Martin Roscheisen พาเพชรสังเคราะห์ฝ่าตลาดอัญมณีสู่โลกเทคโนโลยี - Forbes Thailand

Martin Roscheisen พาเพชรสังเคราะห์ฝ่าตลาดอัญมณีสู่โลกเทคโนโลยี

แม้จะได้รับการยอมรับเพียงน้อยนิดจากเหล่าคนหัวโบราณในแวดวงอุตสาหกรรม แต่อีกไม่นานเพชรสังเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Martin Roscheisen จะไหลทะลักสู่ตลาดเครื่องประดับอัญมณีมูลค่า 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลิตไมโครชิปสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบการคำนวณของคอมพิวเตอร์ในรูปแบบควอนตัมที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว (Quantum Computing)


    ภายในโกดังปรับปรุงใหม่ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองซานฟรานซิสโกคือห้องปฏิบัติการงานทดลองของเขา เตาปฏิกรณ์พลาสมาขนาดเท่ารถมินิแวนวางเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ พวกมันเรืองแสงสว่างวาบบ่งบอกว่ากำลังทำงาน

    Martin Roscheisen ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Diamond Foundry ได้เผยโฉมแผ่นวงจรรูปวงกลมเวเฟอร์ (Wafer) ขนาด 4 นิ้วที่ทำมาจากเพชรผลึกเดี่ยว เขาเล่าว่า การผลิตแผ่นวงจรรวมนี้ใช้เพชรสังเคราะห์ขนาดเท่าฝ่ามือ 423 กะรัตนำมาเจียระไน โดยขนาดของเพชรสังเคราะห์ดังกล่าวถือเป็นขนาดใหญ่สุดที่มนุษย์เคยผลิตขึ้น ซึ่งก็น่าจะใหญ่พอที่จะนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับสมาชิกเหล่าราชวงศ์ได้สักชุด

    ทว่า Roscheisen ในวัย 52 ปี กลับเลือกที่จะนำเสนอสิ่งประดิษฐ์นี้ในฐานะปฐมทัศน์สู่ศักราชแห่งการประมวลผลเชิงควอนตัม (Quantum Computing) “ในอนาคตชิปทุกชิ้นจะใช้เวเฟอร์ที่ทำจากเพชร” เขากล่าว ไม่ว่าจะเป็นในโทรศัพท์ แล็ปท็อป หรือรถยนต์ เพชรจะมาเป็นส่วนสำคัญแม้กระทั่งกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กแต่พลังงานสูง


Roscheisen ที่ห้องทดลองในซานฟรานซิสโก


    เหตุผลในการเลือกเส้นทางสู่การเป็นผู้ผลิตแผ่นเวเฟอร์จากเพชรที่เป็นสารกึ่งตัวนำแบบ semiconductors มาจากฐานะที่ Roscheisen คือผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหินอัญมณี เขาจึงมีนิมิตหมายอันดีว่าในอนาคตอุตสาหกรรมของเขาจะเข้ามามีอำนาจเหนือตลาดเครื่องประดับอัญมณีที่มีมูลค่าสูงถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญ

    เขากล่าวว่า Diamond Foundry ได้เพิ่มปริมาณการผลิตเพชรขึ้นสามเท่าเป็นห้าล้านกะรัตในปีที่ผ่านมา และยังตั้งเป้าการผลิตให้แตะ 20 ล้านกะรัตต่อปีในปี 2025 และเมื่อโรงงานเพชรจากพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 800 ล้านเหรียญของเขาที่สเปนพร้อมเริ่มปฏิบัติการ ทางโรงงานก็จะสามารถผลิตเพชรได้ปริมาณตรงตามที่เขาต้องการและยังถือเป็นปริมาณที่สูงถึง 60% ของเพชรที่ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง De Beers Group ขุดหาได้จำนวน 35 ล้านกะรัตในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพชรส่วนใหญ่มาจากประเทศบอตสวานาและยังมีราคาสูงกว่าที่เขาผลิตได้เป็นอย่างมาก

    ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ไม่ได้หมายถึงเพชรคิวบิกเซอร์โคเนีย (Cubic Zirconia) หรือเพชรโมอิส (Moissanite) ซึ่งจัดว่าเป็นเพชรปลอมหรอกนะ และเพชรสังเคราะห์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยหากลองย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1950s บริษัท General Electric สังเคราะห์เพชรขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการเลียนแบบอุณหภูมิและความดันสูงภายใต้เปลือกโลกซึ่งเป็นกระบวนการกำเนิดเพชรโดยธรรมชาติ

    ทุกวันนี้เพชรสังเคราะห์หลายพันล้านกะรัตถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับการผลิตเพชรคุณภาพในขนาดที่แทบจะหาไม่ได้ในธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำเพชรสังเคราะห์เลียนแบบออกมาให้เหมือนของธรรมชาติมากที่สุดจนแทบจะแยกไม่ออกถ้าไม่ใช้อุปกรณ์เฉพาะอย่างเครื่องวัดการเรืองแสงในการตรวจสอบ

    จากความว่างเปล่าเมื่อทศวรรษก่อน ปัจจุบันเพชรสังเคราะห์มีสัดส่วน 10% ในการซื้อขายเพชรรายปีที่มีปริมาณ 125 ล้านกะรัต ด้วยราคาที่โดยมากแล้วจะถูกกว่าเพชรธรรมชาติ 80%

    “ลูกค้าโดยทั่วไปของเราพบว่าการเข้าถึงเพชรที่ขุดจากธรรมชาติเป็นเรื่องยากหากอ้างอิงจากจุดยืนทางการเงิน” Alexander Lacik ซีอีโอของบริษัทเครื่องประดับ Pandora กล่าว เธอได้เริ่มจัดจำหน่ายเพชรสังเคราะห์ในร้าน 7,000 สาขาเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา “เราไม่ได้กำลังแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด เรากำลังขยายตลาดต่างหาก”

    ในขณะที่ผู้ขายเครื่องประดับตามห้างต่างก็ยินดีกับยอดมาร์จิ้นในการขายแหวนหมั้นประดับเพชรสังเคราะห์ไร้ที่ติขนาดสามกะรัตในราคาต่ำกว่า 4,500 เหรียญ (ถือเป็นตัวเลขที่ตำ่กว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับของแบรนด์ Tiffany & Co) แบรนด์หรูระดับลักชูรี เช่น Cartier และ Van Cleef & Arpels ต่างก็ปฏิเสธสิ่งนี้

    Edward Asscher ประธานสภาเพชรโลก (World Diamond Council) แย้งว่า “สำหรับเพชรขนาดใหญ่ มันราคาถูกมากจนสูญเสียมูลค่าที่แท้จริงไปหมด”

    “ผมมีเครือข่ายซื้อขายเพชรที่ใหญ่ที่สุด และไม่เคยคิดจะย้ายไปเข้าฝั่งเพชรสังเคราะห์ มันขาดความหายาก ทำให้ขาดมูลค่าในการเก็งกำไรไปด้วย” Martin Rapaport ผู้ที่เป็นระดับตำนานวงการเพชรแห่ง New York กล่าว แพลตฟอร์ม RapNet ของเขามีเพชรมากกว่า 1 ล้านชิ้นรอการซื้อขาย “ผู้บริโภคเริ่มจะเพี้ยนกันไปหมดแล้ว อีกสักปีเดี๋ยวก็รู้ ท้ายสุดแล้วผมจะจับพวกคุณฝังไว้ใต้กองเพชรสังเคราะห์พวกนี้เอง”

    Roscheisen คิดว่าเรื่องฝังน่าจะยกให้เขามากกว่า เขาบอกว่ามันก็คล้ายๆ กับการที่ Mikimoto ทำให้ไข่มุกเลี้ยงเป็นที่นิยม “เริ่มจากที่ Jackie Kennedy ไม่ต้องการจ่ายเงินทั้งหมดซื้อไข่มุกธรรมชาติเพื่อให้ไข่มุกเลี้ยงได้รับการยอมรับ คุณยังหาไข่มุกธรรมชาติแท้ๆ ในราคาน่าพิศวงได้ แต่คิดเป็นปริมาณเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของตลาดเท่านั้น”

    เช่นเดียวกับที่เหล่าผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังขับเคลื่อนให้ตลาดอาหารจากพืช (Plant-based Food) เติบโตอย่างก้าวกระโดด Diamond Foundry ที่มาพร้อมกับสโลแกนที่ว่า “Diamonds. Evolved,” (เพชร เลอค่า กับวิวัฒนาการสุดล้ำ) กำลังเดิมพันกับการจับกลุ่มผู้ซื้อเครื่องประดับรุ่นใหม่ เพชรธรรมชาติจากเหมืองมีคาร์บอนฟุตพรินต์ราว 170 กิโลกรัมต่อกะรัต เทียบกับเพชรสังเคราะห์จากห้องทดลองที่มีเพียง 8 กก.หรือน้อยกว่า

    Diamond Foundry มุ่งมั่นจะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ โดยเตาปฏิกรณ์ในอดีตโกดังที่เคยเก็บผลแอ๊ปเปิ้ลได้ถูกนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่จนกลายเป็นห้องทดลองของ Roscheisen ในเมืองเวนัตชี รัฐวอชิงตันได้หันมาอาศัยพลังงานน้ำจากแม่น้ำโคลัมเบีย ส่วนโรงงานมูลค่า 850 ล้านเหรียญที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในแคว้นเอซเตรมาดูรา ประเทศสเปนก็จะใช้พลังงาน 30 เมกะวัตต์จากแสงอาทิตย์

    Roscheisen กล่าวย้ำว่า “เราวางแผนจะเข้าแทนที่เหมืองเพชรทั้งหมดในห้าปี”


​เพชรสังเคราะห์เพิ่งออกจากเตาปฏิกรณ์ ยังไม่ได้เจียระไน ผลิตโดยบริษัท Lusix ในอิสราเอล


กว่าจะเป็นเพชร


    ผู้ประกอบการสารพัดธุรกิจ Roscheisen เกิดและโตในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ประจวบเหมาะกับที่ทาง Wall Street พุ่งความสนใจมหาศาลมายัง World Wide Web

    ในปี 1995, Roscheisen ร่วมก่อตั้งห้องสมุดกฎหมายออนไลน์ FindLaw ซึ่งได้ขายให้กับ Thomson Reuters ต่อมาในปี 1998 เขาร่วมก่อตั้งบริษัทเครือข่ายอีเมล Egroups ซึ่งก็ได้ขายให้ Yahoo ด้วยมูลค่า 450 ล้านเหรียญ

    หลังวิกฤตฟองสบู่ดอตคอม เขาก็ร่วมก่อตั้ง Nanosolar บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2002 โดยระดมทุนได้ 600 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางจากคอปเปอร์ อินเดียม แกลเลียม เซเลไนด์ (Copper Indium Gallium Selenide ย่อว่า CIS หรือ CIGS) ให้รวดเร็วพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับคู่แข่งจากจีนได้จึงทำให้ล้มละลายลงในที่สุด

    James Joaquin นักลงทุนจาก Obvious Ventures ย้อนรำลึกถึงบทสนทนาในวันวานกับ Roscheisen ที่อธิบายว่าทีมของเขาที่ Nanosolar เป็นผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมอะตอม พวกเขาแค่เลือกอะตอมผิด

    “สำหรับก้าวต่อไป พวกเขาเลือกอะตอมของคาร์บอน” Joaquin เผย เขากำลังรอคอยการมาถึงของสมาร์ทโฟนกับจอเพชรสุดทนทานอย่างใจจดใจจ่อ

    “Roscheisen สังเกตเห็นเส้นทางนี้ก่อนที่มันจะชัดเจนในสายตาของคนอื่นๆ” Joaquin กล่าว

    Diamond Foundry ของ Roscheisen เปิดตัวในปี 2015 ด้วยเงินทุน 315 ล้านเหรียญและรายชื่อผู้สนับสนุนอันน่าประทับใจนำโดย Andy Bechtolsheim ผู้ก่อตั้ง Sun Microsystems, Tony Fadel ผู้สร้างสรรค์ iPhone เครื่องแรก และ Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter นอกจากนี้ยังมีคนดังอย่าง Leonardo DiCaprio ที่กำกับและแสดงภาพยนตร์เรื่อง Blood Diamond ที่เข้าฉายในปี 2006 มาร่วมด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเกี่ยวกับการทำเหมืองเพชรผิดกฎหมายในแอฟริกา

    ในปี 2021, Fidelity Investments ก็ก้าวเข้ามาร่วมลงทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญทำให้มูลค่าของ Diamond Foundry เพิ่มมาเป็น 1.8 พันล้านเหรียญ จากหนังสือชี้ชวน ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของ Fidelity ได้เพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ Diamond Foundry ขึ้น 35% เป็นนัยว่ามูลค่าสุทธิของบริษัทสังเคราะห์เพชรอาจสูงถึง 2.4 พันล้านเหรียญ Forbes ประมาณการรายรับของบริษัทในปีนี้ไว้ที่ราวๆ 700 ล้านเหรียญ ซึ่ง Roscheisen ถือครอง 25%

    ในการผลิตแผ่นวงจรเวเฟอร์ 423 กะรัตใหม่ล่าสุดเพื่อปูทางสู่วิวัฒนาการขั้นถัดไปของไมโครชิป Diamond Foundry เลือกใช้งาน Audiatec ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์เพชรผลิตแผ่นวงจรเวเฟอร์หลังเข้าซื้อบริษัทสัญชาติเยอรมันรายนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

    ความก้าวหน้าของพวกเขามาจากศาสตร์ที่เรียกว่า Diamond Heteroepitaxy หรือการสังเคราะห์ผลึกขึ้นมาทีละชั้นจากระดับอะตอม พวกเขาค้นพบวิธีการจัดเรียงอะตอมเดี่ยวของคาร์บอนสิบอะตอมลงบนฐานอิริเดียมเพื่อให้พวกมันเติบโตไปในมิติที่เหมือนกันและผสานเข้ากับ “แม่แบบ” ซึ่งเป็นแผ่นเพชรผลึกเดี่ยว

    “มิฉะนั้นแล้วก็อาจเทียบได้กับการให้คนหลายๆ คนปูกระเบื้องโดยเริ่มจากมุมต่างๆ โดยไม่มีแบบ พอมาเจอกันตรงกลาง แผ่นกระเบื้องเหล่านั้นจะไม่พอดีกัน” Roscheisen อธิบาย

    ความมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นโดยใช้เวลาหลายสัปดาห์ในเตาปฏิกรณ์พลาสมาอุณหภูมิ 3,000 องศาเซลเซียส เติมมีเทนและใช้คลื่นไมโครเวฟ ทำให้อะตอมของคาร์บอนเรียงเป็นชั้นๆ ยึดเกาะบนผลึกเพชรที่กำลังก่อตัว นี่ก็คือข้อได้เปรียบในการแข่งขันของ Diamond Foundry ซึ่งใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยถึง 25 ปีกับการทดลองอีกนับพันครั้งจนบรรลุผลสำเร็จ

    ภายในกลางปี 2025, Roscheisen ตั้งเป้าผลิตเพชรให้ได้ 20 ล้านกะรัตต่อปี หลังจากนั้นจึงขยับเพิ่มเป็น 50 ล้านกะรัต โดยเพชรดิบที่จะนำมาใช้ต้องมีขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว คุณต้องเอาปริมาณเข้าสู้เมื่อสินค้าที่คุณผลิตมีราคาถูกลงเรื่อยๆ

    ตลอดห้าปีที่ผ่านมารายงานการขายอัญมณีใน Vrai ซึ่งเป็นร้านรีเทลของทาง Diamond Foundry ให้ข้อมูลว่าโดยเฉลี่ย ณ ปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการเพชรขนาดใหญ่มากขึ้น จากเดิม 1.3 กะรัตมาเป็น 1.95 กะรัต ในขณะที่ราคาตกลงจาก 3,600 เหรียญเหลือ 2,500 เหรียญต่อกะรัต

    ทั้งนี้ยอดขายส่วนใหญ่ของ Vrai มาจากช่องทางออนไลน์ เช่น แหวนหมั้นทองคำ 18kt ประดับเพชรเม็ดเดี่ยวขนาด 2 กะรัตซึ่งเป็นรุ่นคลาสสิกของทางร้านมีราคา 3,300 เหรียญ แม้ทางแบรนด์จะมีร้านที่จัดแสดงสินค้าใน 11 เมืองหลักทั่วโลกรวมถึงนิวยอร์ค ลอนดอน และเซี่ยงไฮ้



เผชิญคู่แข่ง


    ในขณะที่คู่แข่งจากยักษ์ใหญ่แบรนด์ดังอย่าง De Beers ก็มีฝ่ายดูแลด้านการสังเคราะห์เพชรที่ชื่อ Lightbox ได้พยายามชิงส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของตลาดมาตั้งแต่ปี 2018 ด้วยเช่นกัน โดยเลือกขายเพชรสังเคราะห์ในราคาต่ำเพียง 800 เหรียญต่อกะรัตไม่ว่าจะผ่านการเจียระไนหรือคุณภาพของเพชรมีความสะอาดในระดับไหนก็ตาม

    ด้านคู่แข่งอีกราย อย่าง WD Lab Grown Diamonds ใน Beltsville รัฐแมริแลนด์ซึ่งขายสินค้าให้กับแบรนด์ระดับกลางอย่าง Robbins Brothers และ Helzberg รวมถึงแบรนด์ลักชูรีรุ่นใหม่ที่ใช้เพียงเพชรสังเคราะห์อย่าง Oscar Massin แบรนด์ดังกล่าวถูกตั้งชื่อตามสุดยอดช่างอัญมณีประจำราชวงศ์ชาวฝรั่งเศส มีการเปิดตัวในปี 2021 โดยอดีตซีอีโอของ Cartier ผลงานออกแบบอันเลอค่าชิ้นหนึ่งของ Oscar Massin เป็นแหวนประดับเพชร 3.76 กะรัตมูลค่า 21,500 เหรียญ

    “มันคือการยกระดับ” Brittany Lewis ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ WD กล่าว สมัยนี้ผู้หญิงต่างก็ซื้อเครื่องประดับเพชรให้ตัวเองและอาจจะชื่นชอบแนวคิดที่ว่าการกระทำของพวกเธอเป็นการสนับสนุนด้านการเงินให้กับเหล่าเนิร์ดรักษ์โลกที่กำลังประดิษฐ์เซมิคอนดักเตอร์แบบใหม่ไปในตัว เธอบอกว่า “นี่ไม่ใช่แค่เพียงสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ”

    แม้ผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีแบบดั้งเดิมจะมีมุมมองอคติต่อเพชรสังเคราะห์ แต่ศาสตร์นี้ก็ยังคงดึงดูดเหล่าแบรนด์ชั้นสูงมากมาย ผู้ประกอบการและนักประดิษฐ์ชาวอิสราเอล Benny Landa วัย 76 ปี คือผู้ควบคุมการทำงานเตาปฏิกรณ์พลาสมาจำนวน 12 เตา ของบริษัท Lusix ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Rehovot ประเทศอิสราเอล


Benny Landa ในห้องทดลองที่ Rehovot


    บริษัทของเขาโด่งดังเป็นที่รู้จักเมื่อปีที่ผ่านมาหลัง LVMH Luxury Ventures ทุ่มเงินลงทุน 90 ล้านเหรียญในหุ้นของบริษัท ก่อนหน้านี้ Tag Heuer บริษัทลูกผู้ผลิตนาฬิกาหรูสัญชาติสวิสในเครือ LVMH ก็ได้นำเพชรของ Lusix จำนวน 40 เม็ดมาสร้างสรรค์เรือนเวลา Carrera Plasma มูลค่า 400,000 เหรียญ

    Landa เคยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกโดย Forbes ในปี 1995 ก่อนที่เขาจะขายบริษัท Indigo Digital Printing ให้กับ HP ซึ่งเมื่อปรับอัตราค่าเงินเฟ้อแล้วคิดเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ เขาเปิดโรงงานแห่งที่สองในอิสราเอล สวนแนวคิดที่ว่าเพชรจากห้องทดลองเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ

    “ทั้งหมดที่เราทำคือการสร้างสภาวะในการกำเนิดเพชรตามธรรมชาติ ให้อะตอมของคาร์บอนเรียงตัวเป็นผลึกเพชร เช่นเดียวกับเพชรที่ขุดมาจากใต้ผืนโลก แต่ละเม็ดนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพชรสองเม็ดไม่อาจมีรูปร่างหรือคุณลักษณะเหมือนกันทุกประการได้ เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ”



ก้าวที่ยิ่งใหญ่หรือปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง


    “ปัญหาใหญ่คือเมื่อคุณไม่สามารถบอกความแตกต่างได้” Cormac Kinney ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Diamond Standard หัวเราะ ปัจจุบันช่างอัญมณีต่างพึ่งพาเครื่องวัดการเรืองแสงเพื่อตรวจหาเพชรสังเคราะห์ ในขณะที่ผู้คนยังคงยืนยันที่จะจ่ายเงินมากกว่าหลายเท่าเพื่อเพชรธรรมชาติ Kinney ก็สรรหาวิธีการสร้างมูลค่าในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ให้กับเพชรเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการพยุงราคาไปด้วย

    Diamond Standard กำลังพยายามสร้างตลาดเทรดเช่นเดียวกับเหรียญทองคำดิจิทัลและทองคำแท่ง เพียงแต่ตลาดนี้มีไว้เพื่อเพชรเท่านั้น ทางบริษัทนำเพชรขนาดเล็กแปดหรือเก้าเม็ดน้ำหนักรวมกันราว 3 กะรัตมาจัดเรียงในบรรจุภัณฑ์หรือเคสพลาสติกรูปวงกลมขนาดเล็กคล้ายเหรียญ สิ่งที่ฝังอยู่ในเคสนี้คือชิปคอมพิวเตอร์ที่บ่งชี้ตัวตนเฉพาะและสามารถเชื่อมต่อกับบล็อกเชนได้

    เพื่อรับประกันว่าการเทรดจะยุติธรรมตามระเบียบของคณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าและสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) Kinney ใช้มาตรฐานการตรวจสอบของ Deloitte เพื่อให้มั่นใจว่าเพชรบนเหรียญแต่ละเหรียญนั้นมีคุณลักษณะเท่าเทียมกันทุกประการ

    ราคาปัจจุบันของเหรียญเพชรคือ 5,400 เหรียญ ล่าสุดเขาขายพวกมันได้มูลค่ารวมเกือบ 250 ล้านเหรียญ และมีความหวังอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการเทรดฟิวเจอร์สบน CME แล้วตามด้วย ETF

    Diamond Standard คิดค่าธรรมเนียมการจัดการร้อยละ 3.5 ของมูลค่าเพชรที่มีการเปลี่ยนมือ นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เขาใช้เพชรจากเหมืองตามธรรมชาติเท่านั้นมาใช้ในการเทรด Kinney พูดถึงเพชรสังเคราะห์ว่า “มันอาจจะน่าทึ่ง แต่มันไม่เป็นธรรมชาติและไม่ได้หายาก”

    สำหรับ Roscheisen แล้วนั้น เขาไม่ค่อยสนใจความหยิ่งทะนงในวงการเพชรเท่าใดนัก เขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกฎของมัวร์ (Moore’s Law) จะถูกประยุกต์เข้ากับตลาดเพชร และภายในสิบปีเซมิคอนดักเตอร์จากเพชรจะมาแทนที่เซมิคอนดักเตอร์จากซิลิคอนที่เราใช้กันในปัจจุบัน โดยจะขายได้ราคาหลายเหรียญต่อหนึ่งตารางนิ้ว และจะขายในรูปแบบของแผ่นเวเฟอร์

    อันที่จริง เขายังเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ทางบริษัทกำลังทดลองใช้ชิปจากเพชรในการสร้างอุปการณ์จ่ายไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่าตัวที่เล็กที่สุดของ Tesla คิดเป็นอัตราส่วนหนึ่งในหก

    “ในอนาคตก้าวต่อไปของการย่อส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเพชรกำลังใกล้เข้ามา” และมาจากชายผู้ตั้งเป้าผลิตเพชรหลายล้านกะรัต ซึ่งเขาหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง


    แปลและเรียบเรียงจากบทความ Diamond Disruptor: Meet The Nerdy King Of Bargain Bling ซึ่งเผยแพร่บน Forbes


    อ่านเพิ่มเติม : 10 บริษัทฟินเทคมูลค่าสูงสุด จากทำเนียบ The Fintech 50 แห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2023

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine