กลุ่มดุสิตธานี ผนึกความร่วมมือ Local Alike รุกตลาดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ - Forbes Thailand

กลุ่มดุสิตธานี ผนึกความร่วมมือ Local Alike รุกตลาดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Dec 2020 | 08:27 PM
READ 6312

กลุ่มบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับโลเคิล อไลค์ (Local Alike) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคม รุกตลาดท่องเที่ยวมิติใหม่ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งถึงชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

กลุ่มดุสิตธานี
(ซ้าย) ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี (กลาง) สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลคัล อไลค์ จำกัด (ขวา) ปิ่น ผู้นำชุมชนกุฎีจีน
“การจะดึงให้คนไทยหรือนักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศรู้สึกอยากออกมาเที่ยวมากขึ้น คือ ต้องพยายามลองมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่เขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสหรือคุ้นเคยมากนัก มาตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ภายใต้การท่องเที่ยวที่ทั้งสะดวกสบายและคุ้มค่า” ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานีกล่าว  ด้วยเหตุนี้ กลุ่มดุสิตธานีจึงปรับยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านแคมเปญ “Dusit Local Explorer” ที่เน้นสร้างความยั่งยืนและประสบการณ์ใหม่ในท้องถิ่น โดยนักท่องเที่ยวจะได้ใช้เวลาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม ผ่านทางกิจกรรมที่ทั้งสนุกและให้ความรู้ พร้อมลองอาหารพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น รวมถึงออกผจญภัยเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติของแหล่งชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนนั้นๆ ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยปัจจุบันมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่พร้อมเปิดให้บริการทั้งหมด 7 เส้นทาง ได้แก่
  • กรุงเทพ - สัมผัสเสน่ห์ของกลิ่นอายโปรตุเกสในชุมชนกุฎีจีน ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำ
  • เชียงใหม่ - เปิดประสบการณ์วิถีชีวิตชาวไทยภูเขาผ่านกิจกรรมวัฒนธรรมกับชุมชนไทลื้อ
  • ภูเก็ต - เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนบนเรือแคนูและสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงพร้อมเยี่ยมชมฟาร์มล็อบส์เตอร์ภูเก็ต
  • หัวหิน - ร่วมกิจกรรมปกป้องผืนป่าแบบท้องถิ่นและสนุกกับการผจญภัยล่องแม่น้ำ
  • กระบี่ - สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นพร้อมกิจกรรมธรรมชาติท่องป่าชายเลน
  • พัทยา - สัมผัสชุมชนชนบทใกล้พัทยาพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา
  • เขาใหญ่ - ปั่นจักรยานท่องหมู่บ้านเกษตรกรรมเพื่อเรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืน
“การที่เราจะโตไปข้างหน้าได้ ถ้าเรามองแค่ตัวเราเองมันคงได้แค่แคบๆ แต่ถ้าเรามองว่าการท่องเที่ยวของประเทศสามารถเดินต่อได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เราต้องทำส่วนรวมให้ก้าวไปด้วยกันได้มากกว่า” ศุภจีกล่าว พร้อมเน้นย้ำ 3 โมเดลสำคัญที่กลุ่มดุสิตมองว่าจะเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวม ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเพื่อสังคม อันได้แก่ ความร่วมมือ (Collaboration) การผสมผสาน (Integration) และการเกื้อกูลกันและกัน (Social Contribution) โดยในที่นี้ กลุ่มดุสิตธานีจะทำงานร่วมกับ Local Alike ในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ด้วยการส่งทีมงานเข้าไปช่วยให้ความรู้กับคนในชุมชน ในการรับมือกับนักท่องเที่ยว และให้คำแนะนำในการวางระบบการทำงานเพื่อยกระดับการบริการให้ได้มาตรฐานสากล โดยความร่วมมือจะแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังต่อไปนี้ ความร่วมมือในระดับแรก คือ ความร่วมมือในการโปรโมทชุมชนที่มีความพร้อมผ่านแพคเกจท่องเที่ยว Dusit Local Explorer กับโรงแรมในเครือดุสิตทุกแห่งทั่วประเทศ  ซึ่งจะเป็นการนำเสนอทริปการท่องเที่ยวแบบเจาะลึก เน้นสาระแบบแน่นๆ สามารถสัมผัสและเข้าถึงชุมชนได้จริง ซึ่งรายได้ของทริปการท่องเที่ยวร้อยละ 70 จะเข้าสู่ชุมชนโดยตรง ขณะที่อีกร้อยละ 30 จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเชิงสังคมอย่าง Local Alike เพื่อส่งต่อพลังในการท่องเที่ยวไปถึงชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป และความร่วมมือในระดับเชิงลึก คือ การร่วมส่งบุคลากรเข้าไปเป็นทีมงานจิตอาสาร่วมกับทีมงาน Local Alike เพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนแห่งใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยที่ผ่านมา  กว่าแต่ละชุมชนจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี  เนื่องจากชุมชนใหม่ๆ อาจจะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมในเรื่องของการรับมือกับนักท่องเที่ยว  กลุ่มดุสิตธานีจึงใช้จุดแข็งในเรื่องของการมีประสบการณ์และยังมีหน่วยงานด้านการศึกษา เช่น วิทยาลัยดุสิตธานี ส่งทีมงานและบุคลากรที่มีความรู้เข้ามาช่วยเสริม และทำงานร่วมกันกับ Local Alike ในการให้ความรู้คนในชุมชนใหม่ๆ เพื่อยกระดับการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานทั้งในเรื่องของความสะอาด และความสะดวกสบาย นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานียังช่วยสนับสนุนรายได้เสริมด้านอื่นๆ ให้กับชุมชนผ่านกิจกรรม “โลเคิล อร่อย (Local Aroi)” ที่ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีทักษะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ ให้มีศักยภาพในการจัดเลี้ยงอาหารนอกสถานที่แบบพิเศษ ที่นอกจากจะได้อิ่มเอมจากอาหารอร่อยจากท้องถิ่นแล้ว ยังได้ซึบซับวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชุมชนอีกด้วย ขณะที่ “โลเคิล อลอท (Local Alot)” จะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน ด้านสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลคัล อไลค์ จำกัด กล่าวว่า “ผมรู้สึกขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มดุสิตธานี เห็นถึงคุณค่าของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการทำงานของเราอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับทีมงานของดุสิตในแต่ละพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับ “ชุมชน” ให้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและมีศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เอง เพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้รับประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่น  นอกจากนี้ เรากำลังวางแผนร่วมมือกับดุสิตฯ ในการต่อยอดขยายพื้นที่การทำงานออกไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการสนับสนุนของดุสิตฯ ในเรื่องของเทรนนิ่ง น่าจะทำให้เป้าหมายในการขยายจำนวนชุมชน สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นกว่าเดิม”

Local Explorer at Kudeejeen - เสน่ห์วันวาน ณ กุฎีจีน

สำหรับในครั้งนี้ ดุสิตธานีและ Local Alike จะพาสัมผัสเสน่ห์ทางวัฒนธรรมในชุมชนกุฎีจีน ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังคงรักษาความงดงามด้านศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี โดยชุมชนเป็นชุมชน 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม 4 ความเชื่อ ไทย จีน ฝรั่งและแขก ส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน จนเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวชุมชนกุฎีจีนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี "ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนที่ค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะคนไม่ค่อยย้ายเข้าย้ายออก โดยปัจจุบันเป็นรุ่นที่ห้าของชาวโปรตุเกส ที่อาศัยอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อ ซึ่งทาง Local Alike ได้เข้ามาช่วยในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการชูจุดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์" ปิ่น ผู้นำชุมชนกุฎีจีนกล่าว "การที่จะทำให้ชุมชนแต่ละชุมชนพร้อม ไม่ได้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ เราต้องค่อยๆ เปลี่ยน เพราะหลายๆ ชุมชนอาจไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก อย่างกุฎีจีน เราใช้เวลาในการพัฒนาราว 8-9 ปี โดยเริ่มจากการเข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัย พร้อมทั้งปรับทัศนคติของคนในชุมชน ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้ถูกรุกราน แต่อยากให้บริการด้วยความเต็มใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว" สมศักดิ์เสริม  กลุ่มดุสิตธานี เริ่มจากวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่ก่อสร้างขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371-2379 ภายในวัดประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ และถาวรวัตถุสำคัญหลายชิ้น กลุ่มดุสิตธานี แวะชิมขนมรองท้องกันที่ร้านหลานป้าเป้า ตำนานร้านขนมย่านกุฎีจีนที่มีอายุกว่า 250 ปี เพื่อเรียนรู้วิธีการทำขนมฝรั่งกุฎีจีน คัพเค้กโปรตุเกสร้อนๆ ตากเตาถ่านสูตรดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมาหลายรุ่น กลุ่มดุสิตธานี แล้วจึงไปอิ่มอร่อยกับอาหารมื้อหลัก ณ ร้านสกุลทอง กับอาหารไทย-โปรตุเกส และอาหารไทยตำรับชาววังหาทานยากอย่างหรุ่ม ช่อม่วง ถุงทองไส้ไก่ หมูโสร่ง และขนมจีนแกงไก่คั่ว พร้อมเรียนรู้และลองทำขนมจีบนกจากเจ้าของร้านอย่างสนุกสนาน ก่อนเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากจารุภา จันทนภาพ ผู้ดูแลเรือนจันทนภาพ เรือนไทยวิคตอเรียเก่าแก่อายุ 127 ปี ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมถึง 3 สัญชาติอย่างไทย จีน ฝรั่ง ที่สามารถสัมผัสได้ในทุกพื้นที่ของตัวเรือนไทยไม้สักทั้งหลังเลยทีเดียว และไปชมโบสถ์ซางตาครู้สโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกสีชมพู และสัมผัสความงามของโดมฟลอเรนซ์ริมเจ้าพระยา ที่บอกเล่าเรื่องราวทางคริสต์ศาสนาอย่างสวยงาม หลังจากนั้น ก็มาที่ศาสนสถานสำคัญอีกหลังกับศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าจีนเล็กๆ ริมน้ำเจ้าพระยา เป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ เทพเจ้าที่คนในชุมชนมักมาไหว้บูชาเทพเจ้าและเจ้าแม่กวนอิม และปิดโปรแกรมกันที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ หลวงพ่อโต และบริเวณหน้าวิหารหลวง ยังเป็นที่ตั้งของหอระฆัง ที่ใช้จัดเก็บหนึ่งในระฆังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญการท่องเที่ยว Dusit Local Explorer ได้ที่ http://www.dusit-international.com อ่านเพิ่มเติม: กลุ่มดุสิตธานี ปักหมุดแบรนด์ “ดุสิตธานี” แห่งแรกในญี่ปุ่น