10 อันดับ “สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก” ปี 2018 - Forbes Thailand

10 อันดับ “สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก” ปี 2018

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Mar 2019 | 06:07 PM
READ 22975

ทำเนียบจัดอันดับ สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก ปีนี้ 10 อันดับแรกของ Forbes ยังใกล้เคียงกับปีก่อนโดยมีการสลับอันดับกันเล็กน้อย

Angela Markel ยังคงครองตำแหน่งผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุด ขณะที่ Sheryl Sandberg ซีโอโอของ Facebook ร่วงจากตารางท็อป 10 หลัง Facebook เผชิญปัญหาการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เปิดทางให้ Marillyn Hewson ผู้นำบริษัทเทคโนโลยีการทหาร Lockheed Martin ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 9

Forbes จัดอันดับ สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก เป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน โดยรอบปีที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงได้รับแสงสปอตไลท์จากประชาคมโลกมากขึ้น มีแคมเปญที่เป็นกระแสไปทั่วโลกอย่าง #MeToo จนถึง #TimesUp และ #WeToo ซึ่งเป็นกระแสการยกระดับเสียงของผู้หญิงในการประชุมสหประชาชาติ (UN) ปี 2018 

วิธีการจัดอันดับ: เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับแต่ละปี ได้แก่ มูลค่าเงิน (โดยอาจใช้มูลค่าทรัพย์สิน รายได้ของบริษัท หรือจีดีพีประเทศ), การปรากฏตัวในสื่อ, กระแสอิทธิพลที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยวิเคราะห์ทั้งในมุมผลกระทบในวงการที่พวกเธอทำงาน (ไม่ว่าจะเป็น สื่อ เทคโนโลยี ธุรกิจ องค์กรการกุศล การเมือง หรือการเงิน) รวมถึงผลกระทบต่อสังคมนอกวงการด้วย ปีนี้ Forbes ยังร่วมมือกับ Captiv8 แพลตฟอร์มติดตามข้อมูลโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมารวมในการประเมินคะแนนในหมวดการปรากฏตัวในสื่อด้วย

 

อันดับที่ 1 Angela Merkel นายกรัฐมนตรี เยอรมนี

Merkel รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2005 และเธอยังคงอยู่ในตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 ปัจจุบันเธอยังควบตำแหน่งโดยพฤตินัยในฐานะผู้นำของทวีปยุโรป หลังจากที่เธอสามารถนำเยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ก้าวพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจและกลับมาเจริญเติบโตได้

Merkel ยังได้รับการยอมรับด้านความเป็นผู้นำ เมื่อเธอกล้ายืนหยัดอยู่ในขั้วตรงข้ามกับ Donald Trump เมื่อเธออนุญาตให้ผู้อพยพชาวซีเรียนับล้านคนเข้ามาในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจนั้นผนวกกับปัญหา Brexit ก่อให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านผู้อพยพ และทำให้ Merkel ไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 Merkel ตัดสินใจลงจากตำแหน่งหัวหน้า พรรค Christian Democratic Union (CDU) นั่นหมายความว่าเธอจะไม่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2021 สร้างคำถามให้กับสาธารณชนเยอรมันว่าหลังจากห้วงเวลาของ Merkel ผ่านพ้นไป สิ่งใดจะเกิดขึ้นต่อมากับเยอรมนี

 

อันดับที่ 2 Theresa May นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร

May เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจาก David Cameron ลาออกจากตำแหน่งในปี 2016 พร้อมรับเผือกร้อนในการพาสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU)

2 ปีที่ผ่านมา เธอต้องรับศึกทั้งความคิดเห็นภายในพรรคของเธอเองและพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนการออกจาก EU และต้องการอยู่ใน EU ต่อไป พร้อมๆ กับเจรจาเงื่อนไขการออกจาก EU ที่ต้องดำเนินต่อไปหลังผลประชามติ

May พยายามเจรจาให้สหราชอาณาจักรยังคงได้รับเงื่อนไขการค้าปลอดภาษีแม้ลาออกจาก EU แล้ว และต้องรับมือกับปัญหาพรมแดนที่ไม่ชัดเจนของพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือ (ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) กับประเทศไอร์แลนด์ (ที่จะยังคงเป็นประเทศสมาชิก EU) ซึ่งปะทุขึ้นอีกครั้ง

 

อันดับที่ 3 Christine Lagarde ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฝรั่งเศส

(PHOTO CREDIT: Reuters)

Lagarde เป็นผู้นำกองทุน IMF มาตั้งแต่ปี 2011 ดูแลและให้คำแนะนำทิศทางการเงินแก่สมาชิกทั้ง 189 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน รัสเซีย และสหราชอาณาจักรด้วย ภายใต้การนำของเธอ IMF เป็นผู้ให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ในยูโรโซน จัดการความเสี่ยงให้กับตลาดเกิดใหม่ ไปจนถึงปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ล่าสุด Lagarde พยายามร้องขอให้แต่ละประเทศร่วมมือกันแก้ปัญหาสงครามการค้า และออกโรงแจ้งเตือนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า การตั้งกำแพงภาษีจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง เธอยังแนะนำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศพิจารณารับเอาสกุลเงินดิจิทัลมาใช้เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่เหมาะสมในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 ในวาระครบรอบสิบปีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งภาคธนาคารต่างประสบปัญหา Lagarde ชี้ว่าปัญหาเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอิทธิพลของเพศชายที่ครอบครองธุรกิจการเงิน และรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปความเท่าเทียมทางเพศในวงการนี้

 

อันดับที่ 4 Mary Barra ซีอีโอ General Motors สหรัฐฯ

(PHOTO CREDIT: General Motors)

Barra คือซีอีโอหญิงคนแรกของ GM และคนแรกในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเธอคือการปรับทิศทางของ GM ไปสู่การลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึง Maven บริการร่วมขับขี่ (ride-sharing) เพื่อรับประกันอนาคตของบริษัท

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ทำให้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้มีกำไรมากขึ้นและคล่องตัวขึ้น

Barra ประกาศการเลย์ออฟพนักงานถึง 14,000 คนในทวีปอเมริกาเหนือ ส่งกระแสตื่นตระหนกให้กับสังคมอเมริกันเขตมิดเวสต์และสร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดี Trump แต่ตลาดหุ้นตอบรับการตัดสินใจของเธอ โดยหุ้นของ GM ปรับขึ้น 5% หลังจากนั้น

GM ยังเป็นบริษัทอันดับ 1 ในรายงานการจัดอันดับบริษัทที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด บริษัทแห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 2 บริษัทระดับโลกที่ไม่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ

 

อันดับที่ 5 Abigail Johnson ซีอีโอ Fidelity Investments สหรัฐฯ

เธอคือทายาทรุ่น 3 ของบริษัทกองทุนยักษ์ใหญ่ Fidelity Investments ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณปู่ Edward Johnson II ใน Boston เมื่อปี 1946 โดย Abigail เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทตั้งแต่ยังเรียนปริญญาตรี ก่อนจะมาทำงานเต็มเวลาหลังเรียนจบ MBA จาก Harvard เธอรับไม้ต่อเป็นซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2014 หลังจากคุณพ่อลงจากตำแหน่ง

ปัจจุบัน Fidelity Investments บริหารทรัพย์สินรวมกว่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนตัวเธอเองมีหุ้น 24.5% ในบริษัทนี้ ทำให้นอกจากจะเป็น สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก แล้ว เธอยังอยู่ในลิสต์มหาเศรษฐีโลกปี 2019 ในอันดับที่ 71 ด้วย

จากกระแสสกุลเงินคริปโต Abigail เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนนวัตกรรมนี้ เมื่อปี 2018 บริษัทของเธอเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่ให้นักลงทุนสถาบันสามารถเทรดบิตคอยน์ได้

 

อันดับที่ 6 Melinda Gates ประธานร่วม Bill & Melinda Gates Foundation สหรัฐฯ

(PHOTO CREDIT: Bill & Melinda Gates Foundation/ Frederic Courbet)

Melinda Gates ยังคงรั้งตำแหน่งในท็อป 10 สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก โดยเธอเป็นประธานร่วมกับสามีของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2000 มูลนิธินี้ยังคงเป็นมูลนิธิส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากองทุนการกุศล 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

Melinda มีบทบาทในกลยุทธ์ของมูลนิธิมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอเป็นผู้นำการต่อสู้กับปัญหาของโลกตั้งแต่ประเด็นการศึกษา ความยากจน การคุมกำเนิด และสุขอนามัย ภายใต้ภารกิจไปสู่การสร้างสังคมที่ผู้คนมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ดีขึ้น

ภารกิจล่าสุดที่เธอกำลังมุ่งมั่นคือการปิดช่องโหว่ในวงการสตาร์ทอัพ จากปัญหาแนวโน้มที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพหญิงมักจะได้รับเงินลงทุนน้อยกว่าผู้ชาย Melinda จึงก่อตั้งบริษัทกองทุนร่วมลงทุนและบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้นเองในชื่อ Pivotal Ventures

 

อันดับที่ 7 Susan Wojcicki ซีอีโอ YouTube สหรัฐฯ

Wojcicki เป็นพนักงานคนที่ 16 ของ Google เธอเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในปี 1999 และเป็นหนึ่งในพนักงานที่สนับสนุนการเทกโอเวอร์ YouTube เมื่อปี 2006 ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันแพลตฟอร์ม YouTube กลายเป็นแหล่งวิดีโอระดับโลกที่มีผู้ใช้ 1.9 พันล้านคนต่อเดือน และได้รับการประเมินมูลค่าไว้ที่ 9 หมื่นล้านเหรียญ

Wojcicki ผู้เติบโตมากับบริษัท เป็นผู้ให้เช่าโรงรถของบ้านตัวเองแก่ Sergey Brin และ Larry Page สองผู้ก่อตั้ง Google ในการพัฒนาเครื่องมือค้นหายุคแรกเริ่ม เธอขึ้นเป็นซีอีโอของ YouTube ตั้งแต่ปี 2014 และกำลังพัฒนาทีมโปรดักชันใน Los Angeles เพื่อปรับทิศทางของ YouTube จากแหล่งวิดีโอที่สร้างโดยผู้ใช้เท่านั้น มาเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ที่มีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง

Wojcicki ยังต้องต่อสู้กับการนำคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมออกจากระบบ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้ง แต่ยังรอดพ้นปัญหาข่าวอื้อฉาวแบบที่เกิดขึ้นกับ Facebook มาได้

 

อันดับที่ 8 Ana Patricia Botín ประธานธนาคาร Banco Santander สเปน

Botín ขึ้นเป็นประธานธนาคาร Banco Santander ในปี 2014 หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ Emilio คุณพ่อของเธอ และสร้างผลงานใหญ่ในปี 2017 เมื่อ Banco Santander เข้าซื้อกิจการที่ล้มละลายอย่าง Banco Popular ด้วยราคาเพียง 1 ยูโร และกลายเป็นเครือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสเปน

Botín ยังให้ความสำคัญกับฟินเทคเป็นอย่างมาก เธอตั้งกองทุน InnoVentures มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นเพื่อให้เงินสนับสนุนเหล่าดิสรัปเตอร์ในวงการการเงิน เช่น Digital Asset Holdings, Ripple และ Kabbage และยังมีโปรแกรม Santander X เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจในมหาวิทยาลัย รวมถึงช่วยสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายบล็อกเชนที่รวมหลากหลายอุตสาหกรรมแพลตฟอร์มแรกของประเทศ

 

อันดับที่ 9 Marillyn Hewson ซีอีโอ Lockheed Martin สหรัฐฯ

(PHOTO CREDIT: Bloomberg)

เธอดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Lockheed Martin มาตั้งแต่ปี 2013 กุมบังเหียนบริษัทด้านความปลอดภัย อวกาศ และเทคโนโลยีแห่งนี้ให้อยู่ในแถวหน้าของวงการ โดยเครื่องบินขับไล่ F-35 และโปรแกรมพัฒนาทางการทหารสมัยใหม่อื่นๆ ช่วยให้มูลค่าตลาดของบริษัทนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในปี 2017 บริษัทนี้สร้างยอดขายได้กว่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย 70% ของยอดขายมาจากโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Hewson ยังมุ่งเน้นการขยายตัวในตลาดต่างประเทศด้วย ทำให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 30%

Lockheed Martin ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทกำลังหาทางปลดล็อกเทคโนโลยีเพื่อสร้างเครื่องบินความเร็วซูเปอร์โซนิคที่สามารถบินในความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ทำให้เกิดโซนิคบูม

 

อันดับที่ 10 Ginni Rometty ซีอีโอ IBM สหรัฐฯ

(PHOTO CREDIT: AP)

Rometty กำลังนำพาบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้เปลี่ยนผ่านไปสู่บริษัทด้านดาต้า ปัจจุบัน IBM มีรายได้ 7.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ( ปี 2017) ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มาจากเซ็กเมนต์เกิดใหม่ในตลาดไอที ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังมาจากรายได้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม

เธอได้วางกลยุทธ์ให้บริษัทมุ่งเน้นด้าน Cognitive Computing (ตัวอย่างเช่นโปรแกรม IBM Watson ที่ชนะรายการถามตอบ Jeopardy!) รวมถึงการเสี่ยงลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีบล็อกเชนจนถึงคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม IBM ยังเดินหมากลงทุนในวงการคลาวด์ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Red Hat ด้วยเม็ดเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดนี้กับ Amazon และ Microsoft

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นดูเหมือนจะไม่ถูกใจการลงทุนที่เป็นดีลมูลค่ามหาศาลนี้ เพราะหุ้นของ IBM ตกลงไปถึง 20% ในปี 2018

  แปลและเรียบเรียงโดย : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล