ลัดฟ้าสู่เมืองโพ้นทะเล ‘กวางเจา-ซัวเถา-แต้จิ๋ว’ เยือนถิ่นกำเนิดคนไทยเชื้อสายจีน - Forbes Thailand

ลัดฟ้าสู่เมืองโพ้นทะเล ‘กวางเจา-ซัวเถา-แต้จิ๋ว’ เยือนถิ่นกำเนิดคนไทยเชื้อสายจีน

คนจีนคือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย (รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก) มาตั้งแต่อดีต เกิดเป็น ‘คนไทยเชื้อสายจีน’ ที่มีประชากรเป็นจำนวนมากในประเทศ โดยดินแดนที่คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่อพยพมา ก็คือ กวางเจา-ซัวเถา-แต้จิ๋ว จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่ใช่น้อย หากครั้งหนึ่งเราจะได้ไปเยี่ยมเยือน สัมผัสประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในดินแดนโพ้นทะเลที่เป็นบ้านเก่าของชาวจีนที่เข้ามาสร้างวัฒนธรรมจากแดนมังกร และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย


    ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่หลายกลุ่ม โดยนอกจากในละแวกอุษาคเนย์แล้ว ชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไทยมากสุดก็คือ “ชาวจีน” นั่นเอง

    หลักฐานที่ว่ามีชาวจีนเดินทางเข้ามาในไทยนั้นมีมาตั้งแต่ยุคทวาราวดี และยิ่งชัดเจนขึ้นคือในสมัยอยุธยา ที่นอกจากจะมีการส่งเครื่องบรรณาการ ในไทยยุคนั้นยังมีประชาคมชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

    กระทั่งในยุคกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ชาวจีนยังอพยพเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหนำ กวางตุ้ง และฮากกา และกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ของไทย ตั้งแต่เยาวราช สำเพ็ง หัวเมืองอย่างจันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศตามการพัฒนาเส้นทางรถไฟ

    ในปี 2563 ประมาณการว่ามี “คนไทยเชื้อสายจีน” อาศัยอยู่ในไทยราว 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ เขาเหล่านี้ไม่เพียงแต่รักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนไว้อย่างมั่นคง แต่ยังถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วย

    หากดูในทำเนียบ 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยของ Forbes ก็จะพบว่าบรรดามหาเศรษฐีไทยส่วนใหญ่ในลิสต์นี้ ต่างก็เป็นมีถิ่นกำเนิดมาจากแดนมังกรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลเจียรวนนท์, ตระกูลจิราธิวัฒน์, ตระกูลสิริวัฒนภักดี ฯลฯ

    การเยือน “กวางเจา-ซัวเถา-แต้จิ๋ว” ของ Forbes Thailand กับ CP All และ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ในครั้งนี้ จึงเป็นการพาสำรวจบ้านเก่าของคนไทยเชื้อสายจีน ย้อนดูประวัติศาสตร์และการค้า และความเจริญในปัจจุบันของเมืองที่เป็นบ้านเกิดของคนไทยกลุ่มนี้


“กวางเจา” จากเมืองการค้าสู่เขตเศรษฐกิจสำคัญ

    นครกวางเจา (Guangzhou หรือ กว่างโจว) เป็นเมืองท่าสำคัญของจีนมาแต่โบราณ มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อถึงราชวงศ์ถัง กวางเจาก็จัดเป็นหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญของโลก โดยมีเส้นทางการค้าสู่ประเทศต่างๆ แถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกใต้ ต่อมาในยุคห้าราชวงศ์และราชวงศ์ซ่ง กวางเจาก็ได้กลายเป็นเมืองท่าและเมืองพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน

    สำหรับในยุคปัจจุบัน ที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจสู่ระบบทุนนิยม ก็ได้เลือกพื้นที่ตอนล่างของมณฑลกวางตุ้งจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น, เขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา

    นครกวางเจาในฐานะเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย ที่มีการพัฒนาโครงการแนวสูงเป็นจำนวนมาก รองรับผู้คนจากที่ต่างๆ ที่เข้ามาทำงานในเมือง


    ในด้านคมนาคม นอกจากจะสร้างทางหลวงขึ้นมารองรับการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น จีนยังลงทุนสร้าง Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link (XRL) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้นไปถึงนครกวางเจา และจะเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟของประเทศจีนต่อไป

    โดยรถไฟดังกล่าวสามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 350 กม./ชั่วโมง โครงการนี้เปิดให้บริการเมื่อปี 2561 ทำให้การเดินทางจากฮ่องกงไปยังนครกวางเจาใช้เวลาเพียงแค่ 48 นาที สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่ใช้ในอดีต

    แม้ภาพรวมนครกวางเจาจะพัฒนาไปมาก แต่ร่องรอยของอดีตยังคงสัมผัสได้ที่ “หมู่บ้านโบราณพั่นถัง” ที่แม้ที่ดินทั้งหมดจะกลายเป็นของรัฐบาล และปล่อยให้ประชาชนเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย แต่สถาปัตยกรรมในหมู่บ้านนี้ ถึงแม้สร้างใหม่แต่ก็ยังคงรูปแบบบ้านเรือนโบราณและกลิ่นอายวัฒนธรรมกวางตุ้งแบบดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส


    หมู่บ้านพันปีแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านเก่าอย่างเหล่าซีกวน ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาหารกวางตุ้งมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่นี่รายล้อมไปด้วยทัศนียภาพของทะเลสาบลี่วานที่สวยงาม จนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองด้วย



    ภายในหมู่บ้านยังขายสินค้าจากวัตถุดิบพื้นเมืองอันโดดเด่นทั้ง 5 ชนิด ซึ่งเรียกกันว่า พั่นถังอู่ซิ่ว ได้แก่ รากบัว, แห้วจีน, กระจับ, หน่อไม้น้ำ และฉือกู ทั้งยังมีสิ่งก่อสร้างโบราณหลายแห่ง ที่สำคัญก็คือ ศาชาชุมชนที่ห้า และศาลบรรพชนตระกูลหลี่ ซึ่งเป็นศาลบรรพชนเพียงแห่งเดียวที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในหมู่บ้าน

หมู่บ้านโบราณพั่นถัง


    นอกจากกลิ่นอายของประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดของการมาเยือนเมืองนี้คือการเที่ยวชมความเจริญของเมืองที่พัฒนาแล้วผ่านการล่องเรือในแม่น้ำไข่มุกยามค่ำคืน โดยเแม่น้ำไข่มุกถือเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 3 ของจีน มีความยาวถึง 2,400 กิโลเมตร


    ไฮไลต์สำคัญคือตึกสูงที่เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่สองข้างแม่น้ำ มีการแสดงแสงสีเล่นไฟกับตึก สร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ‘แคนตัน ทาวเวอร์’ หอคอยที่มีความสูง 604 เมตร ถือเป็นหอคอยที่มีความสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในปัจจุบัน รองจากหอคอยโตเกียว สกายทรี ที่มีความสูง 634 เมตร ทำหน้าที่เป็นทั้งหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ จุดชุมวิวมุมสูง และเป็นแลนด์มาร์กประจำเมืองนั่นเอง


‘ซัวเถา’ เมืองท่าสำคัญ บ้านเกิดตระกูล ‘พระเจ้าตากฯ’

    อีกหนึ่งนครสำคัญที่เป็นบ้านเกิดของคนไทยเชื้อสายจีนก็คือ ‘ซัวเถา’ เมืองท่าเก่าแก่ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง โดยด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนั้นเป็นชายฝั่งติดทะเลจีนใต้ ทำให้เอื้อต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าโดยเฉพาะการเดินเรือทะเล จนได้รับฉายานามว่า “หน้าด่านแห่งจีนใต้ ประตูตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง”


ชาวซัวเถายังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม


    ในอดีตหลังสิ้นสุดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1856-1860) ต่างชาติเข้ามาทำการค้า ทำให้เศรษฐกิจของซัวเถาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ชาวแต้จิ๋วโดยเฉพาะชาวบ้านอำเภอต่างๆ ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมยังลำบากเหมือนเดิม ขณะที่รุ่นบุกเบิกที่ไปลงหลักปักฐานยังต่างแดนได้ เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวแต้จิ๋วระลอกแล้วระลอกเล่าเดินหน้าลงเรือไปหาที่ทำกินในแผ่นดินอื่น

บริเวณท่าเรือโบราณจึงลิ้ม ท่าเรือโบราณที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลกวางตุ้งในยุคที่การค้าเกลือเจริญรุ่งเรือง ต่อมาเป็นท่าเรือที่ชาวแต้จิ๋วนิยมใช้อพยพออกนอกประเทศ ปัจจุบันมีการจัดแสดง "เรือหัวแดง" เรือที่ชาวแต้จิ๋วนิยมใช้ในยุคนั้น


    ส่วนปัจจุบันนครซัวเถาได้ยกฐานะขึ้นเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2011 นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยนครซัวเถามีประชากรอยู่ที่ 5.78 ล้านคน ณ ปลายปี 2022

    จุดท่องเที่ยวของเมืองนี้หลักๆ คือ เขตเมืองเก่าซัวเถา ที่แม้ผู้คนจะเรียกกันว่าสวนสาธารณะ แต่ที่นี่เป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

    ภายใต้พื้นที่ที่ครอบคลุมถึง 753,300 ตารางเมตร มีสิ่งสำคัญคือ ศาลาอนุสรณ์สถานจงซาน ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่ รายล้อมไปด้วยร้านรวงต่างๆ และห้างสรรพสินค้าเรียงราย ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน บรรยากาศของที่นี่คล้ายกับถนนคนเดินบ้านเราเลยก็ว่าได้


    อย่างที่กล่าวไปว่าซัวเถาเป็นเมืองบ้านเกิดของคนจีนจำนวนมากที่อพยพไปอยู่ในที่ต่างๆ ของไทย ตัวอย่างบุคคลสำคัญที่มาจากซัวเถา เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตก็มีบรรพบุรุษของหนึ่งในพระมหากษัตริย์ไทยอย่างพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย

    ทำให้ที่นครซัวเถามีที่ตั้งของ ‘สุสานพระเจ้าตากสิน’ ตั้งอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ โดยสาเหตุที่มีสุสานของพระองค์ตั้งอยู่ที่นี่ เป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว มีแซ่ภาษาจีนคือ “แต้” ป้ายศิลาหน้าสุสานสลักตัวอักษร “สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของแต้อ๋องตากสินมหาราชแห่งสยามประเทศ”



    บริเวณลานสุสานมีทัศนียภาพที่สวยงาม รายล้อมด้วยพรรณไม้นานาชนิด และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองในเขตเถ่งไฮ่

    เล่ากันว่าหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต พระญาติได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามาฝังที่เถ่งไฮ่ ตามความเชื่อของชาวจีนที่ว่าเมื่อสิ้นชีวิตแล้วต้องพาร่างหรือสิ่งที่เป็นตัวแทนกลับมายังบ้านเกิด และเพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ให้อนุชนชาวจีนแต้จิ๋วได้รำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ ทั้งยังเป็นดั่งสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ไทย-จีน อีกด้วย


‘แต้จิ๋ว’ เมืองมรดกทางวัฒนธรรม

    นครเฉาโจวหรือเมืองแต้จิ๋ว เป็นที่รู้จักในชื่อ “ประตูฝั่งตะวันออก” ของมณฑลกวางตุ้ง ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็น “ถิ่นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล” อย่างแท้จริง ตามสถิติปัจจุบันมีชาวจีนที่เป็นชาวแต้จิ๋วกระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่าล้านคน

    แต้จิ๋วนั้นเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยาวนาน ปัจจุบันมีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมมากกว่า 1,390 แห่ง กลายเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์

    ไม่เพียงเท่านั้น วัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่จิ๋วก็มีความโดดเด่นจนถูกยกย่องให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมชั้นยอดของจีน เช่น ศิลปะการชงชา หรือ กังฮูเต๊ รวมไปถึงการเย็บปักถักร้อย การทอเส้นไหม การแกะสลักไม้ ฯลฯ จนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเรียกที่นี่ว่าเป็น “หน้าต่างแสงวัฒนธรรมยุคคลาสสิกของจงหยวน” ที่ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านโบราณเหล่งโอ๊ว


    สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแต้จิ๋วคือ หมู่บ้านโบราณเหล่งโอ๊ว ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) มีความเจริญรุ่งเรืองมากสุดในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1616-1912) รวมแล้วมีอายุมากกว่า 1,000 ปี

    รูปร่างของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ กินพื้นที่ทั้งหมด 1.5 ตารางกิโลเมตร ตัวหมู่บ้านถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงามตามหลักแผนผังแปดทิศ สิ่งก่อสร้างในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นสถาปัตยกรรมตามรูปแบบของราชวงศ์หมิงและชิง จนเหมือนเป็นเมืองแต้จิ๋วโบราณขนาดย่อมๆ

    ส่วนปัจจุบันที่นี่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยสองข้างทางเรียงรายไปด้วยร้านค้าที่ขายสินค้าพื้นถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น งานแกะสลักไม้อันแสนประณีต รวมถึงชาประเภทต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวซื้อไปเป็นของฝากได้

สะพานกว่างจี้


    อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ของแต้จิ๋วก็คือ “สะพานกว่างจี้” หรือสะพานเซียงจื่อ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำหั่งกัง หรือหานเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของแต้จิ๋ว

    โครงสร้างของสะพานเป็นแบบผสมผสานระหว่างสะพานตอม่อหินและสะพานลอยน้ำเข้าด้วยกัน โดยสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือราว 800 กว่าปีก่อน ได้รับการยกย่องว่าเป็นสะพานเปิด-ปิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

    ด้วยความเชี่ยวกรากของแม่น้ำสายนี้ ทำให้สะพานแห่งนี้ถูกกระแสน้ำพัดจนเสียหายเกือบหมดตั้งแต่สร้างในยุคแรก จนมีการบูรณะสะพานขึ้นใหม่โดยสร้างตอม่อหินต้นแรกขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสะพานลอยน้ำ หลังจากนั้นตลอด 54 ปีต่อมา สะพานแห่งนี้ก็ได้รับการซ่อมแซมและต่อเติมเพิ่มจำนวนตอม่อหินมากขึ้นเรื่อยๆ

    ก่อนจะมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยราชวงศ์หมิง ที่มีการสร้างศาลาจีนบนตอม่อแต่ละต้น เพิ่มราวกั้นสะพาน และตกแต่งสะพานให้ดูประณีตงดงาม

ย่านการค้า-ท่องเที่ยวบริเวณใกล้สะพาน


    จนปัจจุบัน (ที่มีการบูรณะซ่อมแซมสะพานมานับครั้งไม่ถ้วน) สะพานแห่งนี้ยังมีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง สวยงามตระการตา และได้รับการจัดอันดับให้เป็นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ


ที่มา:

ข้อมูลจาก ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้อำนวยการอาศรมสยาม-จีนวิทยา

https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/165/

​https://hongkong.thaiembassy.org/th/content/bic-20230518-2?page=5d84804a15e39c03c8002805&menu=63f6ee287bdfff68980dbb53



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “Da Vinci Alive Bangkok” ศิลปะดิจิทัล สัมผัสไอเดียอัจฉริยะศิลปินระดับโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine