การดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ หลายธุรกิจต่างมุ่งไปสู่การปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 และด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงทําให้เกิดคําถามว่า: จะกู้คืนจากการหยุดชะงักเกือบสามปีที่ส่งผลกระทบต่อเกือบทุกอุตสาหกรรม
ผู้หญิงเก่งและแกร่ง ทั้ง 5 คน จากรายชื่อนักธุรกิจหญิงที่มีอํานาจในเอเชียปี 2022 ได้คิดค้นกลยุทธ์ที่แตกต่างกันซึ่งช่วยให้ธุรกิจของพวกเขามีรายได้เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลกระทบ นอกจากนี้ พวกเขายังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี ยา และสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อมีส่วนช่วยให้ผู้คน สิ่งแวดล้อม และสังคมดียิ่งขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2019 ที่ Forbes ได้นำเสนอผู้หญิงเก่งที่โดดเด่นด้านการดำเนินธุรกิจมาอย่างหลากหลาย และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เราขอนำเสนอผู้หญิงเก่งรายใหม่ๆ พร้อมขยายเครือข่ายผู้นำหญิงของเราในภูมิภาคนี้ต่อไป ซึ่งแต่ละบุคคลที่ได้คัดเลือกมานำเสนอในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่ประสบความสําเร็จในบทบาทปัจจุบันในการดําเนินธุรกิจที่มีรายได้มหาศาลและแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นําที่แข็งแกร่งตลอดอาชีพการงานของพวกเขา
วัลลยา จิราธิวัฒน์
กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัลพัฒนา
อายุ : 60 • ไทย
วัลลยา จิราธิวัฒน์ ซีอีโอหญิงคนแรกของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ขยับจากตำแหน่งรองประธานขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อต้นปี เธอมีประสบการณ์ที่แข็งแกร่งด้านธุรกิจค้าปลีกมาอย่างยาวนานต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2005 เห็นได้จากตัวเลขช่วงครึ่งปีแรกปีนี้เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 1.79 หมื่นล้านบาท
นอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น วัลลยา ยังวางแผนที่จะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เธอจัดสรรเงินจํานวน 2 แสนล้านบาท (5.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อขยายฐานธุรกิจภายในประเทศและทั่วโลกอย่างมีนัยสําคัญ โดยตั้งเป้าเพิ่มจํานวนศูนย์การค้าให้เป็น 50 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มโรงแรมอีก 34 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 3 แห่งในปัจจุบัน
เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ในปีนี้เซ็นทรัลพัฒนาได้ออกหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ซึ่งเป็นหุ้นกู้แห่งแรกในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกของประเทศไทย จนถึงขณะนี้มีการระดมทุนแล้วประมาณ 2 พันล้านบาทและจะนําเข้าสู่การจัดการน้ำเสียพลังงานหมุนเวียนและโครงการสีเขียวอื่น ๆ วัลลยาสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส (UCLA) และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ด
สินีนุช โกกนุทาภรณ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด
อายุ : 48 • ไทย
สินีนุช คือ ผู้หญิงคนแรกที่นำพาธุรกิจการเกษตรของครอบครัวอย่าง บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (TEGH) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสามารถระดมทุนได้ 1.3 พันล้านบาท (33.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เธอมีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตยางแท่งติดอันดับ Top 5 ของประเทศในปีหน้า ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นกว่าร้อยละ 45 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์และความต้องการยางพาราทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42 คิดเป็นมูลค่า 367 ล้านบาท
แต่ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุดในปัจจุบัน สินีนุชจึงผลักดันโครงการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ TEGH นับตั้งแต่ 7 ปีก่อน โดยเธอริเริ่มการนำขยะหรือของเสียจากการผลิตยางของ TEGH มาเปลี่ยนให้เป็นก๊าซชีวภาพเพื่อนำกลับมาใช้เป็นพลังงานทดแทนสำหรับการผลิตยางของบริษัท นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มอีกสามเท่าเป็น 67 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2025
"จุดที่ลูกค้าชอบคือเราใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตของ เรามีข้อได้เปรียบเหนือเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม" สินีนุชกล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อต้นปีนี้กับทาง Forbes Thailand ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์อนุญาตจากทาง Forbes Media
สินีนุชสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก เธอดูแล TEGH ร่วมกับพี่ชายทั้งสาม - พี่ชายคนโต เฉลิม มีตำแหน่งเป็น CEO ในขณะที่น้องชาย ก้องกิต และ เกริกกุล เป็นคณะกรรมการ ส่วนเธอหลังจากดํารงตําแหน่งด้านการเงินและการตลาดของบริษัทจึงได้ขึ้นดํารงตําแหน่งกรรมการผู้จัดการนับตั้งแต่ปี 2017
Ghazal Alagh
ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม Honasa Consumer
อายุ : 34 • อินเดีย
บริษัทของ Alagh เป็นผู้ผลิตสินค้า House brand ที่เน้นผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล โดยมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Mamaearth, The Derma Co., Aqualogica และ Ayuga ได้กลายมาเป็นยูนิคอร์น หรือ ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังปิดรอบการระดมทุน 52 ล้านเหรียญฯ ที่นําโดย บริษัทร่วมทุน Sequoia Capital India ซึ่งมีมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญฯ เธอร่วมก่อตั้งบริษัทในเมือง Gurgaon กับ Varun สามีของเธอ ซึ่งเป็นซีอีโอในปี 2016
ธุรกิจต่างๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Alagh มองหาสินค้าทางเลือกที่ปราศจากสารเคมีให้เหมาะสมกับสภาพผิวของลูกชายวัยทารก "เราไม่พบตัวเลือกที่หาได้ง่ายในอินเดีย" เธอบอกเล่าเรื่องราวผ่านทางอีเมล และเมื่อเห็นช่องว่าง "เราจึงตัดสินใจสร้าง Mamaearth และลงทุนในผลิตภัณฑ์ดูแลทารกที่ "ปราศจากสารพิษ"
บริษัทที่เริ่มเปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์จำนวนเจ็ดรายการอย่างแชมพูสระผมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ สำหรับเด็กทารกได้ขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาทางบริษัทยังได้ซื้อหุ้นในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นเนื้อหาสำหรับผู้หญิงเป็นหลัก อาทิ Momspresso, salonbusiness BBLUNT และ Dr. Sheth
รายได้ของบริษัท Honasa Consumer เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าสําหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2022 โดยสูงถึงเกือบ 10 พันล้านรูปี (121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จากยอดขายออนไลน์และออฟไลน์ผ่านร้านค้า โดย Honasa ทำธุรกิจที่เน้นการผสมผสานระหว่างความ "ซื่อสัตย์" "เป็นธรรมชาติ" และความ "ปลอดภัย" นอกจากนี้ ยังทำกําไรครั้งแรกที่ 250 ล้านรูปีในปีงบประมาณ 2021 และคาดว่าจะทํากําไรในปีนี้ได้เช่นกัน
Choi Soo-yeon
ซีอีโอ, บริษัท Naver เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้
อายุ : 41 • เกาหลีใต้
Choi ได้รับการแต่งตั้งในเดือนมีนาคมให้ดํารงตําแหน่งสูงสุดของบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ (มูลค่าตามราคาตลาด) และยังถือเป็น “แชบ็อล” กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อันดับห้าของประเทศรองจาก Samsung, SK, Hyundai และ LG โดยเธอได้กุมบังเหียนธุรกิจต่อจาก Han Seong Sook วัย 55 ปี ที่เป็นผู้นําหญิงคนแรกของ Naver
Choi ซึ่งเคยเป็นผู้นําหลักในการสนับสนุนธุรกิจทั่วโลกของ Naver ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจนอกเอเชียซึ่งดําเนินการโดยโปรแกรม search engine เครื่องมือค้นหาที่โดดเด่นของเกาหลีใต้ (มีผู้ใช้มากกว่า 30 ล้านคนต่อวันหรือเกือบร้อยละ 60 ของประชากรในประเทศ) และ Line หนึ่งในแอปพลิเคชั่นส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียซึ่งดําเนินการร่วมกับ SoftBank ในการตัดสินใจครั้งสําคัญครั้งแรกของ Choi ในฐานะซีอีโอ Naver ที่เพิ่งประกาศในเดือนตุลาคมว่ากําลังเข้าซื้อ Poshmark ตลาดเสื้อผ้ามือสองในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ใช้ลงทะเบียนมากกว่า 80 ล้านคน ในข้อตกลงมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญฯ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะถือเป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของ Naver โดยผสมผสานบริการช้อปปิ้งเข้ากับเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซของบริษัท
ซีอีโอรุ่นมิลลิเนียลหรือ Gen Y คนนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจน โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งเดือนในเดือนเมษายนเธอได้ตั้งเป้าหมายรายได้ต่อปีให้เพิ่มขึ้นอีกสองเท่าเป็น 15 ล้านล้านวอน (ประมาณ 12 พันล้านเหรียญฯ) และภายในห้าปี "พอร์ตโฟลิโอธุรกิจของ Naver ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นผู้นําด้านเทคโนโลยีประกอบกับความร่วมมือที่แข็งแกร่งในประเทศและต่างประเทศจะช่วยส่งเสริทให้เราเติบโตเพิ่มขึ้นได้หลายเท่า"
Choi ยังเปิดเผยถึงตัวเลขไตรมาสสองของปีนี้ Naver มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นมูลค่าอยู่ที่ 2 ล้านล้านวอน และยังมีการเติบโตกว่าร้อยละ 136 ในธุรกิจเว็บการ์ตูน ขณะที่ยอดขายของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เป็น 6.8 ล้านล้านวอน
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มแพลตฟอร์มเว็บตูน ทาง Naver ยังกล่าวด้วยว่า บริษัทจะยังคงเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเช่นการซื้อ Wattpad แพลตฟอร์มนวนิยายทางอินเทอร์เน็ตในโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่มีมูลค่า 600 ล้านเหรียญฯ ในปี 2021 และบริษัทยังวางแผนที่จะขยายแพลตฟอร์ม metaverse Zepeto ไปทั่วโลกและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่นเกมออนไลน์และเทคโนโลยีการจำลองโลกเสมือนจริง
Choi สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายจาก Harvard Law School และมหาวิทยาลัยยอนเซในกรุงโซล หลังจากนั้นเป็นทนายความที่ Yulchon ซึ่งเป็นหนึ่งใน บริษัทกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับ Naver ในปี 2019
แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกที่จู่ๆ ทนายความจะกลายมาเป็นซีอีโอของบริษัท เทคโนโลยีรายใหญ่ของเกาหลีใต้ แต่ทั้งนี้ Choi ก็ถือเป็นทนายความคนที่สองที่เข้ามาดูแล Naver ต่อจาก Kim Sang-hun อดีตผู้พิพากษาซึ่งดำรงตำแหน่ง CEO คนก่อนหน้า Han Seong Sook ที่ Choi ได้เข้ามารับไม้ต่อ สำหรับอาชีพการงานของ Choi ก่อนหน้านี้ เธอได้ทํางานด้านการสื่อสารและการตลาดที่ NHN ซึ่งแบ่งออกเป็นสองบริษัท ได้แก่ Naver และผู้ผลิตเกมออนไลน์ NHN Entertainment ในปี 2013
Mutiara
ประธานกรรมการ, บริษัท Murni Sadar
อายุ : 64 • อินโดนีเซีย
การสูญเสียทั้งพ่อแม่ในปี 2004 ด้วยโรคมะเร็งปอดเป็นการผลักดันให้ Mutiara กลายมาเป็นผู้ประกอบการด้านการแพทย์ในปัจจุบัน " ก่อนที่พ่อแม่จะเสียชีวิต ฉันรู้สึกท้อมากจากการพาพวกเขาไปทั่วโลกเพื่อหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดเป็นเวลาถึงสองปี แล้วฉันก็ค้นพบได้ว่าโรงพยาบาลรักษามะเร็งในอินโดนีเซียมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยที่ไม่ต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศ" Mutiara เล่าผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมาจากสํานักงานของเธอที่โรงพยาบาล Murni Teguh Sudirman Jakarta
Mutiara เริ่มต้นอาชีพในฐานะหัวหน้าแพทย์ของศูนย์สุขภาพชุมชนของรัฐในสุมาตราเหนือเมื่อปี 1987 ก่อนที่จะเข้าร่วมโรงพยาบาลสาธารณะ Pematang Siantar ในฐานะแพทย์ทั่วไปในปี 2000 สิบปีต่อมาเธอได้ร่วมก่อตั้ง Murni Sadar ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลหกแห่งโดยมีเป้าหมายเพื่อเสนอการรักษาเฉพาะทางสําหรับโรคมะเร็งและโรคหัวใจ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ Ganda พี่ชายของเธอ, Bertha และ Thio Ida น้องสาว รวมทั้ง Jacqueline Sitorus หลานสาว ซึ่งตามข้อมูลหนังสือชี้ชวน IPO ของบริษัท Jacqueline เป็นลูกสาวของน้องชายของ Mutiara ซึ่งก็คือ Martua Sitorus มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียที่ดำเนินธุรกิจ น้ำมันปาล์ม อสังหาริมทรัพย์และการผลิตปูนซีเมนต์
“ในฐานะแพทย์ฉันรู้สึกพอใจถ้าต้องรักษาผู้ป่วยเพียงวันละหนึ่งคน แต่ในฐานะเจ้าของโรงพยาบาลที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้มากถึง 500 หรือ 1,000 คนต่อวัน ถือเป็นสิ่งที่ดีกว่ามากๆ" เธอกล่าว
Murni Sadar ซึ่งตั้งชื่อตามแม่และพ่อของ Mutiara อีกทั้ง Murni Teguh และ Sadar ยังคงเป็นองค์กรครอบครัว โดยสามีของ Mutiara, Tjhin Ten Chun เป็นประธานกรรมาธิการของ Murni Sadar ในขณะที่ลูกชาย Clement Zichri Ang และ Felix Vincent Ang เป็นกรรมการ ส่วนลูกสาว Sharon Hanmy Angle เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาล Murni Teguh Memorial ซึ่งถือเป็นเรือธงของบริษัทในเมือง Medan ที่เกาะสุมาตราเหนือ
หลังเปิดให้บริการในปี 2012 โรงพยาบาลทั่วไป Medan ยังมีศูนย์มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือดที่ช่วยสนับสนุนเครือข่ายและการเติบโตอย่างรวดเร็ว Murni Sadar ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและระดมทุนได้ 325 พันล้านรูเปียห์ (21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) Mutiara และครอบครัวยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.7 ล้านล้านรูเปียห์ ณ กลางเดือนตุลาคม
แม้ผู้ป่วยโควิด-19 จะลดลงในอินโดนีเซียแต่ Mutiara กล่าวว่าผู้ป่วยที่มีศักยภาพยังคงกลัวการติดเชื้อในโรงพยาบาล ส่งผลให้รายได้ของ Murni Sadar ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2022 ลดลงเกือบร้อยละ 24 คิดเป็นมูลค่า 600 พันล้านรูเปียห์จากปีที่แล้ว และจากการเปิดตัวโรงพยาบาลแห่งใหม่ Mutiara คาดว่ารายได้ทั้งปีของ Murni Sadar จะสูงถึง 858 พันล้านรูเปียห์ ลดลงร้อยละ 13 จากปี 2021 หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2023
Mutiara เชื่อว่ากุญแจสู่ความสําเร็จของเธอคือความหิวกระหายด้านการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด เธอสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยคริสเตียนแห่งอินโดนีเซียของจาการ์ตา จากนั้นสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเวชศาสตร์เขตร้อนและปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยสุมาตราเหนือ
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Asia Power BusinessWomen 2022 เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
- จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ปั้นหมู่บ้านท่องเที่ยวด้วย "ทุนทางสังคม"
- ผู้บริหารผู้รักการอ่าน: ณัชชา กิจจริยภูมิ แนะนำหนังสือ 5 เล่มประจำปี 2565
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine