5 มหาเศรษฐีไทย ทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในปี 2563 - 2567 - Forbes Thailand

5 มหาเศรษฐีไทย ทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในปี 2563 - 2567

หลายปีที่ผ่านมา ทำเนียบมหาเศรษฐีไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในปี 2567 นี้ข้อมูลจาก Forbes พบว่า ความมั่งคั่งรวมของเหล่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยลดลงเกือบ 12% เหลือเพียง 1.53 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 1.73 แสนล้านเหรียญในปีที่แล้ว สาเหตุเพราะดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง 15% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังมีผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่า


    แต่ช่วงที่ผ่านมา มีทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น ปี 2563-2567 เหล่า 5 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในไทย ทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน


อันดับ 1 เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 หมื่นล้านเหรียญ / 1.32 ล้านล้านบาท

    เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของร่วม Red Bull เครื่องดื่มชูกำลังอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งขายได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2023 ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สินทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้น โดยครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นอยู่ 51% ซึ่งในจำนวนนี้มีหุ้นจำนวนเล็กน้อยที่เป็นของเฉลิม ลูกชายคนโตของผู้ร่วมก่อตั้งกระทิงแดงผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง ‘เฉลียว อยู่วิทยา’

    

อันดับ 2 พี่น้องเจียรวนนท์

​มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.9 หมื่นล้านเหรียญ / 1.06 ล้านล้านบาท

    พี่น้องเจียรวนนท์ ประกอบไปด้วยสามพี่น้อง รวมถึงครอบครัวของมนตรี เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 2 ของท่านเจี่ย เอ็กชอ ผู้ก่อตั้งเจียไต๋ ต้นกำเนิดธุรกิจของเครือซีพี ที่เริ่มจากการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากจีนให้เกษตรกรไทยในปี 1921 โดย ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ (ในภาพ) เป็นประธานและซีอีโอของซีพีมาเป็นเวลา 48 ปี จนกระทั่งเขาก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2017 แต่ยังคงเป็นประธานอาวุโส โดยมี สุภกิต และศุภชัย ลูกชายของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานและซีอีโอของซีพี ตามลำดับ

    ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่มูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่ม พี่น้องเจียรวนนท์ลดลงมาจากกรณีที่บริษัท Ping An Insurance ของจีนรายงานผลขาดทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ของบริษัทในปี 2023 มูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทด้วย

    

อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.0 หมื่นล้านเหรียญ / 3.68 แสนล้านบาท

     ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ ผู้กุมบังเหียนไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในหลากหลายแบรนด์ เช่น เบียร์ช้าง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ Fraser & Neave ไปจนถึง AWC ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นไทย และเป็นเจ้าของโครงการมิกซ์ยูสใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง One Bangkok อีกทั้งยังมีอาณาจักรค้าปลีก ได้แก่ เครือไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเข้าซื้อกิจการในปี 2016 ด้วยมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านเหรียญ แต่ในปี 2567 ยังพบว่า ความมั่งคั่งของเขาหดหายไปราว 1 ใน  4 ของมูลค่าในปีก่อน


อันดับ 4 ครอบครัวจิราธิวัฒน์

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.9 พันล้านเหรียญ / 3.64 แสนล้านบาท

    ครอบครัวจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของพื้นที่เช่าสุทธิ ในปี 2020 ได้นำธุรกิจส่วน Central Retail เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และขยายธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2023 กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในห้างสรรพสินค้า Selfridges ในลอนดอน ปี 2024 เข้าซื้ออาคารห้างสรรพสินค้า KaDeWe จากบริษัท Signa ในออสเตรีย


อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.2 พันล้านเหรียญ / 3.38 แสนล้านบาท

    สารัชถ์ รัตนาวะดี ดำรงตำแหน่งซีอีโอของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากกำลังการผลิตติดตั้ง โดยปี 2021 ได้เข้าถือหุ้นใน InTouch Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมที่มี Advanced Info Service (AIS) อยู่ นอกจากนี้ บริษัท Gulf Energy ของเขายังได้ร่วมทุนกับ Binance เปิดตัวกระดานแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ในประเทศไทย




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: 10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine