หญิงแกร่งผู้บุกเบิกโฉมใหม่ให้แก่วงการโลจิสติกส์เมื่อ 14 ปีก่อน ดังเช่น จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group ในวัย 50 ปี เปิดปฐมบทแรกแห่งการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยการทำกิจการพลาสติกและพาเลทตั้งแต่อายุ 26 ปี ก่อนเปลี่ยนสายงานสู่ด้านการบริหารคลังสินค้าและกระจายสินค้าในปี 2546
มาถึงวันนี้ เธอได้พิสูจน์ฝีมือและความเชื่อว่า การตัดสินใจเลือกสร้าง ศูนย์กระจายสินค้าตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า (build-to-suit) เป็นแนวทางที่ถูกต้อง พร้อมทั้งยังสามารถขับเคลื่อนให้กิจการหลักอย่าง WHA เติบโตเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเธอเป็นผู้นำหมายเลขหนึ่ง ปัจจุบันกลุ่ม WHA ที่อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของเธอดำเนินกิจการครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. โลจิสติกส์ (Logistics & Industrial Properties Business) โดย บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น 2. นิคมอุตสาหกรรม (Industrial Estate Business) โดย บมจ. เหมราชพัฒนาที่ดิน 3. สาธารณูปโภคและพลังงาน (Utilities & Power Business) โดยบมจ. ดับบลิวเอชเอยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ 4. การให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure Business) โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2560 ทั้งกลุ่มถือครองโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานรวม 32 โครงการ นิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง โรงไฟฟ้า 13 โครงการ และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (data center) 3 ศูนย์ ขณะที่ทั้ง 4 กลุ่มได้เริ่มเดินเครื่องธุรกิจไปในแนวทางที่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะกลุ่มดิจิทัลที่ data center กำลังจะเสร็จภายในช่วงครึ่งปีหลังและวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้พร้อม ซึ่งน่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี โดยกลุ่ม WHA ตั้งเป้าที่จะทำรายได้ราว 1.3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งรายได้ในส่วนโลจิสติกส์นั้น ได้ตั้งเป้าพื้นที่เช่าสุทธิเติบโตกว่า 25% ส่วนด้านนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีการเติบโตกว่า 70% ขณะที่สาธารณูปโภคคาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และพลังงานไม่น้อยกว่า 40% “แม้ว่าเป้าหมายทำรายได้รวมจะลดลงกว่าในปีก่อน แต่อัตราการทำกำไรของเราไม่ได้ลดลง เพราะเราขายทรัพย์สินเข้ากองทุน REITs ลดลง เช่นเดียวกับต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (recurring income) มากขึ้น”ปูพิมพ์เขียวแผน 5 ปี
ฉากใหม่ของ WHA ที่จรีพรวาดหวังไว้ตามแผนขยายธุรกิจ 5 ปี (ระหว่างปี 2559 - 2563) ที่ตั้งเป้ามีรายได้และส่วนแบ่งกำไรสูงเกิน 2.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2563 พร้อมเตรียมงบลงทุนรอบด้านถึง 4.3 หมื่นล้านบาท โดยรายได้หลักในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมาจาก กลุ่มโลจิสติกส์ (32%) และนิคมอุตสาหกรรม (32%) รวมถึงกลุ่มสาธารณูปโภคและพลังงาน (18%) ควบคู่กับกลุ่มบริการดิจิทัล (18%) สำหรับธุรกิจในเมืองไทย กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของ WHA จะเน้นเป้าหมายหลัก 2 ด้าน เป้าหมายแรกคือ มุ่งพัฒนาอาคารมูลค่าสูงให้เช่า ทั้งคลังสินค้าแบบ build-to-suit (BTSW) โรงงานแบบ build-to-suit (BTSF) warehouse farm ที่มีทั้งคลังสินค้าแบบ build-to-suit และแบบสำเร็จรูป (ready-built) คลังสินค้าหรือโรงงานแบบ build-to-own (BTO) ตามต้องการของลูกค้า และสำนักงานแบบ build-to-suit เป้าหมายที่สองคือ บริษัทจะสนับสนุนและใช้โอกาสจาก นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)* ของรัฐบาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่เอื้อต่อการเติบโตแก่กลุ่ม WHA ยิ่งขึ้นในอนาคตด้วยทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของ WHA ล้วนสอดรับกับเป้าหมายและการพัฒนาของโครงการ EEC ในการจัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลและโรงงานหรือคลังสินค้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยทำให้ซูเปอร์คลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นได้ “นอกจากที่ EEC จะทำให้มีความต้องการด้านโลจิสติกส์และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังต่อยอดไปถึงความต้องการใช้งานด้านสาธารณูปโภคและพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามมา โดยขยายขอบเขตไปถึงการเติบโตของบริการด้านดิจิทัลด้วย เราจึงเชื่อว่าตามแผน EEC จะทำให้ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของเราโชติช่วงชัชวาลแน่ๆ” ไม่เพียงเท่านั้น WHA จะพัฒนาพื้นที่ราว 500 ไร่ ไว้รองรับอุตสาหกรรมการบินและหุ่นยนต์บริเวณใกล้กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์หลัก สำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ขนส่งสินค้า และเครื่องจักรอัตโนมัติ สำหรับตลาดต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มีการวางแผนขยายพื้นที่บริการราว 10% ภายในระยะเวลา 5 ปีในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทุกแห่งได้รับการออกแบบและพัฒนาให้เป็น “สมาร์ท ดิสทริค” และครบครันด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัย โดยยังคงเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตอีก 5 กลุ่ม คือ ดิจิทัล การบิน หุ่นยนต์ พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ทั้งนี้ WHA วางแผนที่จะลงทุนงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้าในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มของนิคมอุตสาหกรรม ครอบคลุมการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 13 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวม 2,537 เมกะวัตต์ในราวปี 2562 นอกเหนือไปจากโรงไฟฟ้าแบบทั่วไป WHA ยังพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ราว 2.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคา 2 ล้านตารางเมตรนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้น WHA ยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการพลังงานจากขยะร่วมกับพันธมิตรอีกด้วย ส่วน ธุรกิจสาธารณูปโภค เช่น การให้บริการน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบจัดการน้ำเสียจะยังคงขยายบริการในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งหมด ซึ่ง WHA เป็นผู้ให้บริการด้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตรวมถึง100 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และจะพัฒนาเพื่อให้บริการไปยังพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม และต่างประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่ม WHA ยังมีแผนสร้าง data center ราว 3-5 แห่ง ในช่วงปี 2559-2563 โดยศูนย์ data center จะเริ่มเปิดให้บริการช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนแห่งที่ 3 คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2561 ตามด้วยอีก 2 โครงการภายในปี 2565 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณย่านพระราม 2 และวังน้อยบุกเบิกใช้หุ่นยนต์
ในอดีตนั้น รูปแบบการก่อสร้างของคลังสินค้าให้เช่ามักมีสภาพเสมือน “กล่อง” แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้นถูกแทนที่ด้วยอาคารรูปแบบทันสมัยที่สร้างในแบบ built-to-suit ดังที่ลูกค้าต้องการ ทว่า อนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์นั้น จรีพรเล็งเห็นว่า หุ่นยนต์จะเริ่มถูกนำมาใช้ในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อจำกัดในเรื่องจำนวนแรงงานและอัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับราคาที่ดินแพงขึ้น ซึ่งเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปสร้างคลังสินค้าในแนวดิ่งแทน และต้องพี่งพาระบบการทำงานของหุ่นยนต์มากขึ้น “เมื่อนำ robotic เข้ามาช่วยแล้ว คลังสินค้าแห่งหนึ่งจากที่เคยใช้แรงงานคนถึง 300 คนอาจจะเหลือเพียง 30 คนเท่านั้นเช่นเดียวกับที่จะเป็นอีกครั้งที่ WHA เป็นผู้บุกเบิกในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในธุรกิจ” อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีตที่ผ่านมาการนำหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้าจะยังติดประเด็นต้นทุนของระบบ robotic ที่ยังคงมีราคาสูงมาก และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ราคาของระบบดังกล่าวได้มีการปรับตัวลดลงไปกว่า 50% และยังได้รับแรงสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐมาเสริมด้วย สำหรับปรัชญาการทำงาน จรีพรมองว่าผู้นำเปรียบเสมือนวาทยากรของวงดนตรีที่จะนำพาทั้งองค์กรก้าวข้ามไปสู่อีกระดับ “แม้พี่จะเป็น Group CEO แต่ก็ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ด้วยความสามารถของทีมงานจึงทำให้มาได้ไกลถึงวันนี้ พี่มองว่าตัวพี่เป็นเหมือน ‘วาทยากร’ ที่ควบคุมให้นักดนตรีที่ต่างก็เก่งในเครื่องดนตรีที่ตนถนัดสามารถบรรเลงบทเพลงออกมาให้ได้ไพเราะที่สุด” เธอกล่าว ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกเพื่ออ่าน "จรีพร จารุกรสกุล Wonder Woman ผู้สร้าง WHA" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine