ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานการณ์ของเศรษฐีทั่วโลกยังอยู่ในช่วงการปรับตัวและยืดหยุ่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อข้ามมาปี 2564 หลายคนเริ่มสะสมสินทรัพย์มากขึ้น
Flora Harley พาร์ตเนอร์ของ Knight Frank บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก จึงได้นำตัวเลขล่าสุดจาก Knight Frank Wealth Sizing Model ที่รวบรวมโดย James Culley หัวหน้าฝ่าย Data Science ของ Knight Frank มาวิเคราะห์ว่ากลุ่มเศรษฐีทั่วโลกรวยขึ้นหรือรวยน้อยลงกันอย่างไรใน The Wealth Report 2022 ...
ปัจจุบันโลกยังอยู่ในช่วงดิสรัปชัน และแม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตด้านสุขภาพ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สภาพตลาด และสินทรัพย์มีความแตกต่างกันไป ข้อจำกัดต่างๆ ที่หลายประเทศประกาศใช้เพื่อรับมือกับไวรัสและการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การออมและสะสมเงิน และการเพิ่มระดับความมั่งคั่งที่ไม่ได้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ตัวเลขของ Knight Frank เผยให้เห็นถึงการขยายตัวของจำนวน Ultra-High Net Worth Individual (UHNWI) ทั่วโลก หรือผู้ที่มีสินทรัพย์สุทธิ 30 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป เพิ่มขึ้น 9.3% ในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปี 2563 ที่ขยายตัวเพียง 2.4% โดยการขยายตัวดังกล่าวยังสะท้อนได้จาก Attitudes Survey หรือผลการสำรวจทัศนคติที่มีการสอบถามไปยังที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งและไพรเวตแบงเกอร์ ซึ่ง 82% ระบุว่า ลูกค้าของพวกเขารวยขึ้น และเกินครึ่งบอกว่าลูกค้าของพวกเขารวยขึ้นอย่างมาก ซึ่งในที่นี้คือมากกว่า 10%
ย้อนหลังไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปีที่หลายคนมองบวกเป็นครั้งสุดท้ายคือในปี 2560 ในปีนั้นเองพบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสำรวจทัศนคติมองว่าลูกค้าของพวกเขารวยขึ้น ขณะที่จำนวน UHNWI ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 10% เนื่องจากเป็นช่วง Goldilocks Economic Conditions หรือสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังพอเหมาะพอดี ไม่ร้อนแรงเกินไปจนกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ และไม่ชะลอตัวมากเกินไปจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย ในวันนี้สถานการณ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เรื่องราวความมั่งคั่งและผลการตอบแทนของสินทรัพย์ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด
จากการสำรวจพบว่าภูมิภาคเดียวในโลกที่มีจำนวน UHNWI ลดลงคือทวีปแอฟริกา โดยลดลง 0.8% ขณะที่ Attitudes Survey พบว่าที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งของแอฟริกายังมองโลกในเชิงลบมากที่สุดต่อโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าของพวกเขา และทวีปแอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่มีประเทศที่มีจำนวน UHNWI ลดลงมากที่สุดถึง 3 ประเทศ จาก 5 ประเทศที่มีจำนวน UHNWI ลดลงมากที่สุด
- การสะสมเงินและสินทรัพย์ -
เงินฝากออมทรัพย์ที่สะสมไว้ในปี 2563 ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2564 การเข้าถึงเทคโนโลยีและประชาธิปไตยดิจิทัลของการลงทุน ซึ่งรวมถึง Private Equity ได้นำไปสู่การเติบโตและการสร้างความมั่งคั่งในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะได้รับแรงผลักดันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ตั้งแต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น ไปจนถึงของสะสมฟุ่มเฟือย ล้วนช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับคนรวยมากพอที่จะถือพอร์ตการลงทุนต่อ
ประเทศที่มีจำนวน UHNWI เพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ โดยตลาดที่มีบทบาทสำคัญ คือ ตลาดหุ้น เช่น CAC 40 หรือดัชนีราคาหุ้น 40 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฝรั่งเศสที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% ในปี 2564 ดัชนี S&P ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่า 25% ขณะที่ FTSE 250 ของอังกฤษเพิ่มขึ้นประมาณ 15%
Attitudes Survey ยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วสองในสามของความมั่งคั่งของ UHNWI อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนบ้านหลังหลักและบ้านหลังที่สองมีสัดส่วนไม่ถึงหนึ่งในสาม ที่เหลือเป็นการลงทุนทางตรงหรือโดยอ้อม เช่น การถือหน่วยลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Property)
โดยข้อมูลล่าสุดจากดัชนีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน MSCI แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนรวม 10% ในปี 2564 ขณะที่ดัชนี Macrobond FTSE EPRA/NAREIT World Equity REITs ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนผลการดำเนินงานของหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีผลตอบแทนถึง 33% ในปี 2564
- การเร่งตัว -
ในช่วงต้นๆ ที่เริ่มเกิดวิกฤต COVID-19 น้อยคนที่จะจินตนาการว่าโลกจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว V หรือฟื้นตัวแบบโลโก้ Nike Swoosh ที่เศรษฐกิจในหลายประเทศกลับมาสู่ภาวะก่อน COVID-19 ได้ในปลายปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นใน Attitudes Survey ที่ 83% ของผู้ตอบคาดว่าลูกค้าของพวกเขาจะรวยขึ้นในปี 2565
จากการคาดการณ์การขยายตัวของจำนวน UHNWI ในรอบ 5 ปี ระหว่างปี 2564-2569 ที่ประมวลผลโดย Knight Frank Wealth Sizing Model พบว่า จำนวน UHNWI ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 28% โดยหากนับจำนวนในรอบ 10 ปี จากปี 2559 ถึงปี 2569 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 348,355 คน เป็น 783,671 คน
ในปี 2569 เอเชียจะแซงหน้ายุโรปในฐานะศูนย์กลางความมั่งคั่งระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในปีนั้นคาดว่าสิงคโปร์จะมีจำนวน UHNWI ประมาณ 6,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 268% ส่วนอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วง 10 ปีจะอยู่ที่ Australasia โดยมีนิวซีแลนด์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวน UHNWI ในนิวซีแลนด์จะเพิ่มกว่า 3 เท่า จาก 1,249 คน เป็น 4,618 คน ในปี 2569
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวน UHNWI เพิ่มขึ้นทั่วโลกคือความสะดวกในการลงทุนและความรวดเร็วของนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างเศรษฐีหน้าใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวน UHNWI ในแอฟริกาที่ลดลงชี้ให้เห็นว่าการสร้างความมั่งคั่งในกลุ่ม UHNWI นั้นก็ไม่มีความเท่าเทียมเช่นกัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากต้นทุนพลังงานและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว
- อนาคตเป็นอย่างไร -
จากการประเมินจำนวน UHNWI ทั่วโลกที่เป็นคนรุ่นถัดไป UHNWI ที่สร้างเนื้อสร้างตัวเองและมีอายุน้อยกว่า 40 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 129,557 คน โดยจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวน UHNWI รวมทั่วโลก
จำนวนที่มากที่สุดอยู่ที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมี 44,751 คน โดยมีเอเชีย ตามหลังมาติดๆ ที่ 44,565 คน แต่เอเชียมีสัดส่วนสูงกว่าอเมริกาเหนือหรือคิดเป็น 26% ของจำนวน UHNWI ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย ส่วนรัสเซียมีสัดส่วนสูงที่สุดในโลก คิดเป็น 45% จากจำนวน 2,923 คน
ตัวเลขเหล่านี้มีนัยสำคัญ เพราะจาก Attitudes Survey ใน The Wealth Report 2021 ของปีที่แล้วพบว่า 70% ของ UHNWI ที่อายุน้อยกว่า 40 ปีมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่เมื่อพูดถึงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ในปีนี้ Flora Harley ตัดสินใจคำนวณตัวเลขเหล่านี้ออกมา
คนรุ่นนี้มีความเป็นสากลมากขึ้น เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น และให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นทั้งของตนเอง ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม โดยคนรุ่นใหม่มองว่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นคล้ายกับพอร์ตการลงทุน
อย่างเช่น ในสิงคโปร์ UHNWI รุ่นใหม่ที่คลั่งไคล้เทคโนโลยีต่างมองข้ามบ้านเดี่ยวระดับหรูที่สิงคโปร์เรียกว่า Good Class Bungalows ซึ่งเป็นสุดยอดอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์จากความเอกซ์คลูซีฟ เป็น Rare Item และเป็นที่รักษาความมั่งคั่งได้ในระยะยาว
โดย Nicholas Keong จาก Private Office ของ Knight Frank Singapore กล่าวว่า “บรรดา UHNWI รุ่นใหม่ในสิงคโปร์ต้องการความยืดหยุ่นในการสร้างบ้านของตัวเองให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตน โดยมักนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ การประหยัดพลังงาน และการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพทั้งทางดิจิทัลและทางกายภาพเข้ามาไว้ในบ้าน”
- ตลาดบ้านหรูยังร้อนแรง -
ตลาดที่อยู่อาศัยระดับหรูทั่วโลกร้อนแรงในปี 2564 Kate Everett-Allen หัวหน้าฝ่าย International Residential Research ของ Knight Frank วัดอุณหภูมิความร้อนแรงผ่าน Prime International Residential Index (PIRI 100) หรือดัชนีราคาที่อยู่อาศัยระดับหรูทั่วโลก ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาใน 100 เมืองสำคัญ
บ้านหรูกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับ UHNWI ในปี 2563 หลังจากตลาดที่อยู่อาศัยมีการหยุดซื้อขายเป็นเดือนๆ อยู่หลายครั้ง แต่ในปี 2564 ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากการกระจายการฉีดวัคซีน
ในปี 2564 มูลค่าของ PIRI 100 เพิ่มขึ้น 8.4% จากต่ำกว่า 2% ในปี 2563 และเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีเป็นครั้งแรกในปี 2551
จากการติดตามตลาดที่อยู่อาศัยระดับหรู 100 เมือง มีเพียง 7 เมืองเท่านั้นที่มีราคาลดลงในปี 2564 ในขณะที่ 35 เมืองมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของตลาดผู้ขายในช่วงการแพร่ระบาด
- อุณหภูมิร้อนแรง -
ที่ Dubai ไม่ใช่แค่อุณหภูมิเท่านั้นที่ร้อน แต่ราคาบ้านหรูในปี 2564 ยังร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิ โดยพุ่งขึ้นถึง 44.4% ส่งผลให้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีสภาพอากาศทะลุปรอทที่ 40 องศาเซลเซียสตลอดในช่วงหน้าร้อนก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งของการจัดอันดับ PIRI 100
ตามหลังมาติดๆ คือ Moscow ซึ่งมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 42.4% โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ โครงการเงินอุดหนุนการกู้ซื้อบ้านของรัสเซีย และการขยายตัวของราคาบ้านจากจำนวนซัปพลายที่มีจำกัด ส่วนอีก 3 อันดับถัดมา คือ San Diego (+28.3%) Miami (+28.2%) และ The Hamptons (+21.3%)
โดยภาพรวมแล้วทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคที่ท็อปฟอร์มที่สุด โดยมี 6 เมืองในภูมิภาคนี้ติด 10 อันดับแรก และมีราคาบ้านหรูเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 13% แม้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีราคาบ้านหรูเพิ่มขึ้น 7.5% จะแซงหน้าภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (+7.2%) แต่เป็นเพราะราคาบ้านหรูใน Australasia มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.3% โดยเมื่อนับเฉพาะเอเชียเพียงภูมิภาคเดียว ราคาบ้านหรูเพิ่มขึ้นเพียง 5.5% เท่านั้น
ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั่วโลก การฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ก็ห่างไกลจากคำว่าความเท่าเทียมเช่นเดียวกัน โดยราคาบ้านหรูในประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.9% สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.3% ในปี 2564
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นและการทำงานจากที่บ้านทำให้คนสามารถสะสมเงินออมได้มากขึ้น ซึ่งบางส่วนนำกลับมาลงทุนใหม่ในอสังหาริมทรัพย์
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา แต่ละบ้านสะสมเงินไว้ในช่วงการแพร่ระบาดรวมแล้วมีมูลค่าถึง 28 ล้านล้านเหรียญ จากข้อมูลของ Oxford Economics บริษัทวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจโลก
- เมืองใหญ่เปล่งประกาย -
แม้ว่าเมืองรีสอร์ตที่เป็นเมืองแดดตั้งแต่ Miami ไปจนถึง Gold Coast จะเปล่งประกายในปี 2564 ด้วยราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10.2% แต่เมืองใหญ่กลับเป็นตัวพลิกโฉมหน้าในปีที่แล้ว
ชานเมืองและเมืองรีสอร์ตดึงดูดผู้คนที่ต้องการพื้นที่โล่งๆ สำหรับใช้เวลาในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้เมืองใหญ่ถูกมองข้าม ในปี 2563 แต่เมืองใหญ่ก็กลับมาฟื้นตัวในปี 2564 โดยมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8.4% กลับกลายเป็นว่า COVID-19 ไม่ได้กระตุ้นให้คนบินออกจากเมืองใหญ่อันแสนวุ่นวายและพลุกพล่านอย่างที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้
แม้แต่เมืองสกีรีสอร์ตซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอากาศค่อนข้างหนาวจัดก็มีราคาปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.2% ในปี 2564 นำโดย 3 เมืองอันดับท็อป ได้แก่ Aspen, St. Moritz และ Verbier
จากวิลล่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศสไปจนถึงทาวน์เฮาส์ใน London และจาก Good Class Bungalows ในสิงคโปร์ไปจนถึงที่ดินแปลงใหญ่ริมน้ำใน Sydney การแย่งชิงพื้นที่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นยังคงดำเนินต่อไป โดยราคาบ้านเฉลี่ยในใจกลางกรุง London มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% ในปี 2564 ส่วนอะพาร์ตเมนต์เพิ่มขึ้นเพียง 0.5% อย่างไรก็ตามด้วยแรงกระตุ้นจากมูลค่า ยอดขายของอะพาร์ตเมนต์เริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การหาพื้นที่หายใจเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บ้านใหม่กำลังหดตัวลง ข้อมูลจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐ (The US Census Bureau) แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ส่วนกลางของอะพาร์ตเมนต์ลดลงเหลือน้อยกว่า 1,000 ตารางฟุตในปี 2564 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 2542
- แตะเบรก -
ด้วยราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดดุลที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลต่างๆ เริ่มเข้ามาแทรกแซงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของราคาบ้านในปี 2564
นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าการขยับครั้งนี้จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อราคาบ้านก็ตาม แต่ทุกสายตาจับจ้องไปที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งของธนาคารกลางสหรัฐในปี 2565 แม้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อทั่วโลก แต่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็อาจช่วยหนุนให้เงินสหรัฐไหลออกได้เช่นกัน
นอกเหนือจากการแทรกแซงของธนาคารกลางในแต่ละประเทศแล้ว ปี 2564 ยังเห็นการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแตะเบรกความร้อนแรงด้วยเช่นกัน
เรื่อง: บุญธร ศิริสวาสด์
อ่านเพิ่มเติม:
>> "5 หญิงแกร่ง" แห่งเอเชีย กับแนวทางสร้างสรรค์ธุรกิจและเทคโนโลยี
>> THE WORLD’S TOP 5 “LUXURY BRANDED RESIDENCES”
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Life (เล่มแถม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565)