"เทรนด์สุขภาพ" ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่หลังก้าวผ่านโควิด-19 - Forbes Thailand

"เทรนด์สุขภาพ" ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่หลังก้าวผ่านโควิด-19

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Dec 2023 | 09:00 AM
READ 5911

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง โดยเฉพาะเทรนด์ด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมการป้องกันและปรับวิถีชีวิตประจำวันให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมในหลายมิติ รวมถึงการมีความเป็นอยู่ที่ดี


    จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ Global Wellness Institute (GWI) องค์กรด้านการวิจัยและศึกษาอุตสาหกรรม Wellness คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรม Wellness ทั่วโลก (Global Wellness Economy) จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 เป็นราว 7 ล้านล้านเหรียญในปี 2568 ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ด้วยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจาก 2 เรื่องหลักสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาใส่ใจและรักสุขภาพมากขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันตนเองไว้ก่อนที่จะเกิดโรคเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการมีสุขภาพไม่แข็งแรงนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยังค่อนข้างสูงอีกด้วย



    ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีรายงานจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ว่าสาเหตุการตายของประชากรบนโลกเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable Diseases) เช่น โรคหัวใจ ไขมัน เบาหวาน มากถึง 74% ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย หรือการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์

    ผลสำรวจจาก McKinsey บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ของโลกระบุว่า คนทั่วโลกยินดีใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ทำให้ตนเองมีสุภาพดีขึ้น โดยสิ่งที่ผู้บริโภคเน้นคือการตรวจสุขภาพบ่อยขึ้น การเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย การเพิ่มสารอาหารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุขภาพของแต่ละคน ความสวยความงาม การนอนที่ดีขึ้น และการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งปัจจัยในด้านการใช้จ่ายเงินเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาด Wellness ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตปีละ 5-10%


11 Wellness Sectors

    มูลค่าอุตสาหกรรม Wellness ราว 7 ล้านล้านเหรียญที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้านับเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าไปชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้ โดยในอุตสาหกรรม Wellness มีหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการบริการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีสินค้าและบริการที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนและในขณะนอนหลับด้วยธุรกิจ Wellness สามารถแยกออกมาได้ 11 กลุ่ม ดังนี้

1. Personal Care & Beauty การดูแลสุขภาพและความงามส่วนบุคคล เป็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้านสุขอนามัย ซึ่งครอบคลุมการดูแลร่างกาย ใบหน้า ผิวหนัง ผม และเล็บ 

2. Healthy Eating, Nutrition & Weight Loss การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ มีโภชนาการดี และการลดน้ำหนัก ซึ่งมีอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภทที่ทำการตลาดและติดฉลากว่าเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนวิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก

3. Physical Activity กิจกรรมทางกายภาพต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เดินเล่น เป็นต้น

4. Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่มหรือปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีให้ดียิ่งขึ้นในทริปนั้นๆ

5. Traditional & Complementary Medicine การแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก เช่น การแพทย์แผนจีนและอายุรเวท

6. Public Health, Prevention & Personalized Medicine หรือการสาธารณสุข การแพทย์เชิงป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล ซึ่งครอบคลุมบริการทางการแพทย์ การป้องกันโรค การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจวินิจฉัย และการตรวจคัดกรอง

7. Wellness Real Estate หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ เป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม และศูนย์การค้า โดยคำนึงถึงองค์ประกอบด้านสุขภาพ นำมารวมไว้ในการออกแบบ การใช้วัสดุ และการก่อสร้าง

8. Mental Wellness การส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตนเอง การทำสมาธิ การเจริญสติ อาหารเสริมบำรุงสมองและประสาทสัมผัส ไปจนถึงการนอนหลับ

9. Spas สปาที่ส่งเสริมสุขภาพ

10. Workplace Wellness หรือการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ กิจกรรม และบริการต่างๆ ซึ่งเป็นการลงทุนของนายจ้างเพื่อส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน 

11. Thermal/Mineral Springs บ่อน้ำแร่หรือน้ำพุร้อน เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จากการให้บริการบ่อน้ำแร่หรือน้ำพุร้อนเพื่อส่งเสริมสุขภาพและเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดคฤหาสน์หรู 9 มหาเศรษฐีระดับโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine