“Gelephu” เศรษฐกิจใหม่ เมืองแห่งสัมมาสติ “ภูฏาน” - Forbes Thailand

“Gelephu” เศรษฐกิจใหม่ เมืองแห่งสัมมาสติ “ภูฏาน”

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Apr 2025 | 09:00 AM
READ 126

“เมืองแห่งสติ” คำนี้มาจากโครงการพิเศษของประเทศซึ่งมีความเรียบง่าย อนุรักษ์ธรรมชาติโดดเด่นอย่างภูฏาน ที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ บ้านเมืองเป็นระเบียบด้วยวัฒนธรรมและวิถีแบบดั้งเดิม


    เมืองแห่งสัมมาสติ (mindfulness city) คือ เป้าหมายที่ประเทศภูฏานตั้งไว้ สำหรับการพัฒนา Gelephu เมืองใหม่ให้เป็นเมืองธุรกิจที่จุดหมายปลายทางไม่แออัด มีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ผสมผสานประเพณีแบบภูฏาน ธรรมชาติ และการใช้ชีวิตแบบโลกสมัยใหม่เข้าไว้ด้วยกัน

    น่าเสียดายที่การไปเยือนภูฏานระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัส Gelephu เมืองแห่งสัมมาสติที่กล่าวถึง เพราะยังเป็นโครงการพัฒนาใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ภาพยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตามพออนุมานได้จากสภาพบรรยากาศเมืองในภาพรวม ณ ปัจจุบัน และแหล่งท่องเที่ยวของภูฏาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธรรมชาติของดินแดนบนภูเขาที่มีความสูงชันเป็นส่วนใหญ่ ภาพเมืองแห่งสัมมาสติที่จะสร้างใหม่ยังคงความเป็นธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ไม่ต่างจากเมืองภูฏานในปัจจุบัน

    สิ่งที่เมืองใหม่ Gelephu จะมีเพิ่มเข้ามาคือ ความทันสมัย ความสะดวกสบายที่ยังคงรากฐานมาจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบภูฏาน ประเทศที่วัดความสุขด้วยค่านิยมและปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) หรือ GNH แทนที่จะวัดด้วย GDP: Gross Domestic Product หรือการวัดผลความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นี่คือความแตกต่างที่สัมผัสได้ชัดเจน


คงวิถีธรรมชาติยั่งยืน

    สถาบันกษัตริย์และผู้นำแห่งภูฏานให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความสุขของผู้อยู่อาศัยทุกคนในเวลาเดียวกันในลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ซึ่งการประกาศพัฒนาเขตบริหารพิเศษนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ทรงย้ำถึงความได้เปรียบทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศภูฏาน ทรงชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาภูฏานไม่เพียงแต่ให้คุณค่ากับทรัพยากรที่มี แต่ยังสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศเล็กๆ แห่งนี้ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก



    เมือง Gelephu ได้รับการพัฒนาตามแผนแม่บทของเมืองแห่งสัมมาสติซึ่งได้รับการออกแบบโดยกลุ่มบริษัท Bjarke Ingels Group (BIG) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริในการสร้างสะพานหลายแห่งไว้อำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทาง เชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะต่างๆ พัฒนาทั้งอาคารสูงระดับต่ำถึงกลางทางตอนใต้ของประเทศภูฏาน

    โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 2.5% ของพื้นที่ราบในประเทศทั้งหมด โดยจะไม่รบกวนความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มากไปกว่านั้นแผนแม่บทนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างระบบนิเวศให้เชื่อมโยงถึงกัน สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชนทั้ง 11 แห่งที่เชื่อมต่อกันผ่านแม่น้ำและลำธารกว่า 35 สาย ไหลผ่านตั้งแต่พื้นที่สูงในชนบท พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจไปจนถึงตัวเมืองและที่ราบลุ่ม

    แต่ละชุมชนที่อยู่ในแผนแม่บทนี้จะถูกออกแบบตามหลักการมณฑล (the mandala principle) นั่นคือ กำหนดให้สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ล้อมรอบพื้นที่สาธารณะ โดยจะมีทั้งอาคารเล็กใหญ่กระจัดกระจายในภูมิประเทศ พร้อมทั้งสร้างทุ่งนาตามแม่น้ำและลำธารเพื่อป้องกันอุทกภัยในช่วงน้ำหลาก การออกแบบตามแผนนี้ยังก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพแก่พืชและสัตว์พันธุ์ท้องถิ่นโดยไม่รบกวนเส้นทางอพยพของช้างและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ


สะพานแห่งการดำเนินชีวิต

    แนวคิดที่ต้องการเชื่อมโยงผู้คนและวัฒนธรรมไว้ด้วยกันเป็นที่มาของ “สะพานแห่งการดำเนินชีวิต” ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างไว้เพื่อการสัญจรเท่านั้น แต่ยังรองรับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป ยังคงตอบสนองหลักความสุขมวลรวมประชาชาติทั้ง 9 ประการ

    สะพานเหล่านี้จะกระจายไปตามจุดหมายปลายทางสำคัญต่างๆ ได้แก่ สนามบินแห่งใหม่ ศูนย์ธรรมวัชรยาน เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้มองเห็นกิจวัตรประจำวันของนักบวชและผู้ปฏิบัติ ศูนย์สุขภาพที่จะรวมไว้ทั้งศาสตร์ตะวันออกและตะวันตก มหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนกิจกรรมทางวิชาการ เรือนกระจกแบบไฮโดรโปนิกส์ และอะควาโปนิกที่จะจัดแสดงทั้งการทำฟาร์มแบบโบราณ และวิทยาศาสตร์การเกษตรสมัยใหม่ให้กับคนที่ผ่านไปมา ศูนย์วัฒนธรรมที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีของภูฏานแก่ผู้มาเยือน และตลาดที่ประดับด้วยผ้าภูฏานพื้นเมือง

    สะพานแห่งสุดท้ายจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งจะสร้างขึ้นบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของเมือง โดยมีกำแพงดินแบบขั้นบันไดซึ่งจะใช้เป็นจุดชมวิว บันไดสำหรับเดินทำสมาธิ และวัด ผู้เยี่ยมชมและผู้แสวงบุญสามารถขึ้นและลงตามเส้นทางแต่ละเส้นทางเพื่อไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและวัดที่ตั้งอยู่บริเวณแถวหน้าผาได้



มนตร์เสน่ห์เมืองที่แตกต่าง

    สิ่งหนึ่งที่เห็นในการไปเยือนภูฏานคือ ผู้คนส่วนใหญ่ยังแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง ชุดประจำชาติของชาวภูฏานของฝ่ายชายเรียกว่า “โค” (Kho) เป็นชุดคล้ายกิโมโนของญี่ปุ่น เวลาสวมใส่ต้องให้ด้านซ้ายทับขวา เอาเข็มขัดคาดเอว ดึงเสื้อออกมาปิดเข็มขัดแลดูเหมือน 2 ท่อน ตรงชายเสื้อที่พับตลบขึ้นนั้นมาจากชุดชั้นในสีขาว หากเป็นหน้าร้อนนิยมใช้ปลอกแขนสวมหลอกเอาไว้

    ชุดประจำชาติของชาวภูฏานฝ่ายหญิงเรียกว่า “คีร่า” (Kira) เป็นผ้าทอพื้นเมืองขนาดประมาณ 2.5x1.5 เมตร นำมายึดติดกันด้วยเข็มกลัดเงินที่มีลวดลายงดงาม 2 ตัว ตรงบริเวณหัวไหล่คาดเข็มขัดเส้นโต ความยาวของคีร่าเกือบลากดิน เสื้อตัวในมักจะใช้สีเดียวกับลวดลายที่ปรากฏบนคีร่า แล้วมีการสวมเสื้อคลุมอีกชั้น

    พูดถึงการแต่งกายชาวภูฏานค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องธรรมเนียมการแต่งกายสำหรับสถานที่สำคัญหรือติดต่อราชการจะต้องมีผ้าสะพายบ่าในงานพิธีหรือ “กับเนะ” (Kabney) คือ ผ้าผืนใหญ่ที่ผู้ชายภูฏานใช้สะพายบ่าเมื่อต้องร่วมไปงานพิธี หรือเมื่อมีธุระต้องเข้าไปในป้อมปราการ (dzong) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทำการ ผ้าสะพายบ่าถือเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของ

    เมื่อมีธุระหรือต้องไปติดต่อสถานที่ราชการหรือเข้าวัดต้องใส่กับเนะพาดไหล่ซ้ายพันร่างเฉียงไปทางขวา กับเนะมีสีแตกต่างกันออกไปเป็นการบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมและฐานันดรของผู้ใช้คือ สีเหลืองอมส้มใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และพระสังฆราช ข้าราชการชั้นสูง ทั้งหมดจะมีดาบคาดประดับ กับเนะชั้นสูงนั้นพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้ แต่หากเป็นระดับรองๆ ลงมารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้มอบให้แทน กับเนะของราชองครักษ์ ทหาร และตำรวจจะเป็นผ้าเนื้อหนา ความกว้างจะน้อยกว่ากับเนะทั่วไป

    กับเนะสีส้มใช้สำหรับรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นผ้าเย็บเก็บชายแต่จะพับชายพาดทับไว้บนบ่าซ้ายอีกชั้นหนึ่ง กับเนะสีน้ำเงินใช้สำหรับองคมนตรี ผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาองคมนตรี กับเนะสีแดงใช้สำหรับดาโซะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ภูฏานจะพระราชทานให้กับข้าราชบริพารที่มีความดีความชอบ เป็นตำแหน่งเฉพาะตัวไม่มีการสืบทอดไปสู่ทายาท เป็นผ้าผืนใหญ่เย็บเก็บชายเรียบร้อยเอกลักษณ์ชุดพื้นเมือง


เรื่อง: กมลพร นิยมศิลป์

ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งภูฏาน


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิถียั่งยืน “Soneva” มูลค่าแห่งธรรมชาติ

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine