้อย เนื่องจากกาตาร์เป็นผู้ผลิตน้ำมันขนาดเล็ก ซึ่งผลิตน้ำมันเพียง 6 แสนบาร์เรลต่อวัน (เทียบกับการผลิตรวมของกลุ่ม OPEC ที่ 32 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และตกลงลดปริมาณการผลิตเพียง 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น ถึงแม้กาตาร์จะกลับมาผลิตน้ำมันดิบเต็มกำลังก็จะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนด้านอิหร่านแม้จะเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่อันดับ 3 ของ OPEC (3.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน รองจากซาอุฯ และอิรัก) แต่ได้รับยกเว้นจากข้อตกลงเนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากการคว่ำบาตรและผลิตน้ำมันเต็มกำลังอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตได้ในช่วงนี้ ในทางกลับกัน ความขัดแย้งในอ่าวเปอร์เซียถ้ายกระดับขึ้นจนมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังทหาร ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากช่องแคบฮอร์มุซซึ่งตั้งระหว่างชายแดนโอมานและอิหร่าน เป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญ โดยมีเรือขนส่งน้ำมันดิบราว 17 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือราว 1 ใน 5 ของการบริโภคน้ำมันดิบของโลก ต้องเดินทางผ่านช่องแคบนี้ โดยสรุปความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจนถึงปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อเส้นทางเดินเรือในอ่าวเปอร์เซีย ก็อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว