ไฮไลต์การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2567 - Forbes Thailand

ไฮไลต์การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2567

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ทรัพย์สินรวมสุทธิของกลุ่มคนที่รวยที่สุดในประเทศลดลงราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ


    ภายในไม่ถึง 1 ปีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ชะตาของ เศรษฐา ทวีสิน (อดีต) นายกรัฐมนตรีผู้เป็นมิตรกับภาคธุรกิจและอดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายในช่วงที่เรากำลังจะตีพิมพ์บทความนี้ (เดือนมิถุนายน 2567)

    ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่มีกับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงไปราว 15% ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และเมื่อบวกกับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนก็ได้ทำให้ทรัพย์สินรวมของเหล่าผู้มั่งคั่งที่สุดในประเทศลดลงเกือบ 12% เหลือ 1.53 แสนล้านเหรียญจาก 1.73 แสนล้านเหรียญในปีก่อน

    ผลจากเรื่องนี้ทำให้ผู้ร่ำรวย 39 อันดับรวยน้อยลง และมีคนรอดจากแนวโน้มนี้ไปได้แค่ 7 อันดับ สามารถคลิกอ่านการจัดอันดับมหาเศรษฐีไทยปีนี้ได้ที่ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2567


สำหรับไฮไลต์ที่น่าสนใจจากการจัดอันดับในปีนี้ มีดังต่อไปนี้


ตระกูลจิราธิวัฒน์ - ข้ามทวีป


สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์


    นับตั้งแต่เข้าตลาดยุโรปเมื่อกว่าทศวรรษมาแล้ว เครือค้าปลีกขนาดยักษ์ เซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งควบคุมโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ได้สร้างธุรกิจใหญ่ด้วยการเข้าซื้อกิจการดังอย่างต่อเนื่อง และการที่หุ้นส่วนสัญชาติออสเตรีย Signa Group ของอดีตเศรษฐีพันล้าน Rene Benko ถูกปัญหาใหญ่รุมเร้าจนบริษัทล้มละลายไปแล้วก็เปิดโอกาสให้เซ็นทรัลเจาะเข้าสู่ธุรกิจในยุโรปได้ลงลึกกว่าเดิมในระยะหลัง

    เมื่อเดือนพฤศจิกายนเซ็นทรัลเข้าควบคุมห้าง Selfridges ในสหราชอาณาจักร โดยเพิ่มการถือครองหุ้นจาก 50% เป็น 60% จากการใช้สิทธิ์ในการแปลงหนี้เป็นทุน

    2 บริษัทนี้ร่วมหุ้นกันซื้อห้างดังบนถนน Oxford Street ด้วยราคาประมาณ 5 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2021 และเมื่อเดือนเมษายนเซ็นทรัลก็ได้ซื้อกิจการ KaDeWe ห้างหรูอายุกว่า 1 ศตวรรษใน Berlin มาจาก Signa ด้วยมูลค่าประเมิน 1.1 พันล้านเหรียญ

    ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของเซ็นทรัลแถลงในตอนนั้นว่า “การเพิ่มเงินลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่ครอบครัวเรามีต่อ KaDeWe Group ลูกค้าประจำ พนักงาน และหุ้นส่วนธุรกิจของเราในยุโรป” ปัจจุบันเซ็นทรัลบริหารห้างหรูใน 7 ประเทศของยุโรป ซึ่งรวมถึง Rinascente ในอิตาลี, Ilium ในเดนมาร์ก และ Globus ในสวิตเซอร์แลนด์--Gloria Haraito


ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ - โอกาสในตลาด



    ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เจ้าสัวแห่งวงการค้าปลีกและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สร้างทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตระกูลจำนวน 1.22 พันล้านเหรียญจากเดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งบริหารจัดการแหล่งช็อปปิ้งสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ อย่าง Siam Paragon, Emporium และ Emsphere ห้างที่กว้างใหญ่ขนาด 200,000 ตร.ม. ที่เปิดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (ตระกูลภัทรประสิทธิ์ถือหุ้นส่วนน้อยในเดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งบริหารงานโดยเจ้าแม่ค้าปลีก ศุภลักษณ์ อัมพุช โดยตระกูลอัมพุชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)

    นอกจากจุดแวะสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจหลัก ประดิษฐ์และตระกูลยังเป็นเจ้าของตลาดอันคึกคักอีกแห่งเลยกรุงเทพฯ ขึ้นไปชื่อว่า ตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารขนาด 80 เฮกตาร์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ตลาดไทเป็นแหล่งพบปะของผู้ซื้อผู้ขายนับ 100,000 รายต่อวัน และมูลค่าการซื้อขายรวมต่อปีอยู่ที่ 7 พันล้านเหรียญ มีห้องแล็บทดสอบคุณภาพผักและผลไม้ในพื้นที่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างห้องควบคุมอุณหภูมิ

    เมื่อ 2 ปีที่แล้วตลาดไทเริ่มสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสินค้าการเกษตร โดยขายสินค้ามากกว่า 5,000 รายการ ตั้งแต่ถั่วไปจนถึงกล้วย ในปี 2023 ตลาดนี้มีมูลค่าสินค้ารวม 55 ล้านบาท (1.5 ล้านเหรียญ)


จรีพร จารุกรสกุล - ก้าวอย่างชาญฉลาด



    จรีพร จารุกรสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโลจิสติกส์และคลังสินค้า ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กำลังเดิมพันกับการลงทุน 1 พันล้านเหรียญในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยมีแผนจะสร้างเขตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพิ่ม 3 แห่ง เพื่อรองรับบริษัทไฮเทคในอีก 5 ปีข้างหน้า

    ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 200 ล้านเหรียญในจังหวัดชายทะเล Nghe An โดยมีผู้เช่า เช่น Foxconn โครงการใหม่นี้จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 3,650 เฮกตาร์ โดยโครงการแรกคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้

    ในขณะเดียวกัน WHA ยังคงขยายธุรกิจในประเทศบ้านเกิดซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรมกว่าสิบแห่ง เมื่อเดือนตุลาคมบริษัทได้ลงนามสัญญาจะขายพื้นที่ 40 เฮกตาร์ในนิคมอุตสาหกรรมระยองบริเวณระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยให้กับ Changan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเพื่อตั้งโรงงาน EV ในต่างประเทศแห่งแรก

    ในปี 2023 กำไรสุทธิของ WHA โตจากปีก่อนหน้า 9% มาอยู่ที่ 4.4 พันล้านบาท (119 ล้านเหรียญ) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท จรีพรผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ในปี 2003 ร่วมกับ สมยศ อนันตประยูร อดีตสามีผู้ล่วงลับ และเข้ามาเป็นซีอีโอกลุ่มในปี 2015 ขยับขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 31 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1 พันล้านเหรียญ


วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ - เร่งเครื่องค้าปลีก


    ผลกระทบอย่างหนักจากการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนและต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงส่งผลให้ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ของ วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ มีผลขาดทุนสุทธิ 813 ล้านบาท (22 ล้านเหรียญ) ในปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2015 เนื่องจากราคาหมูลดลงเกือบ 1 ใน 3 ส่วนกำไรสุทธิไตรมาสแรกดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

    อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลปราบปรามการลักลอบดังกล่าว เพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บอกกับนักลงทุนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า เขามั่นใจว่าไทยฟู้ดส์จะกลับมามีกำไรในปี 2024 โดยได้แรงหนุนจากยอดค้าปลีกที่กำลังโตอย่างรวดเร็ว

    ผู้ผลิตไก่และหมูครบวงจรรายนี้เปิดตลาดสดชื่อ Thaifoods Fresh Market แห่งแรกในปี 2020 และมีสาขาถึง 350 แห่งเมื่อปลายปี 2023 ธุรกิจค้าปลีกคิดเป็น 31% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2021 ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะมีจำนวน 600-700 สาขาภายในสิ้นปี 2025

    แม้ว่าหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากราคาตกลงในปีที่แล้วแต่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของซีอีโอวินัย ผู้ก่อตั้งไทยฟู้ดส์จากฟาร์มไก่ 1 แห่งในปี 1987 และยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่หลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2015 ลดลง 13% เหลือ 630 ล้านเหรียญ


จรรย์สมร วัธนเวคิน - ลุ้นตัวโก่ง


    ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีจากโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ที่อยู่ติดกับศาลท้าวมหาพรหมในใจกลางกรุงเทพฯ กำลังขยายตัวไปไกลกว่าธุรกิจตั้งต้นที่ขายความหรูหราด้วยการลงทุนเพิ่มที่พักราคาประหยัดจำนวนมาก

    บริษัทแห่งนี้ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริหารงานโดย จรรย์สมร วัธนเวคิน กับ อิสระ ว่องกุศลกิจ และตระกูลของพวกเขา ได้จัดสรรงบ 1 หมื่นล้านบาท (272 ล้านเหรียญ) สำหรับ 6 ปีข้างหน้าเพื่อขยายเครือโรงแรมราคาประหยัด Hop Inn ให้ครบ 150 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก จากเดิมที่มีอยู่ 59 แห่ง กลุ่มตั้งเป้าไว้ว่า รายได้จากโรงแรมราคาประหยัดซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 12% ของยอดขายกลุ่มต้องเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2030

    สุพล และอิสระ ลูกชายของจรรย์สมรเปิดตัวอัมรินทร์ พลาซ่า (ชื่อเดิม) ในปี 1982 ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับผู้ก่อตั้งอีกคน วิทย์ เจนวัฒนวิทย์ พวกเขาได้เปิดโรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของพวกเขาในปี 1989 ตามมาด้วยโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ในปี 1997

    เอราวัณซึ่งกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตามจำนวนโรงแรมที่เป็นเจ้าของและอยู่ภายใต้การบริหารกำลังได้ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในปี 2023 การเงินของกลุ่มพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรด้วยรายได้ที่พุ่งเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาอยู่ที่ 7 พันล้านบาท



รายงานโดย Gloria Haraito, พิษณุ พรหมจรรยา และ Anuradha Raghunathan



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: 5 มหาเศรษฐีไทย ทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในปี 2563 - 2567

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine